HIGHLIGHT CONTENT

ข้อมูลลับ+เชื่อมโยง Godzilla II: King of the Monsters ประกาศก้องที่สุดแห่งราชัน!!

  • 46,587
  • 04 มิ.ย. 2019

 

ในที่สุดความฝันวัยเด็กของใครหลายคนก็เป็นจริง กับการได้เห็นเหล่าสัตว์ประหลาดยักษ์ที่โด่งดังที่สุดในโลกภาพยนตร์ออกมาโลดแล่นปะทะกันใน Godzilla: King of the Monsters นำเอา 4 สัตว์ประหลาดยักษ์ก้าวเข้าสู่ศึกชิงความเป็นหนึ่ง ทั้งก็อดซิลล่า, โรแดน, มอธร่า และกิโดร่าห์ ไม่ว่าคำวิจารณ์จะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้เลยก็คือ เรื่องราวของ Godzilla เป็นเนื้อเรื่องที่เก่าแก่มากเรื่องหนึ่ง และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ค่อนข้างเคารพฉบับดั้งเดิมพอสมควร ดังนั้นมันจึงมีข้อมูลหลากหลายซ่อนอยู่เพียบ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

 

 

Destroy All Monsters!

                ก่อนหน้า Marvel Cinematic Universes จะโด่งดัง โลกของเรารู้จัก 1 จักรวาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ จักรวาลสัตว์ประหลาด หรือ ไคจู ของ โตโฮ จากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น พวกมันถูกนำเสนอออกมาจนสร้างความนิยมไปทั่วโลก จนกระทั่งในปี 1968 ภาพยนตร์เรื่อง Destroy All Monsters ก็ได้เข้าฉาย มันเป็นการรวมตัวกันของ 4 สัตว์ประหลาดสุดยิ่งใหญ่ ทั้ง Godzilla, Rodan, Mothra และ King Ghidorah โดยในฉบับนี้คิง กิโดร่าห์เป็นวายร้ายหนึ่งเดียว เข้าปะทะกับไคจูทั้ง 3 ตัว ซึ่งใน Godzilla II: King of the Monsters นี้ก็แทบไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะเรื่องราวในช่วงองค์แรกของภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การทำลายล้างเหล่าไททันส์ทั้งหมด (Destroy All Monsters)

 

มอธซึร่า

Godzilla และ Mothra ล้วนเป็นชื่อที่มาจากฝั่งตะวันตก ก็อดซิลล่าที่เหมือนจะแปลว่าเป็นพระเจ้าของสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด หรือ มอธร่า ที่หมายถึงการเป็นผีเสื้อกลางคืน แต่ในฝั่งญี่ปุ่นนั้นที่มาของชื่อพวกมันแตกต่างออกไป ก็อดซิลล่า หรือ โกจิร่า นั้น ได้แรงบันดาลใจมาจาก กอริร่า และ กูจิร่า ที่หมายถึงวาฬ ซึ่งในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่เราได้ชมกันไปนั้น เป็นครั้งแรกที่มอธร่าได้ปรากฎตัวในเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะเอาชื่อดั้งเดิมของมันมาด้วย โดยองค์กรโมนาร์คก็ได้ตั้งชื่อการค้นพบไททันส์ตัวหนึ่งในป่าฝนที่ประเทศจีนว่า โปรเจ็คต์มอซึร่า

 

โรแดนผู้ถือกำเนิดจากภูเขาไฟ

                ใครที่ได้ดู Godzilla II: King of the Monsters ไปแล้วคงจะตื่นตาตื่นใจกับการปรากฎตัวของเหล่าไททันส์เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพุ่งทะลุจากพื้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาของคิง กิโดร่าห์, การสยายปีกแห่งแสงของมอธร่า หรือการโผล่พ้นผืนน้ำของก็อดซิลล่า แต่มีหนึ่งไททันส์ที่ถูกแซวว่าเป็นเด็กเส้นผู้กำกับอย่างโรแดน การปรากฎตัวของมันเรียกได้ว่าเคารพต้นฉบับดั้งเดิมด้วยการปรากฎตัวขึ้นจากภูเขาไฟขนาดยักษ์ในแม็กซิโก พร้อมกับร่างกายที่อาบคลุมไปด้วยลาวา โดยในต้นฉบับนั้นโรแดนได้ปรากฎตัวมาจากภูเขาไฟอะโซ ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดที่ยังปะทุอยู่ของประเทศญี่ปุ่น

 

สัตว์ประหลาดแห่งล็อคเนส คือหนึ่งในไคจู

                สัตว์ประหลาดแห่งล็อคเนส ถือเป็นเรื่องเล่าของสัตว์ประหลาดลำคอยาวที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่ง และในภาพยนตร์เรื่องนี้เราก็ได้รับการคอนเฟิร์มแล้วว่ามันถือเป็นหนึ่งในไคจูของ Monsterverse ด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในฐานค้นคว้าของโมนาร์คได้เป็นเผยตำแหน่งของมันว่าอาศัยอยู่บริเวณประเทศสก็อตแลนด์

 

หมายเลขของตำแหน่งศูนย์วิจัย

                ใน Godzilla II: King of the Monsters เราได้รู้ว่าโมนาร์คมีศูนย์วิจัยมากมายกระจายอยู่ทั่วโลก กับไททันที่ถูกค้นพบในตอนนี้กว่า 17 ตัว โดยข้อมูลลับที่แฟนพันธุ์แท้ของจักรวาลสัตว์ประหลาดของโตโฮเท่านั้นที่จะเอะใจก็คือ หมายเลขของศูนย์วิจัยที่ใบ้ถึงวันเข้าฉายของภาพยนตร์เปิดตัวของไคจูในฉบับโตโฮ เริ่มจาก โรแดน ที่อยู่ในศูนย์วิจัยหมายเลข 56 ตรงกับปี 1956 ปีเดียวกับที่โรแดนเปิดตัวเป็นครั้งแรก และอีกหนึ่งตัวคือมอธร่า ที่ในแผนโฆษณาของภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ได้ระบุฐานวิจัยภาคพื้นดินของโมนาร์ค กำกับด้วยหมายเลข #63061 (6 - 30 - 1961) หรือก็คือวันที่ 30 มิถุนายน ปี 1961 วันที่ภาพยนตร์ Mothra เข้าฉาย

 

ฝาแฝดผู้ขับร้องบทเพลงมอซึร่า

                เอกลักษณ์ของภาพยนตร์มอธร่าฉบับดั้งเดิม คือ ฝาแฝด ที่ออกมาขับร้องบทเพลงเพื่อเรียกมอซึร่า แม้ว่าในภาพยนตร์เวอร์ชั่นใหม่นี้เราจะไม่ได้เห็นพวกเธอออกมาประกบคู่ร้องเพลงให้ฟังกันชัด ๆ แต่เราได้เห็นการอ้างอิงถึงเกี่ยวกับต้นตระกูลของนักวิทยาศาสตร์สาว Ilene Chen แห่งโมนาร์ค ที่เปิดเผยว่านอกจากจะมีคนหนึ่งอยู่บนยานอาร์โกแล้วนั้น อีกคนก็คอยเฝ้ามองการออกจากดักแด้ของมอธร่าที่ประเทศจีน พร้อมกับเพลงธีมของมอธร่าที่ดังคลออยู่เป็นพื้นหลังของภาพยนตร์

 

ไททันส์ตัวอื่นที่ถูกแง้มเอาไว้

                ในภาพยนตร์หลังจากการตื่นขึ้นของคิง กิโดร่าห์ มันก็ได้คำรามปลุกเรียกไททันส์ตัวอื่น ๆ มากมายที่กระจายอยู่ทั่วโลก นอกจาก 4 ไททันส์ตัวหลักแล้ว ยังมีอีกมากมายปรากฎตัวแม้จะไม่มีบทโดดเด่นในตอนนี้ แต่ก็ไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นพวกมันมากขึ้นในอนาคต  หนึ่งในนั้นคือ Scylla หนึ่งในสัตว์ประหลาดตามตำนานกรีก โดยในเรื่องราว The Odyssey ของโฮเมอร์นั้น สคิลลา คือคือปีศาจที่อาศัยอยู่บริเวณช่องแคบเมสซีนา คอยสร้างน้ำวนคร่าชีวิตคนเดินเรือในบริเวณนั้น มันมีลักษณะเป็นสัตว์ประหลาดกว่า 6 หัว ซึ่งใน King of the Monsters นี้ปรากฎมาด้วยเช่นกัน

 

ระเบิด Oxygen Destroyer

                มนุษย์มีเป้าหมายในการทำลายล้างเหล่าไททันส์ พวกเขาได้คิดค้นอาวุธขึ้นมาใหม่เป็นระเบิดที่จะทำลายอ็อกซิเจนทั้งหมดในรัศมีที่กำหนด มันมีชื่อว่า Oxygen Destroyer ที่เกือบจะสังหารก็อดซิลล่าสำเร็จ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเพื่ออ้างอิงถึงหนึ่งในวายร้ายที่เก่งกาจที่สุดเท่าที่ก็อดซิลล่าในเวอร์ชั่นของโตโฮเคยพบมา มันคือ Destroyah ไคจูตัวร้ายที่เกือบจะสังหารก็อดซิลล่าลงได้

 

ทฤษฎีช่องว่างใต้ผืนดิน

                ในภาพยนตร์เรื่อง Kong: Skull Island มีนักวิทยาศาสตร์ 2 คนจากโมนาร์ค นั่นคือ William Randa และ Houston Brooks ได้สำรวจผืนดินของเกาะและตั้งทฤษฎีว่ามีช่องว่างใต้ดิน รวมทั้งระบบนิเวศเพียงพอให้ไททันส์มีชีวิตอยู่มาตลอด และเกาะกะโหลกคือสถานที่บนโลกที่มีจุดเชื่อมนั้น ซึ่งใน King of the Monsters ก็ได้ยืนยันทฤษฎีดังกล่าว ในฉากที่เรือดำน้ำถูกกระแสน้ำดึงดูดให้ไกลออกมาจากจุดเดิมกว่า 600 ไมล์ ในระยะเวลาไม่กี่นาที จนไปพบสถานที่อาศัยของก็อดซิลล่า

 

การตายของดร.เซริซาว่า

                แฟนก็อดซิลล่าคงจะทราบกันดีว่าตัวละคร ดร.เอจิโร่ เซริซาว่าที่แสดงโดย เคน วาตานาเบ้ คือตัวละครที่อ้างอิงให้เกียรติถึงผู้กำกับก็อดซิลล่าฉบับดั้งเดิม คุณอิชิโระ ฮอนดะผู้ล่วงลับ และตัวละคร ดร.เซริซาว่าในภาพยนตร์ฉบับดั้งเดิม โดยใน King of the Monsters นี้ เราได้เห็นการเสียสละของดร.เซริซาว่า ในการนำเอาหัวรบระเบิดนิวเคลียร์ ไปติดตั้งใกล้กับก็อดซิลล่าเพื่อช่วยชีวิต เป็นการอ้างอิงถึงฉบับดั้งเดิมที่ดร.เซริซาซ่าก็ได้สละชีวิตเพื่อมนุษยชาติเช่นกัน สิ่งที่เหมือนกันมากกว่านั้นก็คือทั้งสองเวอร์ชั่น ก็อดซิลล่าอยู่เคียงข้างพวกเขาในวาระสุดท้าย

 

