HIGHLIGHT CONTENT

ยังไม่ได้ดูอย่าคลิก! หลักฐานยืนยันจุดพลิกหนัง Joker ทั้งหมดอาเธอร์อาจคิดขึ้นมาเอง

  • 12,625
  • 11 ต.ค. 2019

 

 

ยังไม่ได้ดูอย่าคลิก! หลักฐานยืนยันจุดพลิกหนัง Joker

ทั้งหมดอาเธอร์อาจคิดขึ้นมาเอง

 

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในโรงภาพยนตร์

 

                สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Joker กลายเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชมถกเถียงกันมากที่สุดคือ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของตัวละครอาเธอร์ เฟล็ก หรือเป็นสิ่งที่เขาคิดขึ้นมาในหัว และโจ๊กเกอร์ไม่มีอยู่จริง โดยเรื่องนี้ทางผู้กำกับเองก็ไม่ได้ออกมายืนยันในทิศทางไหนทั้งสิ้น แถมตัววาคีน ฟีนิกซ์ผู้รับบทอาเธอร์ เฟล็กเองก็ยังออกมาเปิดเผยด้วยว่าจริง ๆ แล้วเขาได้ถ่ายทำตอนจบไว้ถึง 7 แบบด้วยกัน

                Matt Morrison หนึ่งในผู้ชมภาพยนตร์ Joker และเป็นนักเขียนบทความลงบนเว็บไซต์ Screen Rant ก็ได้เสนอหลักฐานยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเป็นเพียงสิ่งที่อาเธอร์ เฟล็กคิดขึ้นมาในหัวเท่านั้น ทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นจริง เขามีหลักฐานอะไรบ้าง และมันจะน่าเชื่อถือแค่ไหนเราไปดูกัน

 

 

เรื่องเล่าของ โจ๊กเกอร์ ไม่น่าเชื่อถือ

                ในแวดวงวรรณกรรมจะมีคอนเซปต์การเขียนอย่างหนึ่งที่เรียกว่า the Unreliable Narrator ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน เป็นการเขียนเรื่องราวให้มีการหลอกล่อ เชื้อชวนให้คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก ลักษณะการเขียนเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1961 โดยนักเขียนชื่อว่า Wayne C. Booth ในหนังสือเรื่อง The Rhetoric of Fiction ก่อนที่ภายหลัง William Riggan จะนำมาใช้เขียนในหนังสือของตัวเองที่ตีพิมพ์ในปี 1981 หนึ่งในนั้นมีชื่อเรื่องว่า Picaros, Madmen, Naifs, and Clowns: The Unreliable First-Person Narrator นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะเรื่องราว Joker เกิดขึ้นในปี 1981 เช่นกัน

                2 ใน 4 ของเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นคือ the Madmen และ the Clowns แน่นอนว่ามันใกล้เคียงกับการเป็นโจ๊กเกอร์ที่ภาพยนตร์นำเสนอออกมา โดยในเรื่องราวของ the Madmen นั้น เรื่องราวของเขาไม่สามารถเชื่อถือได้เลยเพราะอารมณ์ของเขา และเรื่องราวของ the Clown เองก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะเรื่องเล่านั้นมุ่งเน้นไปที่การล้อหลอกกับความคาดหวังของผู้อ่าน ทั้ง 2 เรื่องล้วนสะท้อนออกมาในเรื่องราวของอาเธอร์ เฟล็กทั้งสิ้น

 

 

การคิดว่าจินตนาการเป็นเรื่องจริงของอาเธอร์

                หนึ่งในจุดพลิกที่อาเธอร์ก่ออาชญากรรมอุกอาจภายใต้ชื่อของ Joker คือการสังหารพิธีการ เมอร์เร แฟรงคลิน โดยในช่วงต้นของภาพยนตร์เราเห็นทั้งเขาและแม่ของเขาชื่นชอบที่จะดูรายการนี้ของเมอร์เร และเราเห็นโจ๊กเกอร์นึกภาพย้อนไปในช่วงที่เขาไปชมการถ่ายทอดสดรายการของเมอร์เร เขายืนขึ้นและพูดถึงเรื่องที่เขาดูแลแม่ของตัวเองเป็นอย่างดีมาตลอด เมอร์เรยกย่องและบอกว่าตัวเมอร์เรเองก็ดูแลแม่มาตลอดเช่นกัน

                เราได้เห็น อาเธอร์ มองว่าเมอร์เร เป็นเหมือนไอดอลด้านการเป็นนักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน นอกเหนือไปจากนั้นแล้วเราพอจะสังเกตได้ว่าสำหรับอาเธอร์แล้ว เขามองเมอร์เรเป็นดั่งภาพตัวแทนของผู้เป็นพ่อในแบบที่เขาต้องการ ทั้งการต้องการความสนใจจากตัวละครนี้ หรือการมอบความเคารพให้ ก่อนจะถูกทำลายจนสิ้นเมื่อเมอร์เรนำคลิปที่อาเธอร์เดี่ยวไมโครโฟนไปออกอากาศพร้อมเหยียดหยาม

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเธอร์ และโซฟี

                ตัวละครโซฟี ดูมอนด์ เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ยืนยันการสร้างภาพขึ้นมาในหัวของอาเธอร์ได้เป็นอย่างดี เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่กับลูกสาวตัวน้อยในอพาร์ทเมนท์เดียวกับอาเธอร์ เธอยิ้มให้กับอาเธอร์เพียงครั้งเดียวในลิฟท์ที่ทั้งคู่เจอกันโดยบังเอิญ แต่เพียงเท่านั้นสำหรับชายที่ไม่เคยมีใครเหลียวแลก็ทำให้เขาคิดฝันไปไกลได้อย่างง่ายดาย วันรุ่งขึ้นอาเธอร์ก็ทำการสะกดรอยตามเธอในทันที

                ในเรื่องราวเราได้เห็นทั้งคู่เหมือนจะดำเนินความสัมพันธ์ไปได้ด้วยดี โซฟีไปดูอาเธอร์เดี่ยวไมโครโฟน ทั้งคู่เดินเคียงคู่กันไปจนดูเหมือนเป็นคู่รักกัน แถมด้วยเธอยังอยู่เคียงข้างอาเธอร์ในตอนที่แม่ของเขาเข้าโรงพยาบาล จนกระทั่งความจริงเปิดเผยในวันที่อาเธอร์เข้าไปนั่งดูโทรทัศน์ในห้องของโซฟี และเมื่อเธอเห็นเขาก็แสดงท่าทีตกใจกลัว พร้อมถามว่าเขาชื่ออาเธอร์ใช่ไหม? พร้อมบอกว่าเขาเข้ามาผิดห้องแล้ว ก่อนที่ภาพยนตร์จะเล่นภาพย้อนหลังไปว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างอาเธอร์และโซฟี เป็นเรื่องที่อาเธอร์คิดขึ้นมาเองทั้งสิ้น

 

 

จังหวะและช่วงเวลาของเรื่อง

                หลักฐานชิ้นนี้ต้องอาศัยการสังเกตที่ดีพอสมควร เป็นฉากในช่วงต้นของภาพยนตร์และช่วงปิดของภาพยนตร์ ฉากช่วงต้นนั้นเป็นฉากที่อาเธอร์กำลังพูดคุยกับนักบำบัดตามโครงการสวัสดิการของรัฐ เขาพูดไว้ว่าเขาเคยอยู่ในโรงพยายาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตมาแล้วครั้งหนึ่ง พร้อมหนังแสดงให้เห็นฉากย้อนกลับที่เห็นอาเธอร์เอาหัวโขกกับประตู

                ในขณะที่ฉากจบของภาพยนตร์ ที่อาเธอร์ถูกคุมขังพร้อมกับกำลังพูดคุยอยู่กับนักจิตวิทยาหลังจากก่อเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว ทั้งสองฉากมีนาฬิกาติดอยู่บนฝาหนัง มันบอกเวลาไว้ที่ 11.12 น. เป็นการยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่อาเธอร์เล่าระหว่างพูดคุยกับนักจิตวิทยาคนนี้นั่นเอง

 

                ทั้ง 4 ข้อเป็นหลักฐานที่ผู้เขียนคนนี้ยกมาจากภาพยนตร์ แต่เราเชื่อว่าใครที่ได้ไปดูมาแล้วย่อมเห็นหลักฐานอีกหลายอย่าง หรืออาจจะคิดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดกว้างให้ผู้ชมได้ถกเถียงกันอย่างเต็มที่

 

Source: Screen Rant

โจ๊กเกอร์

  • 11 June 2020
  • Adventure / อาชญากรรม / ชีวิต / ระทึกขวัญ /
  • 122 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง