HIGHLIGHT CONTENT

นักวิชาการสื่อ เผยสาเหตุทำไมเด็กนิเทศ-คนทำงานสื่อ ต้องดู Spotlight

  • 8,375
  • 12 ม.ค. 2016

นักวิชาการสื่อ เผยสาเหตุทำไมเด็กนิเทศ-คนทำงานสื่อ
และทุกคน ต้องดู  Spotlight 

 

 

นายธาม เชื้อถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้โพสต์ข้อความแสดงทรรศนะเกี่ยวกับภาพยนตร์ Spotlight โดยเผยว่าหนังเปิดเผยการทำงานเป็นทีมของสปอตไลท์ สมควรที่ทีมข่าวสืบสวน สื่อมวลชนไทยต้องไปดู โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาด้านสื่อ นิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ และอาจารย์ผู้สอน หากไปชมจะได้รับความรู้ที่เป็นแก่นสารสำคัญในการเรียนวิชาข่าวสืบสวนอย่างมาก ไล่เรียงมาตั้งแต่ ;

(1) สัญชาติญาณข่าว : คือ การมองเห็นเงื่อนงำ ลึกลับของเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น อาจเรียกว่าจมูกข่าว หรือ สัญชาติญาณข่าว (sense of news) ซึ่งจะค้นพบมากๆ จากคนที่เป็นหัวหน้าข่าว บรรณาธิการ จะมีทักษะตรงนี้สูงมาก

(2) สร้างสายสัมพันธ์ : คนเป็นนักข่าวคือการสืบค้นความจริง และส่วนมากก็มาจากผู้คน นักข่าวเจาะที่ดี คือ คนที่มีทักษะการสื่อสารที่ดูเป็นมนุษย์ จริงใจ และตรงไปตรงมา ไม่สัญญาในสิ่งที่ให้ไม่ได้ หรือ โกหกเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าว

(3) ทักษะวิจัย : หนังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคนข่าวมีทักษะในการสืบค้นข้อมูลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้อมูลเอกสาร บันทึก รายงาน คำพิพากษาคดีความต่างๆ กฎหมาย และคำสำนวนฟ้องร้องต่างๆ ซึ่งต่างก็ได้มาเพราะความเชี่ยวชาญและประสบการณ์

(4) ทำงานเป็นทีม : การทำข่าวสืบสวนต้องอาศัยการประชุม วางแผน กำหนดประเด็นและแนวทางการนำเสนอ การทำงานเป็นทีมสำคัญที่สุด ฉายเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากบรรณาธิการ

(5) รักษาความลับ : เป็นส่วนสำคัญในการทำข่าว ทั้งการรักษาความลับของกระบวนการเริ่มต้นทำงานในองค์กร และการรักษาความลับของแหล่งข่าว

(6) กัดไม่ปล่อย-ใจสู้ไม่ถอย : เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของทีมงานข่าวสืบสวน คือห้ามล้มเลิกกลางคัน เพราะข่าวสืบสวนนั้นทำยาก มีอุปสรรคมากมาย การละทิ้งข้อมูลจำนวนมากมหาศาลก็เหมือนทำไปสูญเปล่าอีกทั้งยังเป็นการทำลายความหวังของผู้คนมากมายที่ยอมให้ข้อมูลข่าวสารทั้งเสี่ยงภัยและเจ็บปวดกับภาพและความทรงจำในอดีต

ผมนึกถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยและข้ออ้างของนักข่าวระดับสูง ที่มักเปรยให้ทราบว่า “ข่าวสืบสวนนั้นทำยากในเมืองไทย เพราะนักข่าวบ้านเราภารกิจหมายข่าวประจำวันมากแล้ว ไม่มีเวลาไปตามข่าวสืบสวน อีกทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากระดับผู้บริหาร เนื่องจากข่าวสืบสวนขายยาก ขายยาวคนอ่านน้อย แถมระดับนโยบายยังบอกว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการฟ้องร้อง และที่สำคัญที่สุดคือทักษะและความสามารถข่าวสืบสวนบ้านเรานักข่าวด้อยมาก ส่วนใหญ่จึงทำแต่ข่าวเหตุการณ์รายวันมากกว่าเพราะขายได้ง่ายได้เร็วและก็ไม่เปลืองกำลังทรัพยากรมากนัก”การไม่ค่อยมีข่าวสืบสวนในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยช่องข่าวโทรทัศน์จึงเท่ากับยืนยันได้ว่าข้ออ้างข้างต้นเป็นจริง

 

 

อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง และจุดดีที่สุดของหนัง คือ การแสดงให้เห็นคุณค่าของ “สื่อมวลชนมืออาชีพ” ที่แท้จริง ว่าเขาทำงานกันภายใต้ ทักษะ ความกล้าหาญ และเสรีภาพบนความรับผิดชอบได้อย่างไร? (โดยที่ไม่มานั่งโทษอุปสรรค รัฐบาล หรือ อำนาจแทรกแซงอื่นใด) ไม่มีข้ออ้างสำหรับคนสื่อมืออาชีพพลังของหนังในท้ายเรื่องนั้น เรียบง่าย ทว่าหนังสร้างแรงบันดาลใจดีเยี่ยมสำหรับคนสื่อ ผู้สื่อข่าว และทีมกองบรรณาธิการ เป็นที่แน่ชัดว่านักข่าวอาจได้แนวทางและเทคนิค (บวกกับความกล้าหาญ) ไปใช้ในการทำงานจริง และอาจารย์ผู้สอนวิชานิเทศศาสตร์ ก็ควรดูเช่นกัน และแน่นอน มันควรเป็นหนังที่ใช้เรียนสอนในวิชาข่าวสืบสวน!

บทสรุปของข่าวสืบสวน นั่นคือเรื่องหมกเม็ดเหล่านั้นถูกรับรู้โดยสาธารณะชน นำไปสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง การตั้งคดีความไต่สวนตรวจสอบ และมากไปกว่านั้น คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง
Spotlight ยืนหยัดท้าทายอย่างมากต่อบทบาทของสื่อมวลชนที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน ว่า “สื่อคือแสงไฟที่ฉายให้เห็นความจริงเพื่อที่จะใช้ความจริงนั้นทำลายความชั่วร้ายงมงายมืดมิดในสังคมให้หายสิ้นไป” มันแสดงให้เห็นว่าพลังของความจริงทางวิทยาศาสตร์สังคมนั้น สามารถเอาชนะอำนาจความเชื่อ-ความศรัทธาที่โป้ปดมดเท็จได้

“คุณจะรับผิดชอบอย่างไร เมื่อเรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ” – เจ้าหน้าที่รัฐถามหาความรับผิดชอบของสื่อ
“ผมจะต้องรับผิดชอบอย่างไรล่ะ? ถ้าสาธารณะไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงนี้!” – สื่อบอกหน้าที่ความรับผิดชอบของตน


หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมทราบทันทีว่าหนังเรื่องนี้มิใช่เฉพาะคนสื่อที่ต้องดู แต่มันเป็นหนังของเราประชาชนคนธรรมดาทุกๆ คนSpotlight แสดงให้เห็นว่าความเจริญพัฒนาของสังคมต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพสื่อ

 

ที่มา เฟซบุ๊ค Time Chuastapanasiri

ข่าวที่เกี่ยวข้อง