HIGHLIGHT CONTENT

ว่าด้วยเรื่องโทนสี+มุมกล้องในหนัง Wonder Woman ซ่อนความหมายลึกซึ้ง ?

  • 28,466
  • 05 มิ.ย. 2017

ว่าด้วยเรื่องโทนสี+มุมกล้องในหนัง Wonder Woman 
ซ่อนความหมายลึกซึ้ง ? 

 

สำหรับงานสร้างภาพยนตร์ Wonder Woman เจนคินส์ ผู้กำกับยอมรับว่าด้วยความเคารพต่อบรรยากาศโดยรวมของหนัง
 “ฉันพบว่าตัวเองรู้สึกกังวลเรื่องยุคสมัย งานโปรดักชั่นได้รับการพัฒนาไปมากในยุคนี้ และผู้ชมก็ละเอียดในเรื่องเหล่านี้ด้วย” ผู้กำกับรายนี้ยอมรับด้วยว่าเธอ “คิดอยู่ตลอดว่าจะหาจุดยึดโยงได้จากตรงไหน แล้วก็น่าสนใจที่ฉันหาพบในงานของจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ เขาเป็นศิลปินที่วาดภาพในยุคนั้น แต่มีแนวทางการใช้สีและแสงที่แจ่มชัดและกลมกลืน แล้วยังดูสวยงามตามมุมมองสมัยใหม่ด้วย งานศิลปะของเขาช่วยเราได้มากเลยค่ะ”

“การนำวันเดอร์วูแมนเข้ามาอยู่ในกรอบของยุคสมัยเป็นเรื่องยาก” ผู้กำกับภาพ แมทธิว เจนเซน กล่าว “หนังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีภาษาภาพที่เฉพาะตัวมาก ตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงงานโปรดักชันและการจัดแสง แต่ผู้ชมมีความคาดหวังว่าจะได้เห็นภาพที่ทันสมัยกว่านั้นในหนังซูเปอร์ฮีโร่ คุณจะนำทั้งหมดนี้มาประสานกันได้อย่างไร นั่นล่ะครับคือความท้าทายของเรา การนำเสนอภาพในยุคนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องขยายให้ไกลไปกว่านั้นด้วย สิ่งที่แพตตีย้ำอยู่เสมอคือนี่ไม่ใช่หนังย้อนยุค แต่เป็นหนังสมัยใหม่ที่บังเอิญว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1918”

 

 

ด้วยเหตุนี้ทีมผู้สร้างหนังจึงตัดสินใจไม่ใช้โทนสีซีดเพื่อสื่อถึงการย้อนอดีตและหันมาใช้สีสันที่จัดจ้านตัดกันแบบสมัยใหม่ เจนเซนกล่าวว่า “ผมสังเกตเห็นด้วยว่าซาร์เจนท์มีวิธีการให้แสงในภาพเหมือนบุคคลซึ่งเรามองว่าเป็นวิธีการแบบสมัยใหม่มากๆ คือให้แสงอ่อนสามในสี่ส่วนที่ด้านหน้า จากนั้นแสงก็จะกลืนหายกลายเป็นเงามืดที่ด้านหลังตัวคน สไตล์การวาดภาพแบบนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในการจัดแสงให้ใบหน้าของตัวละคร เราไม่ได้ใช้ไฟแบ็คไลท์และไฮไลท์มากนัก ส่วนใหญ่เราทำงานโดยใช้แหล่งให้แสงเพียงแหล่งเดียว และเมื่อเราได้แสงหลักแล้ว เราก็เริ่มเล่นกับสีสันในเงามืดและอะไรทำนองนั้น 

“เราใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายเข้าไปใกล้ตัวละครมากขึ้น ซึ่งช่วยเปิดพื้นที่โดยรอบตัวละคร” ผู้กำกับภาพรายนี้ยังได้ใช้เทคนิคอันล้ำสมัยสำหรับกล้องเคลื่อนที่สมัยใหม่ด้วย “เราใช้ช็อตมุมสูงจากเครน แล้วลอยลงไปยังช็อตมุมต่ำมองที่มองเงยขึ้นมา เพื่อตามวันเดอร์วูแมนขณะที่เธอบินแหวกอากาศและหมุนเกลียว ในแง่นี้เราไม่ได้ปล่อยให้ความเข้าใจแบบเดิมๆ ที่มีต่อหนังย้อนยุคมาจำกัดการทำงานของเรา”

 

 

ทีมกล้องได้นำเครน ไฮดราสโคป เทเลสโคปิก สูง 73 ฟุต มาใช้เป็นครั้งแรก เครนนี้มีอยู่เพียงตัวเดียวในสหราชอาณาจักรและเป็นหนึ่งในห้าตัวบนโลก เครนหนัก 16,000 ปอนด์ ยืดได้สูงสุด 83 ฟุตและปรับระดับอัตโนมัติ ส่วนฐานซึ่งเคลื่อนที่ได้มีขนาดพอดีกับช่องประตูสองบานตามแบบมาตรฐาน การเคลื่อนที่ควบคุมได้จากระยะไกลโดยให้คนหนึ่งคนควบคุมด้วยจอยสติ๊ก เครนและส่วนฐานกันน้ำได้ทั้งหมดดังนั้นจึงสามารถใช้ในสภาพอากาศใดๆ ก็ได้

วิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงแนวทางสมัยใหม่ก็คือการตัดสินใจถ่ายทำด้วยฟิล์ม “ระบบดิจิตัลได้รับความนิยมมาก” เจนเซนเสริม “แต่เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าจะเลือกถ่ายทำด้วยฟอร์แมตไหน แพตตีหลงรักการใช้ฟิล์ม ผมก็หลงรักการใช้ฟิล์ม มันมีน้ำหนักและความหนักแน่นที่แตกต่างจากระบบดิจิตัล ไม่จำเป็นว่าฟอร์แมตไหนจะต้องดีกว่ากัน เพียงแต่ว่าฟิล์มให้ความรู้สึกที่แตกต่าง เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างเท่านั้นเองครับ”

เพื่อความเป็นวินเทจอย่างแท้จริง ในการถ่ายภาพถ่าย “โบราณ” ของวันเดอร์วูแมนกับสตีฟ เทรเวอร์และทีมงานที่หมู่บ้านเวลด์ ช่างภาพสตีเฟน เบิร์กแมนได้นำกระบวนการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกเปียก (wet-collodion) กลับมาใช้ใหม่ กระบวนการนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1851ทำให้ได้งานภาพที่สมจริง 

 

 

จัสติซ ลีก

  • 16 November 2017
  • Adventure / แอ็คชัน /
  • 120 นาที
15+