การอ้างอิงถึงเหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่า

                เราทราบกันดีว่า Godzilla ถือกำเนิดขึ้นมาจากระเบิดนิวเคลียร์ ในฉบับดั้งเดิมแล้วเจ้าสัตว์ยักษ์ตัวนี้เป็นภาพของความน่ากลัวที่สะท้อนออกมาจากสงครามนิวเคลียร์ แม้ว่าในฉบับ King of the Monsters จะมีการปรับเปลี่ยนไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทีมงานก็ยังไม่ลืมอ้างอิงถึงมัน โดยเราจะเห็น ดร.เซริซาว่า มีนาฬิกาพกประจำตัว เขาเปิดดูมันและเห็นเวลามันหยุดเดินไปที่ 8.15 ซึ่งนั่นเป็นเวลาเดียวกับที่ระเบิดนิวเคลียร์ถูกทิ้งลงบนเกาะฮิโรชิม่า

 

หน้าข่าวฉากเครดิต

                สิ่งที่แฟนก็อดซิลล่าถูกฉุดนั่งให้ลงบนเก้าอี้ก็คือฉากเครดิตของภาพยนตร์ ที่ไม่ได้มีแค่รายชื่อนักแสดง แต่เต็มไปด้วยพาดหัวข่าวมากมาย กล่าวถึงผลจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ ซึ่งข่าวทั้งหมดนี้มีการลงชื่อว่าเขียนโดย Steve Martin ตัวละครที่มีอยู่จริงในก็อดซิลล่าเวอร์ชั่นเก่าแก่ที่ถูกถ่ายทำเพิ่มเติมและฉายในอเมริกา และเขาได้ปรากฎตัวในภาพยนตร์ก็อดซิลล่า 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ Godzilla 1985 และ Godzilla, King of the Monsters! ที่เข้าฉายในอเมริกาปี 1956

 

มอธร่าพร้อมจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

                แม้ว่ามอธร่าจะต่อสู้อย่างเต็มที่จนเลือกจะสละชีวิตไปในการปะทะสุดท้ายกับคิง กิโดร่าห์ แต่ในฉากเครดิตของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แสดงให้เราเห็นไข่ของสัตว์ยักษ์ใบหนึ่ง แฟนก็อดซิลล่ารู้กันดีว่ามันคือไข่ของมอธร่า เพราะในเวอร์ชั่นดั้งเดิมนั้นมอธร่ามีวัฎจักรชีวิตตายและเกิดใหม่วนเวียนไปอยู่แล้วในฐานะของผู้พิทักษ์โลก ซึ่งใน Rebirth of Mothra หนึ่งในภาพยนตร์ฉบับดั้งเดิม มอธร่าก็ได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นมันกลับมาสบายปีกอีกรอบ หรือยิ่งกว่านั้นคือมันกลับมาพร้อมกับร่างใหม่ที่ชื่อว่า Mothra Leo ร่างอันแสนเก่งกาจของมัน

 

ฉากพิเศษท้ายเครดิตกับหัวที่ยังเหลืออยู่ของกิโดร่าห์

                ฉากพิเศษท้ายเครดิตของภาพยนตร์เรื่องนี้ เราได้เห็นโจนาส หัวหน้าผู้ก่อการร้ายทางสิ่งแวดล้อมได้เดินทางไปซื้อสิ่งหนึ่งจากชาวประมงพื้นถิ่น ก่อนที่กล้องจะเลื่อนไปให้เห็นเป็นหัวของกิโดร่าห์ที่ขาดไปในการต่อสู้ครั้งที่สองกับก็อดซิลล่า แค่ฉากสั้น ๆ แค่นี้แฟนก็อดซิลล่าตัวจริงจะรู้ความหมายดีว่า Monsterverse ของ Legendary Studios กำลังวางแผนใหญ่ที่แสนจะทะเยอทะยาน เพราะในฉบับดั้งเดิมนั้น หัวของกิโดร่าห์ที่ถูกตัดไป ถูกนำไปสร้างเป็นหุ่นยักษ์ Mecha-King Ghidorah หุ่นยนต์มังกรสามหัว

 

Source: Screen Rant

ก็อดซิลล่า 2 ราชันแห่งมอนสเตอร์

  • 30 May 2019
  • Adventure / แอ็คชัน / ผจญภัย / แฟนตาซี /
  • 132 นาที
15+