HIGHLIGHT CONTENT

รัชกาลที่๑๐ พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเจริญตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

  • 24,899
  • 29 พ.ย. 2016

ตามที่ เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น

ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีขึ้น ในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช 2562

 

- พระราชกรณียกิจ -

 

 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร  ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยครั้งหนึ่งในที่ประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งในข้าฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ และข้าพเจ้าก็มีความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ถือกำเนิดใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีความสำคัญและเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย สถาบันนี้มีบทบาทเป็นเส้นชีวิตในการรักษาเสถียรภาพของประเทศ เป็นแหล่งที่มาของกำลังขวัญ เป็นสถานะแห่งความชื่นชมของประชาชน และเป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวประเทศเข้าไว้ด้วยกัน”

เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ เสด็จฯ ทั่วถิ่นไทยเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรและบำรุงสุข สานต่อปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตามเสด็จฯ เคียงข้างในหลวงรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใน รัชกาลที่ ๙  เป็นภาพความผูกพันที่ปวงชนชาวไทยประทับใจมิรู้ลืม

 

 

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยดังที่พระองค์เคย ได้ถวายสัตย์ปฎิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  ว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรท่ามกลางสันนิบาตรนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”


เมื่อปี ๒๕๕๘ ทรงมีพระราชดำริให้จัดโครงการ ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมขบวนจักรยานตามเสด็จฯ แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความสามัคคีของคนในชาติ สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นคือ ทรงรับสั่งว่า ประชาชนเป็นแขกของพระองค์ และให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกจังหวัดดูแลนักปั่นจักรยานที่เข้าร่วมงานทุกคนอย่างดี

นอกจากนี้ทรงใส่พระราชหฤทัย ติดตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น โดยในเหตุการณ์ครั้งนั้นปรากฎว่ามีเด็กชายพิการไร้แขนเข้าร่วมปั่นจักรยานด้วย ทราบชื่อต่อมาคือ ด.ช.วรรธนะ คำอินทร์ หรือน้องทาม  พระองค์ทรงได้พระราชทานจักรยานพระที่นั่งของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมทั้งรับสั่งให้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับ น้องทาม นับว่าเป็นน้ำพระราชหฤทัยอันซาบซึ้งต่อปวงชนชาวไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง