HIGHLIGHT CONTENT

ไม่ทิ้งรายละเอียด! โลกของแต่ละตัวละครใน Across the Spider-Verse จะสร้างขึ้นโดยใช้แรงบันดาลใจจากของจริง

  • 619
  • 17 พฤษภาคม 2023

ไม่ทิ้งรายละเอียด! โลกของแต่ละตัวละครใน Across the Spider-Verse

จะสร้างขึ้นโดยใช้แรงบันดาลใจจากของจริง

 

 

การสร้างโลกใหม่ที่โดดเด่น

หนึ่งในแง่มุมพิเศษของซีเควลนี้คือความจริงที่ว่ามันพาผู้ชมไปสู่โลกคู่ขนานที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งโลกแต่ละใบจะมีสไปเดอร์-แมนเวอร์ชันต่างๆ และเพื่อนๆ ของเขาอาศัยอยู่ ยกตัวอย่างเช่น

 

มิติบ้านของเกวน สเตซี (โลก-65)

ใครที่จดจำฉากยุค 90s ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงชนชั้นของย่านเชลซีในแมนฮัตตัน รวมถึงมิวสิค วิดีโอของเนอร์วานาได้ อาจจะรู้สึกคุ้นตาอยู่บ้าง เมื่อพวกเขาได้เห็นโลกของเกวน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลุคของหนังสือการ์ตูนเกวน สเตซี/โกสต์-สไปเดอร์ร่วมสมัย 

ตามที่ดีน กอร์ดอน ผู้กำกับศิลป์ของเรื่องอธิบาย “โลก-65 ของเราส่วนใหญ่ได้เค้าโครงจากหน้าปกหนังสือการ์ตูนสไปเดอร์-เกวนยุคเริ่มแรก ซึ่งจะมีภาพกราฟิกและสีสันที่แจ่มชัด บางครั้ง เราจะได้ภาพเงาที่มีการลงสีหนักๆ แทรกผ่านร่างเงาเหล่านั้น เกวนมีสีสันของตัวเอง ซึ่งบ่งบอกถึงอารมณ์และขึ้นอยู่กับอารมณ์ในขณะนั้นของเธอ โลกของเธอเป็นเหมือนตัววัดระดับอารมณ์ของเธอครับ สิ่งที่เกวนกำลังประสบพบเจอจะถูกถ่ายทอดออกมาทางสีที่ปรากฏรอบตัวเธอ มันสะท้อนถึงบทบาทของสีสันในหนังสือการ์ตูนด้วย ในช่องหนึ่ง คุณอาจจะเจอกับสีที่เป็นธรรมชาติ แล้วในช่องถัดไป คุณก็อาจจะเจอกับแบ็คกราวน์สีล้วนเพื่อแสดงออกถึงปฏิกิริยาทางอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งน่ะครับ”

ด้วยความที่เกวนโฟกัสไปที่ช่วงเวลาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือจากความสนใจของเธอจะจางลงไปเป็นสีแอ็บสแทร็คในแบ็คกราวน์ เพื่อเป็นภาพวิชวลที่แทน “วิสัยทัศน์อุโมงค์” ของเธอ อลัน ฮอว์กินส์ หัวหน้าฝ่ายอนิเมชันตัวละคร ขยายความว่า “โลกของเกวนเป็นพายุไซโคลนสีสันครับ เรากำลังมองเห็นช่วงเวลาที่ฉากจะเลือนรางหายไปและเห็นแต่สีสัน มันให้ความรู้สึกเหมือนประสบการณ์วิญญาณหลุดจากร่างระหว่างช่วงเวลาที่เข้มข้น จริงจัง แต่ละโลกจะถูกผลักดันไปไกลกว่าเดิม ทั้งในแง่ของคอนเซ็ปต์และภาพวิชวลครับ”

 

มิติบ้านของไมลส์ โมราเลส (โลก-1610)

