HIGHLIGHT CONTENT

Gran Turismo และความปรารถนาขั้นสูงสุดของผู้กำกับ นีลล์ บลอมแคมป์

  • 679
  • 09 ส.ค. 2023

Gran Turismo และความปรารถนาขั้นสูงสุดของผู้กำกับ นีลล์ บลอมแคมป์

 

 

จากสนามแข่งสู่จอเงิน

 

“GRAN TURISMO แกร่งทะลุไมล์เป็นหนังที่เป็นการเติมเต็มความปรารถนาขั้นสูงสุดครับ” นีลล์ บลอมแคมป์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สร้างจากเรื่องจริงของยานน์ มาร์เด็นเบอระ หนึ่งในผู้ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นนักแข่งรถได้อย่างเหลือเชื่อที่สุดตลอดกาล กล่าว “คุณอาจมีเวลาในการตอบสนองที่ดีที่สุด มีทักษะสารพัดอย่าง แต่เมื่อคุณเหยียบคันเร่งจนมิดด้วยความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมง ตอนนั้นเองที่คุณจะมีโอกาสได้พิสูจน์ว่าคุณเป็นของจริง และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับยานน์ มาร์เด็นเบอระครับ”

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มาร์เด็นเบอระเป็นแฟนกีฬาแข่งรถมาโดยตลอด ในฐานะเด็กจากครอบครัวชนชั้นแรงงงาน เขาคลั่งไคล้การเล่นเกม Gran Turismo เพื่อที่จะได้สัมผัสกับความตื่นเต้นของการแข่งรถ แต่ก็จินตนาการว่าเขาคงไม่มีวันได้สัมผัสถึงความลุ้นระทึกของการได้ย่างเท้าลงบนรถสมรรถนะสูงจริงๆ...จนกระทั่งเขาได้ลงแข่งในการแข่งขัน Gran Turismo และชิงชัยกับคู่แข่งขันที่เก่งกาจที่สุด เพื่อไขว่คว้าโอกาสในการได้เป็นหนึ่งในทีมแข่งรถจีที อคาเดมีของนิสสัน เด็กอังกฤษธรรมดาๆ คนนี้ได้รับเลือกจากบรรดาคู่แข่งหลายพันคนโดยผู้บริหารฝ่ายการตลาดโลกสวย เขาถูกจับมาอยู่ภายใต้การฝึกสอนของอดีตนักแข่งตกอับช่างประชดประชัน และได้ควบคุมหนึ่งในเครื่องยนต์ที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยคิดประดิษฐ์ขึ้นมา โดยเขาได้ลงแข่งให้กับนิสสันด้วยรถสมรรถนะสูงของพวกเขาในการแข่งขันที่โด่งดังมากมาย อาทิ การแข่งขัน 24 ชั่วโมง เลอม็อง

 

 

GRAN TURISMO แกร่งทะลุไมล์ ซึ่งเล่าเรื่องราวการที่มาร์เด็นเบอระกลายมาเป็นนักแข่งในชีวิตจริง เป็นภาพยนตร์ที่ซีเนมาเบลนด์เรียกว่า “Rocky แบบมีรถแข่ง” เป็นเรื่องราวกีฬาคลาสสิกของผู้มีแต้มด้อยกว่า ตามแบบอย่างของ Seabiscuit, Hoosiers และ Remember the Titans

บลอมแคมป์กล่าวว่า ยานน์เป็นตัวละครที่น่าติดตามเพราะเรื่องราวในชีวิตจริงของเขาเต็มไปด้วยความฝันเหลือเชื่อที่กลายเป็นจริงหลายต่อหลายครั้ง “ตอนที่ผมได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันสร้างขึ้นจากชีวิตจริงของยานน์ มาร์เด็นเบอระ” เขากล่าว “เหตุการณ์ในหนังแทบจะเป็นเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ เลยล่ะครับ”

“มีคุณสมบัติทุกอย่างของเรื่องราวกีฬาเยี่ยมๆ เกี่ยวกับคนที่เป็นพวกรองบ่อนครับ” ผู้อำนวยการสร้างดั๊ก เบลเกรดกล่าว “ยานน์มีความฝันแต่เขาถูกทุกคนดูถูก โดยเฉพาะคนแวดวงแข่งรถ ที่บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้”

 “การดัดแปลงเรื่องนี้ให้เป็นหนังไม่ได้มีแนวทางเดียวครับ” อาซัด คิซิลบาช หัวหน้าเพลย์สเตชัน โปรดักชันส์และผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าว “Uncharted, ซีรีส์ ‘The Last of Us’ และ GRAN TURISMO แกร่งทะลุไมล์ มีแนวทางนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกเรื่องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนถึงรักเกมนี้’ สำหรับเกม ‘Gran Turismo’ ผมคิดว่ามันเป็นเพราะพวกเราส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสได้ย่างเท้าเข้าไปในรถแข่งหรือเข้าโค้งชิคเคนในการแข่งเลอม็อง แต่เกมนี้จะทำให้คุณได้นั่งอยู่บนเก้าอี้คนขับ นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอออกมาในหนังเรื่องนี้ และหนังเรื่องนี้ก็ทำได้ในสองรูปแบบ แบบแรกคือยานน์ มาร์เด็นเบอระสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนมีโอกาสได้สัมผัสความรู้สึกนั้นในชีวิตจริง และในการเล่าเรื่องราวนี้ นีลล์ บลอมแคมป์ก็ได้สร้างหนังแข่งรถที่สมจริงที่สุดและลุ้นระทึกที่สุดเท่าที่ผมจะจินตนาการได้ขึ้นมาครับ”

 

 

เช่นเดียวกับวัยรุ่นมากมาย ยานน์ดูเหมือนจะสนใจเล่นเกมมากกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวให้ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเขามีโอกาสได้เล่นของจริง “ยานน์กำลังเล่นเกม ‘Gran Turismo’ ในบ้านของพ่อแม่เขาตอนที่จู่ๆ เขาก็ได้เห็นตัวเลือกสำหรับจีที อคาเดมีขึ้นมา” บลอมแคมป์อธิบาย “ตอนนั้นเองเขาถึงได้เรียนรู้วิธีการขับรถที่ดี วิธีการเข้าโค้งให้ชิดเส้นมากที่สุดและวิธีการออกจากหัวโค้ง ทุกสิ่งที่เขาทำในเกมตามสัญชาตญาณแต่ไม่เคยมีใครสอนเขาน่ะครับ”

ในมือของบลอมแคมป์ GRAN TURISMO แกร่งทะลุไมล์ เป็นภาพยนตร์ที่พาผู้ชมไปนั่งอยู่บนเก้าอี้คนขับและปล่อยให้พวกเขาจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรหากพวกเขาได้นั่งอยู่บนยานอวกาศที่มีความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมงเป็นครั้งแรก “ผมรู้ว่านีลล์จะนำความรู้สึกที่น่าตื่นเต้น เลือดสูบฉีดพลุ่งพล่านมาสู่หนังเรื่องนี้ได้” เดวิด ฮาร์เบอร์ ผู้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ในบท แจ็ค นักแข่งตกอับที่กลายเป็นหัวหน้าวิศวกรของยานน์และสอนเขาถึงกลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ในการเป็นนักแข่งจริงๆ กล่าว “สิ่งที่ผมไม่รู้เลยคือเราจะทำงานกับรถจริงๆ นักแข่งจริงๆ และสนามจริงๆ ได้ยังไง เราอยู่ในรถ เราเปลี่ยนยาง ปรับแต่งเครื่องยนต์รถแบบเรียลไทม์พร้อมกับนักแข่งอื่นๆ ที่วิ่งไปตามสนามด้วยความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมง เป็นตัวผมจริงๆ ที่นั่งอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ ที่บินอยู่เหนือบรรดารถแข่งสูงขึ้นไป 30 ฟุต ทุกอย่างเสริมสร้างความเข้มข้นของประสบการณ์นี้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างหนังเกี่ยวกับคนที่มีประสบการณ์สุดเข้มข้นและยอมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อสิ่งที่พวกเขารัก”

นักแสดงหนุ่มกล่าวว่า ตอนแรก เขารู้สึกเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมซิมูเลเตอร์รถแข่งเพราะสำหรับเขาแล้ว ภาพยนตร์ไม่เหมือนกับวิดีโอเกม “คุณอยากจะเล่นเกม อยากจะควบคุมตัวละคร” ฮาร์เบอร์กล่าว “สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบจริงๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือมันไม่ได้เป็นหนังเกี่ยวกับวิดีโอเกม แต่มันเป็นหนังที่รวมเอาวิดีโอเกมเข้าไปในการเล่าเรื่องด้วย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กหนุ่มมากพรสวรรค์ ผู้ทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ และเกี่ยวกับโค้ชที่ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมายและแข็งแกร่งขึ้น แต่เขาก็เชื่อในเด็กคนนี้ครับ”

 

 

ผู้ที่แสดงประกบมาเด็คเวและฮาร์เบอร์คือออร์แลนโด้ บลูมในบทแดนนี่ มัวร์ ผู้บริหารการตลาดโลกสวยของนิสสัน ผู้เกิดไอเดียบรรเจิดในการให้นักเล่นเกมคอนโซลมานั่งอยู่ในเครื่องยนต์ที่เดินทางด้วยความเร็วแบบท้ามฤตยู “เขาเต็มไปด้วยหัวใจและความคลั่งไคล้ครับ” บลูมกล่าว “เขาถูกขับเคลื่อนด้วยความฝันที่ไกลเกินเอื้อม ในการนำนักแข่งรถซิมูเลเตอร์ไปขับรถจริงๆ และลงแข่งในสนามน่ะครับ”

เส้นทางสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้ของบลอมแคมป์เกิดจากความรักยาวนานที่เขามีต่อรถยนต์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์ วิศวกรรม ศิลปะและการออกแบบ ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นไปได้อันน่าตื่นเต้นในการได้นำเสนอว่ารถพวกนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง “กับหนังแบบนี้ บางครั้งเราก็จะรู้สึกถูกล่อลวงให้ใช้ภาพดิจิตอลทั้งหมด แค่ถ่ายทำเพลทแบ็คกราวน์ ใช้รถดิจิตอล ให้นักแสดงแสดงจากสภาพแวดล้อมเสมือนจริง แต่ในกรณีนี้ ทุกอย่างเป็นของจริง ผมหมายถึงทุกอย่างจริงๆ ในตอนที่เรานำเสนอภาพนักแสดงขับรถ พวกเขากำลังตะลุยไปตามสนามแข่งด้วยความเร็วที่ใกล้เคียงกับความเร็วที่พวกเขาควรจะใช้จริงๆ น่ะครับ”

ผู้อำนวยการสร้างคาร์เตอร์ สวอนกล่าวว่า ในตอนที่มีการเสนอชื่อบลอมแคมป์ครั้งแรก เขาก็นึกถึงภาพยนตร์ไซไฟที่ขับเคลื่อนด้วยวิชวล เอฟเฟ็กต์ของผู้กำกับคนนี้เป็นอันดับแรก บลอมแคมป์จะสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้รึเปล่านะ “ตอนที่ผมได้รู้ถึงความคลั่งไคล้ที่เขามีให้กับรถยนต์และโลกรถยนต์และรู้ว่าเขาต้องการจะสร้างมันให้สมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นก็คือสิ่งที่เรานึกภาพเอาไว้สำหรับหนังเรื่องนี้มาโดยตลอดครับ” เขากล่าว “ด้วยความที่นี่เป็นเรื่องจริง เราก็เลยอยากจะรักษาความสมจริงของมันเอาไว้ครับ”

 

 

ส่วนหนึ่งของการสร้างมันขึ้นมาจริงๆ คือการนำรถจริงๆ มาถ่ายทำในสนามจริงๆ ซึ่งรวมถึงสนามสโลวาเกีย ริงในสโลวาเกีย สนามดูไบ ออโต้โดรม สนามเนอร์เบอร์กริงก์ สนามเรด บุลล์ ริงในออสเตรียและฮังการอริง ซึ่งสนามแห่งหลังสุดนี้ถูกใช้สำหรับทั้งการแข่งขันจีที อคาเดมี (ซึ่งมีเค้าโครงจากซิลเวอร์สโตน สนามแข่งรถในอังกฤษ) และเลอม็องด้วย

แต่เพียงแค่การมีรถที่เหมาะสมและสนามแข่งจริงๆ ก็ยังไม่เพียงพอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังจะต้องมีลุคและความรู้สึกจริงๆ ด้วย บลอมแคมป์กล่าวว่า การทำเช่นนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบด้านภาพวิชวลสองสิ่ง “องค์ประกอบหนึ่งคือเรื่องทางประสบการณ์ คุณจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้นจริงๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ได้ยังไงครับ” สิ่งนี้สำเร็จลงได้ด้วยการตัดสินใจเลือกกล้อง ยกตัวอย่างเช่น ในการบันทึกภาพการแข่งรถจริงๆ สำหรับโทรทัศน์ ทีมงานมักจะใช้โดรนภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ได้ภาพมุมกว้างที่งดงาม และบลอมแคมป์ก็ทำแบบนี้ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น บลอมแคมป์ยังใช้โดรนแบบบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งนักแข่งโดรนมักจะใช้กัน เพื่อติดตามรถแข่งและนำเสนอมุมมองที่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน

บลอมแคมป์เป็นหนึ่งในผู้กำกับคนแรกๆ ที่ใช้กล้องโซนี เวนิส 2 กับส่วนขยายเรียลโต้ ด้วยความที่เรียลโต้ทำให้ทีมผู้สร้างสามารถแยกตัวเซ็นเซอร์จากตัวกล้องได้ บลอมแคมป์จึงสามารถใส่กล้องของเขาเข้าไปในสถานที่เล็กๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งภายในและภายนอกของรถได้ “รถแข่งโปรโตไทป์เป็นค็อกพิตของเอฟ 16 ครับ” บลอมแคมป์กล่าว “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใส่เซ็นเซอร์ 6K หรือ 8K ระดับถ่ายหนังเข้าไปในค็อกพิตนั้น ให้มันอยู่กับนักแสดงโดยไม่ต้องถ่ายทำผ่านกระจกโพลาไรซ์ ยกเว้นแต่เราจะใช้เรียลโต้ ถ้าคุณอยากได้ภาพใกล้ๆ อยากจะเปลี่ยนการออกแบบเสียง อยากจะอยู่ในค็อกพิตและอยากจะอยู่ในรถจริงๆ ไม่มีทางอื่นเลยครับ”

 

 

วิธีที่สองที่บลอมแคมป์ใช้ในการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกสมจริงคือการใช้แสง การถ่ายทำและการออกแบบงานสร้าง “ถ้าคุณกดหยุดหนังและดูที่เฟรมๆ หนึ่ง มันไม่ควรจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้น หรือมีการให้แสงที่เกินจำเป็น มีแสงที่อิ่มตัวเกินหรือดูเสแสร้งน่ะครับ ทุกอย่างมีรากฐานจากความเป็นจริง การออกแบบงานสร้างเป็นของจริง สไตล์การถ่ายทำเป็นของจริง และการตัดสินใจเรื่องสีก็เป็นของจริงครับ” เขากล่าว “ถ้าเราสร้างสารคดีเกี่ยวกับการแข่งรถ และองค์ประกอบทั้งหมดนี้อยู่ตรงนั้น นี่คือวิธีที่เราจะถ่ายทำครับ”

 และในที่นั่งคนขับ บลอมแคมป์มีอาวุธลับอีกอย่างหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของยานน์ มาร์เด็นเบอระตอนที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งอาวุธลับที่ว่าก็คือตัวยานน์ มาร์เด็นเบอระเอง ผู้ทำหน้าที่เป็นนักขับรถสตันท์ของเรื่องสำหรับตัวละครยานน์เอง “เรื่องราวนี้สร้างขึ้นจากเรื่องของเขา อาร์ชี่รับบทเป็นตัวเขาและเขาก็เป็นนักขับรถสตันท์ที่ขับรถของอาร์ชี่ในฐานะตัวละครที่สร้างขึ้นจากตัวเขาน่ะครับ” บลอมแคมป์กล่าว “มันน่าทึ่งมาก เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นครับ”

“มันเซอร์เรียลมากๆ” มาร์เด็นเบอระกล่าว “ครั้งล่าสุดที่ผมไปฮังการี สนามเต็มไปด้วยรถบรรทุกสำหรับการแข่งขัน แต่ครั้งนี้ มันเต็มไปด้วยรถบรรทุกสำหรับหนังที่ถูกสร้างขึ้นเกี่ยวกับตัวผมเอง มันทำให้ผมตะลึงเลยล่ะครับ

Gran Turismo หรือ GT แกร่งทะลุไมล์ มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 31 สิงหาคม ที่จะถึงนี้

 

สำหรับแฟนหนังเมเจอร์ ห้ามพลาดกับบัตรดูหนังสุดคุ้ม M PASS ที่จะทำให้คุณคุ้มเต็มอิ่มกับการดูหนังตลอดทั้งปี เตรียมไปมันส์กับกองทัพหนังดังมากมาย สมัครง่ายๆเพียงแค่คลิก ที่นี่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง