HIGHLIGHT CONTENT

Review Spotlight ศรัทธาไม่ใช่แสงสว่าง หนังที่กล้าเล่าด้านมืดของกาฝากศาสนา

  • 15,151
  • 14 ม.ค. 2016

Review Spotlight  ศรัทธาไม่ใช่แสงสว่าง 
หนังที่กล้าเล่าด้านมืดของกาฝากศาสนา

 

 

Review By @Nookkill

ในงานรื่นเริงที่เต็มไปด้วยไฟแสงสี เราจะเห็นความจริงของสถานที่นั้นได้ก็ย่อมเมื่อเปิดไฟ… แต่ถ้าดวงไฟสว่างขึ้นเราจะยอมรับความจริงกับสถานที่ที่เต็มไปด้วยขยะและความโสมม หรือเราจะยืนเต้นต่อไปแล้วแกล้งไม่เห็นความสกปรกนั้น...สถานการณ์ที่ยกมาคงเหมือนกับภาพยนตร์ Spotlight  หนังเต็งออสก้าร์ ปี 2016 ที่กล้าฉายแสงไปในมุมมืดที่คนในสังคมแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นแล้วปล่อยให้ผ่านเลยไป แต่เมื่อไฟสว่างเด่นชัด เราจะยังมองภาพนั้นในแบบที่เราเคยเห็น ในแบบที่ใจรู้สึกเชื่ออยู่หรือ ? 

 - กำหนดประเด็น - 

Spotlight เป็นเรื่องราวของทีมข่าวเจาะของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ ที่ได้รับมอบหมายจาก แบรอน บก.คนใหม่ ให้ทำข่าวเชิงสืบสวนประเด็นของบาทหลวงคนหนึ่งที่เคยเป็นข่าวลวนลามเด็กชายกว่า 30 คน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะประเด็นดังกล่าวค่อนข้างอ่อนไหวในเมืองที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก แต่เมื่อพวกเขาเริ่มตั้งสมมติฐานกลับพบว่า สิ่งที่พวกเขาเจอหนึ่งคดีนั้นกลับถูกผูกโยงจนกลายเป็นประเด็นใหญ่และหนักพอๆกับที่จะสั่นสะเทือนคริสตจักรทั้งโลกได้เลย

แม้ Spotlight จะเป็นหนังที่ถูกสร้างจากเรื่องจริง แต่มันไม่ง่ายนักที่จะรื้อเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมานำเสนอใหม่ การเล่าเรื่องที่เปราะบางนี้ให้กับคนที่ฝังใจศรัทธาอย่างเหนียวแน่นให้เห็นภาพความฟอนเฟะที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้ามันจึงเป็นเหมือนเป็นการตอกย้ำซ้ำปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นวนเวียนไม่หายไปไหน  

"...แม้ Spotlight จะไม่มีภาพที่รุนแรงให้เห็น
แต่หนังกลับทำลายความรู้สึกของคนดูที่ใช้สถาบันศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาตลอด
ราวกับว่าเห็นตึกที่มั่นคงซึ่งพวกเขาเคยอยู่อาศัยถูกทุบให้ทลายลงต่อหน้าต่อตา..."

 

 

- ค้นหาเบาะแส -

การลำดับเรื่องราวของ Spotlight เป็นการเปิดไฟฉายแสงให้กับจุดเล็กๆ ในท้องถิ่น เบาะแสทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมแต่มันอยู่ที่ว่า เบาะแสเหล่านั้นพร้อมที่จะเปิดใจและคายสิ่งที่อมพะนำไว้ออกมาได้มากแค่ไหน เพราะการเล่าเรื่องปัญหาที่ดำมืดของคริสตจักรคล้ายกับอาการน้ำท่วมปากที่อยากจะพูดแต่ก็พูดไม่ได้ ซึ่งสาเหตุไม่ใช่เพียงเพราะอิทธิพลขององค์กรศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการสร้างรอยร้าวให้เพื่อน ครอบครัวและคนในท้องถิ่นด้วย ความกลัวที่จะไม่มีที่ยืนในสังคมทำให้ผู้กุมความลับหลายคนต้องคิดหนัก และทีม Spotlight ต้องเบนเข็มไปหาเบาะแสที่น่าเชื่อถือได้ หนังไม่ได้สร้างปมใหญ่ขึ้นมาให้เราคอยดูตัวละครนั่งแก้มันยังไง ไม่ได้มีความซับซ้อนหักมุม ซ่อนเล่ห์เหลี่ยมไว้ แต่หนังให้ความรู้สึกเหมือนดูพวกเขากำลังนั่งต่อจิ๊กซอว์ส่วนที่พวกเขาค้นพบ

"การค้นพบเหล่านั้นเหมือนเป็นจุดต่อจุดเชื่อมโยงกัน จนเมื่อมันกลายเป็นรูปร่างขึ้นมาแล้วทำให้เห็นภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น
และจะนำเสนอภาพนั้นสู่สายตาของผู้เสพงานศิลป์ที่เฝ้ามองผ่านจอผ้าใบอย่างไร ? "

 

 

- คุยกับแหล่งข่าว -

สิ่งที่เสริมทัพความหนักแน่นให้กับ Spotlight คือความแข็งแกร่งทางด้านการแสดงของทีมข่าวสืบสวนของโกลบ การแสดงที่ดูเหมือนว่าพวกเขาเข้าไปสู่จิตวิญญาณของการเป็นนักข่าวที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนทั้งโลก สายตาอันลุกวาวและเสียงเซอร์ไพรส์หลังจากที่พวกเขาได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ มันเหมือนสุนัขเฝ้าบ้านที่กระหายข่าวและพร้อมขุดคุ้ยเรื่องราวออกมา ที่สำคัญมันถูกทำออกมาให้เป็นทีมเวิร์คอย่างยอดเยี่ยมไม่มีใครเด่นกว่าใคร นั่นคือความสมดุลของการทำงานร่วมกัน  ไมเคิล คีตัน ที่มารับบท วอลเตอร์ “ร็อบบี้” โรบินสัน  หัวหน้าทีมสปอตไลท์ที่กล้าท้าชนกับทุกสิ่ง ลุยกับสิ่งที่เรียกว่าความถูกต้องแม้ความเสี่ยงของการนำเสนอข่าวนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเขาเอง ความเคร่งเครียดที่ระบายออกทางสีหน้าและดูเหมือนว่าเขากำลังครุ่นคิดบางสิ่งบางอย่างอยู่ในหัวตลอดเวลา ทำให้เราได้สัมผัสกับพลังความเครียดของเขาอีกครั้ง การทำงานของสองนักข่าว ซาช่า ไฟเฟอร์ (เรเชล แม็คอดัมส์)  และ ไมค์ เรเซนเดส  (มาร์ค รัฟฟาโล่)  ที่กัดไม่ปล่อยทุกประเด็นเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลและหลักฐานจากแหล่งข่าว นั่นคือคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมของนักข่าวที่หาได้ยากมาก ความกระหายข่าวในช่วงแรกของทีมสปอตไลท์ที่ต้องการจะขายข่าวเพื่อไปตีพิมพ์มันถูกแปรเปลี่ยนเป็นความห่วงใยที่มีต่อสังคม  ความต้องการเปิดโปงเพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์นี้ไม่ให้ลุกลามสู่รุ่นลูก รุ่นหลานและคนใกล้ตัว ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกาฝากที่อาศัยศาสนาเป็นเครื่องบังหน้า มันจึงไม่ได้ทำให้ประเด็นนี้หยุดอยู่แค่ บาทหลวงคนไหนเป็นคนกระทำเรื่องที่เลวร้ายนี้ แต่มันอยู่ที่ว่าระบบที่เลวร้ายนี้เกิดขึ้นและสมควรจบลงได้แล้ว  

"... Spotlight สะท้อนให้เห็นความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนตัวจริงที่พร้อมนำเสนอสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับสังคม
โดยไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงยอดขายและยังคงตระหนักถึงจริยธรรมของวิชาชีพ.."

 

 

-  เรียบเรียง ปิดต้นฉบับ -

ในตอนท้ายของเรื่องหนังนำไปสู่บทสรุปที่ทำให้เราขนลุกและตกตะลึงไปพร้อมกันกับข้อมูลที่ถูกนำเสนอมันไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่มันใหญ่มาก แต่ข้อสังเกตและคำถามที่ผุดขึ้นในหัวตอนนั้นคือ ถ้ามันใหญ่ขนาดนี้แล้วคนทั่วโลกไม่เห็นและปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำซากได้อย่างไร พร้อมกับทำให้เราต้องกลับมาคิดต่อถึงสิ่งที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้และมองมุมกลับเปรียบเทียบ ‘บอสตัน’ เมืองที่คาทอลิกเต็มเมืองและเต็มไปด้วยศรัทธาต่อศาสนจักร กับ ‘ประเทศไทย’  เมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่พร้อมไปด้วยคุณงามความดีไร้สิ่งมัวหมอง มันแทบจะไม่ต่างกันเลย เพราะปัญหาในวงการผ้าเหลืองถูกสื่อไทยนำเสนอซ้ำซาก แทบจะสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่แล้วมันกลับยังไม่ถูกแก้ไขอย่างถาวรและเป็นการซุกเรื่องราวไว้ใต้พรมที่คนนั่งกราบไหว้เท่านั้น องค์กรที่กำกับดูแลพยายามทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาเป็นเรื่องของความใสสะอาด ห้ามแตะต้อง ห้ามนำเสนอในแง่มุมที่เป็นสีเทาแม้จะเป็นเรื่องจริงอย่างนั้นหรือ ?

"เรายังคงหวังว่าสักวันควันธูปที่ฟุ้งกระจายบดบังแสงเทียนแห่งธรรมจะจางลงไปบ้าง"

 

 

- ตีพิมพ์ -

Spotlight เป็นภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับเสียงวิจารณ์ยอดเยี่ยมในเทศกาลหนัง รวมทั้งการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 3 รางวัลใหญ่รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม (สาขาภาพยนตร์ดราม่า) และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลทองคำครั้งล่าสุด SPOTLIGHT กำลังกลายเป็นภาพยนตร์ที่เดินหน้าสู่เวทีออสการ์ในฐานะเต็งหนึ่งอย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยประเด็นที่ร้อนแรง ทีมนักแสดงที่แข็งแกร่ง และเสียงตอบรับจากทุกเวทีรางวัล  อยากให้ลองไปสัมผัส ไม่แน่ว่าหากไฟที่ส่องสว่างลงมานั้นจะทำให้่คุณได้เห็นความจริงที่ชัดเจนขึ้น  

 

Spotlight ไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตี ศาสนา มันคือการตั้งคำถามว่า ‘เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?’
เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินอยู่นับสิบปีได้อย่างไรโดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดโปงอะไรเลย”
(ทอม แม็คคาร์ธี ผู้กำกับ)