นี่คือบรู๊คลินและแมนฮัตตันที่เราจำได้จากภาพยนตร์ภาคแรก สิ่งที่ทำให้โลกใบนี้โดดเด่นคือการผสมผสานลานเส้นของงานโมเดล 3D จุดเบน-เดย์ (วิธีการพิมพ์ที่ใช้จุดสีเล็กๆ แบบเว้นระยะห่างและผสมผสานกัน เพื่อสร้างเฉดและสีสันในภาพ) และภาพฮาล์ฟโทนสำหรับพื้นผิวและการใช้ออฟเซทเพื่อสร้างความรู้สึกแบบมิติ

ผู้กำกับวาคิม ดอส ซานโตสอธิบายว่า “คุณจะได้เห็นฝีมือของนักวาดภาพบนหน้าจอจริงๆ เห็นได้ชัดว่าโลกของไมลส์เป็นจดหมายรักที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งถึงการ์ตูนคลาสสิก มันมีแต่เทคนิคจุดเบน-เดย์และเทคนิคต่างๆ พวกนี้ก็ถูกสำรวจล้วงลึกมากขึ้นไปอีก เดอะ สปอต ตัวร้ายของเรา กลายเป็นสิ่งที่บุกรุกเข้าไปในโลกต่างๆ ทั้งหมดนี้ สิ่งหนึ่งที่เผยเป็นนัยถึงเรื่องนี้ในภาคแรกคือสีสันที่น่าทึ่งของเคอร์บี้ แคร็กเกิล (เครื่องมือสร้างสไตล์ที่ประกอบไปด้วยจุด เส้นสายและพื้นที่สีดำที่วางซ้อนทับลงบนแบ็คกราวน์หลากสีสัน ที่สร้างขึ้นมาโดยนักวาดการ์ตูน แจ็ค เคอร์บี้ เพื่อนำเสนอพลังงานที่ไม่อาจอธิบายได้ มีความเคลื่อนไหวหรือพลังงานจากจักรวาลในลักษณะของภาพ) ที่จะปรากฏทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์การชนกันของอนุภาคครั้งใหญ่ ในหนังเรื่องนี้ สปอตผลักดันคอนเซ็ปต์นั้นไปสู่อีกระดับในแง่ของวิชวลน่ะครับ”

 

มิติบ้านของปะวิตร   ประภาคา - มุมแบตตัน (โลก-50101)

โลกของปะวิตร ประภาคา/สไปเดอร์-แมน อินเดียเป็นภาพมันดาลาของลวดลายและสีสัน ที่มีเพียงเขาเท่านั้นที่เหมาะจะท่องโลกใบนี้ มีตึกระฟ้ากระจกและเหล็กกล้าหลากสีสัน ที่มีการประดับประดาเหมือนวิหารหินโบราณสุดลูกหูลูกตา เมื่อมองด้านสถาปัตยกรรมแล้ว โลกใบนี้ผสมผสานระหว่างโลกสมัยใหม่และโบราณเข้าไว้ด้วยกัน นี่เป็นนครหลวงที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลาย มีการแต่งแต้มวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิมเข้าไป แต่ตัวเมืองและประชากรของมันเป็นอะไรที่ร่วมสมัยมากๆ

ในการจินตนาการถึงภาพลูกผสมที่ละลานตาระหว่างแมนฮัตตันและมุมไบ ทีมงานสร้างสรรค์ได้หาแรงบันดาลใจจาก Indrajal Comics ของอินเดียในช่วงยุค 70s “นักวาดภาพหลายคนมีผลงานโดดเด่นในหนังสือการ์ตูนพวกนั้น และพวกเขาก็โด่งดังจากลายเส้นหลวมๆ ของพวกเขาครับ” มือเขียนบท/ผู้อำนวยการสร้างฟิล ลอร์ดกล่าว “หนังสือการ์ตูนพวกนี้มีวิธีการพิมพ์พิเศษ ซึ่งเราก็จำลองมาใช้กับส่วนของปะวิตรในหนังเรื่องนี้ เราอยากจะสัมผัสถึงร่องรอยและพื้นผิวของกระดาษที่เรื่องราวถูกตีพิมพ์ลงไปจริงๆ ครับ”

ตามที่ผู้กำกับวาคิม ดอส ซานโตสกล่าว “สำหรับทีมงานบางคนของเรื่องที่โตขึ้นมาในอินเดีย นี่เป็นหนังสือการ์ตูนที่พวกเขาโตมากับมัน และการ์ตูนพวกนี้ก็ช่วยหล่อหลอมไอเดียของเราว่าโลกใบนี้ควรมีลักษณะเป็นอย่างไร สำหรับโลกใบนี้ เราได้จับมุมไบและแมนฮัตตันมาเขย่ารวมกัน แล้วเทน้ำออกจากแม่น้ำอีสต์ ซึ่งทำให้แม่น้ำอีสต์กลายเป็นเหวกว้างใหญ่ ที่เมืองแห่งนี้จะสร้างบนนั้นแล้วมีการทับซ้อนลงไป ชั้นแล้วชั้นเล่า ลักษณะที่พวกสไปเดอร์เคลื่อนไหวผ่านโลกใบนั้นเป็นภาพที่น่าทึ่งครับ”

 

มิติโลกของมิเกล โอ’ ฮารา - นิววา ยอร์ก (โลก-928)

มิเกลมาจากโลกของนิววา ยอร์ก ซึ่งเป็นนิวยอร์ก ซิตี้แสนเนี้ยบแห่งโลกอนาคต ที่ซุกซ่อนความลับที่มืดมิดไว้เบื้องหลัง ในโลกใบนี้ ชนชั้นปกครองได้แลกเปลี่ยนความเป็นมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสรวงสวรรค์ “สมบูรณ์แบบ” ภายใต้การควบคุมของปัญญาประดิษฐ์ “โลกใบนี้มีความเฉยเมยและไม่ต้อนรับคนภายนอกที่รบกวนกฎระเบียบที่ระมัดระวังของสิ่งต่างๆ” ผู้กำกับเคมป์ พาวเวอร์ส “ในแง่ของการเรนเดอร์ เราเห็นภาพสเก็ตช์จากดินสอสีฟ้า การลงสีแบบหยาบๆ และลุคแบบสีอะคริลิคในขั้นตอนสุดท้ายครับ”

ผู้กำกับวาคิม ดอส ซานโตสเล่าว่า โลก-928 เป็นตัวอย่างที่เพอร์เฟ็กต์ว่าภาพยนตร์อนิเมชันสามารถยิ่งใหญ่และท้าทายได้มากแค่ไหนในปี 2022 “เราไม่ได้ทิ้งอะไรไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งหมายถึงเราจะนำเสนอภาพวิชวลหลากหลาย ตั้งแต่ภาพที่สามารถให้ความรู้สึกที่เรียบง่ายพอๆ กับสิ่งที่เด็กๆ เห็นในความคิดของพวกเขา ไปจนถึงศิลปะที่สร้างสรรค์โดยนักวาดภาพที่เก่งกาจที่สุดเท่าที่เราจะหามาได้ ยกตัวอย่างเช่น นิวยอร์กในโลกอนาคตนี้ได้แรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากผลงานของศิลปินวิสัยทัศน์กว้างไกลอย่างซิด มี้ดและรอน บ็อบบ์ครับ”

อลัน ฮอว์กินส์ หัวหน้าฝ่ายอนิเมชันตัวละครกล่าวเห็นพ้องกับคำพูดของดอส ซานโตสว่า “ผมรักโลกของมิเกล โอ’ ฮารา และการที่มันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคอนเซ็ปต์อาร์ตของซิด มี้ดครับ โลกเหนือพื้นดินเป็นอะไรที่เป็นอุดมคติมาก ที่มีสีฟ้าเยอะแยะและเส้นสายที่สะอาดตา แล้วส่วนใต้ดินก็ได้แรงบันดาลใจจากภาพอนาคตที่มืดหม่นกว่า เหมือนอย่างใน Blade Runner น่ะครับ”

ผู้กำกับจัสติน เค. ธอมป์สันกล่าวเสริมว่า “นิววา ยอร์กมีภายนอกที่แข็งกร้าวและเย็นยะเยียบ และมีปัญหามากมายซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งสอดคล้องไปกับลักษณะที่มิเกลถูกนำเสนอออกมาในหนังเรื่องนี้เลยล่ะครับ ความตั้งใจของเราคือการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแบบโลกอนาคตที่ได้รับการตกแต่งให้ดูดี คล้ายๆ กับงานของซิด มี้ดในยุค 1980s และในการ์ตูนเรื่อง Space 1999 “ทุกอย่างสะอาดสะอ้าน คมกริบและเจ๋ง ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสต์ทุกหนทุกแห่งครับ”

“การสามารถดึงเอาแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนไซไฟและคอนเซ็ปต์การออกแบบจากพวกยุค 70s และ 80s จากฝีมือนักวาดภาพอย่างซิด มี้ด, จอห์น เบอร์กี้, จอห์น แฮร์ริสและจอห์น เบล เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นครับ” ผู้ออกแบบงานสร้าง แพทริค โอ’ คีฟ กล่าว “นอกจากนั้น เรายังได้ดูผลงานมากมายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ช่วงเริ่มแรกในการทำงานของนักวาดภาพเหล่านั้น ตอนที่พวกเขาขายรถและจินตนาการถึงโลกในอนาคต แน่นอนครับว่าหลังจากนั้น เราก็ได้พบว่ายูโทเปียแห่งนี้มีจุดด้อยที่มืดมนกว่านั้นเยอะครับ”

 

โลกสไปเดอร์-พังค์

แม้ว่าเราจะได้เห็นมันเพียงแค่แวบเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้ โลกของสไปเดอร์-พังค์ก็มีเค้าโครงจากแวดวงพังค์ยุคเริ่มแรกในลอนดอน ในการสร้างแบ็คกราวน์ด้านวิชวลที่แสดงความเคารพต่อยุคเดียวกันนั้น  นักออกแบบได้ค้นคว้าข้อมูลงานศิลปะ การ์ตูนและนิตยสารจากอังกฤษในยุค 70s “เรามองดูการใช้ภาพคอลลาจ สื่อใหม่ๆ และการทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อให้ได้ความเจือจางที่เกิดจากการทำซ้ำสื่อรอบแล้วรอบเล่า” ผู้ออกแบบงานสร้างแพทริค โอ’ คีฟกล่าว “เราต้องการรวมองค์ประกอบทั้งหมดนี้มาเพื่อสร้างโลกที่ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบเดียวอยู่ตลอด แต่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ของทิศทางอารมณ์ มันเป็นโลกสุดป่วนที่ได้รับอิทธิพลจากนักวาดภาพจากจิม มาห์ฟู้ดและแอชลีย์ วู้ด ด้วยการนำความตื่นเต้นและพลังงานนั้นมาสู่คุณภาพของลายเส้นและรักษาความรู้สึกแบบ ‘พังค์’ ของยุคนั้นเอาไว้”

Spider-Man Across the Spider-Verse หรือ สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม  มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

 

สำหรับแฟนหนังเมเจอร์ ห้ามพลาดกับบัตรดูหนังสุดคุ้ม M PASS ที่จะทำให้คุณคุ้มเต็มอิ่มกับการดูหนังตลอดทั้งปี เตรียมไปมันส์กับกองทัพหนังดังมากมาย สมัครง่ายๆเพียงแค่คลิก ที่นี่ 

สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม

  • 31 May 2023
  • Adventure / แอ็คชัน / ผจญภัย / แอนิเมชัน /
  • 140 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง