HIGHLIGHT CONTENT

ที่มาของประโยค “ ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน ”

  • 68,640
  • 16 ต.ค. 2017

 

ที่มาของประโยคที่ว่า “ ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน ” 

หนึ่งบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนไทยถูกเล่าบอกต่อมานานถึง 70 ปี  นับเนื่องแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   คือประโยคที่ว่า       

“ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน”  ... และพระองค์ได้ทรงตอบว่า  "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" 

 

 

   “ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” เป็นข้อความในพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชนิพนธ์ในรูปแบบบันทึกประจำวันตั้งแต่เสด็จจากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ก่อนเสด็จออกเดินทาง ๓ วัน จนถึงวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ยามจากเมืองไทยด้วยความรักและห่วงใยพสกนิกร และยังได้ทรงบรรยายถึงการเดินทาง โดยจบลงด้วยหน้าที่ที่จะต้องทรงกระทำเพื่อบ้านเมืองต่อไป

 

       วันที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙..."วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว" พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง

       แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี

     บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย

     อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน

     ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสีย มีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

 

     พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก

 

      ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่า ล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด

ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า....

 

"ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน"

อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า

"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"

 

       เสียงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ท่านทรงนึกถึงประชาชนอยู่ตลอดเวลา จึงได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะได้นำความรู้ ความสามารถ พัฒนาประเทศ กลับมาดูแลประชาชนของพระองค์ และพระองค์ทรงกลับมา...กลับมาทำสิ่งเหล่านี้...ให้ประชาชนของพระองค์

 

      เป็นที่น่าประหลาดว่า   ต่อมาอีกประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้นเป็น "พลทหาร"   และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด

     เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฏร เขาทูลว่าตอนที่เขาร้องไปนั้น...เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก....

     เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า...

 

      "ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน"

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า "เราน่ะรึที่ร้อง"

       "ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า"

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"

 

ขอขอบคุณ: http://www.tnews.co.th

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง