HIGHLIGHT CONTENT

วิเคราะห์ 5ประเด็นดิสโทเปีย ใน Allegiant ไม่ใช่แค่หนังไซไฟ แต่ลึกถึงแก่นสังคม

  • 30,943
  • 12 มี.ค. 2016

วิเคราะห์ 5ประเด็นดิสโทเปีย ใน Allegiant
ไม่ใช่แค่หนังไซไฟ แต่ลึกถึงแก่นสังคม 

 

 

  The Divergent Series ภาค Allegiant    เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ภาคต่อที่สร้างจากนวนิยายที่ในภาคนี้เน้นไปที่การเล่าเรื่องราวและประเด็นในการเสียดสีสังคมแบบดิสโทเปีย ซึ่งคนดูบางคนอาจจะเน้นที่ความมันส์และไซไฟสุดล้ำ แต่สิ่งที่ลึกกว่านั้นของ  Allegiant  คือ 5 ประเด็นแฝง ที่ทางเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ขอขุดมาให้ได้อ่านและวิเคราะห์ไปพร้อมกัน 

ดิสโทเปีย ใน Allegiant  

ภาพยนตร์เรื่องนี้คุมธีมเรื่องด้วยความเป็นดิสโทเปีย คือการสร้างโลกใหม่ที่พัฒนาไปทางใดทางหนึ่งอย่างสุดโต่ง เป็นสังคมจำลองที่ทำให้เราเห็นว่าหากมันเป็นอย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้น โดย Allegiant  สร้างสังคมที่อยู่ภายหลังกำแพงยักษ์ที่กั้นกับโลกข้างนอก ซึ่งในกำแพงก็มีสังคมจำลองที่ถูกจำกัดด้วยระบบกลุ่ม 5 กลุ่ม ด้วยการแบ่งคนประเภทต่างๆ  คละผู้หญิงและผู้ชาย โดยหารู้ไม่ว่าชิคาโก้ในกำแพงนั้นไม่ใช่โลกทั้งหมด แถมพลเมืองในนั้นยังถูกสอดแนมและควบคุมจากคนนอกกำแพงอีกด้วย  ซึ่งตัวกำแพงเองก็เป็นสัญญะแทนกฎเกณฑ์ของสังคมที่ไม่มีใครกล้าก้าวข้าม 
 

สังคมที่ยึดถือกฎเป็นที่ตั้ง "อย่าข้ามกำแพงเพราะนั่นคือการแหกกฎ"

ในซากปรักหักพังของสังคมชิคาโก้ มีกฎเกณฑ์เป็นกรอบปฏิบัติ ต้องเชื่อฟังหัวหน้ากลุ่ม มีผู้ดูแล มีบทลงโทษ เพื่อการอยู่ร่วมกัน หากรักตัวกลัวตายจงอย่าแหกกฎและทำหน้าที่ของตนไป  ในขณะที่ทริซ สาวผู้ไม่ยอมอยู่ใต้กฎกลุ่มและพยายามจะออกจากกำแพงเปรียบเสมือนคนขบถในสังคมที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถาม การแหกกฎและความกล้าที่ต่างจากตัวละครอื่น แม้บางอย่างหากคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมีศีลธรรม แต่หากศีลธรรมนั้นขัดกับกรอบและวิถีกฎหมู่ในสังคมกำแพงก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับก็เป็นไปได้ 

 

 

กำแพงยักษ์ การก้าวข้ามตัวตนและสิ่งที่ต้องเลือก

กำแพงใน  Allegiant ที่กั้นระหว่างชิคาโก้กับโลกภายนอก เปรียบสัญญะสิ่งที่วัยรุ่นต้องก้าวข้าม คุณจะเลือกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย  comfort zone ซึ่งคุณก็สามารถใช้ชีวิตได้ต่อไปโดยไม่ต้องเสี่ยง แต่ชีวิตก็จะมีอยู่แค่นั้น หรือจะเลือกเข้าไปเสี่ยงในโลกภายนอกที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร แต่อาจจะได้อะไรใหม่ๆกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ หนังย้อนกลับถามถึงคนดูว่า ถ้าเป็นคุณจะอยู่หรือจะไป ในขณะที่ ทริซและโฟร์ เป็นตัวละครหัวขบถที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามในสังคมและปลุกให้คนอื่นกล้าก้าวข้ามกำแพงยักษ์นี้ออกไป และใช้ความกล้า ความมั่นใจรวมถึงความหวัง ซึ่งในชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้เจออะไรที่สาหัสปางตาย แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การก้าวออกจาก comfort zone ครั้งแรกของใครหลายคนก็เป็นสิ่งที่หวั่นใจอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเรามีความเชื่อมั่นก็จะผ่านมันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

 

 

การเป็นวัยรุ่นธรรมดา ไม่ใช่ความสมบูรณ์ หรือ ผู้บกพร่อง 

ทริซ และโฟร์ ไม่ได้มีพลังวิเศษหรือสติปัญญาที่อัจริยะเกินวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป มันจึงเป็นสิ่งที่สัมผัสคนดูได้มากที่สุด แต่เธอมีความคิดที่ค่อนอิสระ บวกกับสัญชาตญาณ ความสามารถ หรือ โชคช่วย  ทำให้ Allegiant  ค่อนข้างแตกต่างจากหนังไซไฟแอ็คชั่นแฟนตาซีทั่วไป และเข้าใกล้เรื่องการเอาตัวรอดของมนุษย์ได้ค่อนข้างมาก การใส่ธรรมชาติของวัยรุ่นเข้าไป อารมณ์อยากรู้อยากเห็น  รักพวกพ้อง ความสับสน และพร้อมจะทำตามหากมีผู้นำไปก่อนสะท้อนให้เห็นในกลุ่มของ Divergent 

โลกไม่ได้สวยงามและมันโหดร้ายกว่าที่คิด

อีกหนึ่งสัญญะของกำแพงยักษ์ยังเปรียบเสมือนทางผ่านที่จะออกไปสู่โลกภายนอก ฉากปีนกำแพงอันสูงใหญ่แล้วมาพบกับความแห้งแล้งของผืนดินสีแดง ฝนกรดและมลพิษ เป็นการอุ่นเครื่องว่าโลกภายนอกเต็มไปด้วยอันตรายที่จะต้องเผชิญและชีวิตมันไม่ได้ราบเรียบสวยงามอย่างแน่นอน ซึ่งเปรียบเหมือนการบอกกับวัยรุ่นว่า ถ้าคุณพร้อมจะก้าวออกจาก comfort zone มันก็คือคุณกล้าที่จะรับความเสี่ยงนั้น การผ่านเส้นทางของโลกภายนอกกำแพง อาจจะไม่ใช่เข้าไปสู่โลกที่คุณฝันใฝ่ แต่ยังเป็นโลกที่จะต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆที่ถูกสังคมใหญ่อีกสังคมครอบเราไว้เท่านั้นเอง ถ้าจะเอาให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ กำแพงและโลกใหม่ ก็เหมือนกับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน ที่พอเราผ่านมาได้ เราก็ต้องเข้าไปสู่อีกสังคมที่มีระบบของเขาอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ทำได้เพียงแต่ไหลไปตามสายพานนั้น หรือเลือกที่จะหาทางออกจากระบบนั้นต่อไปเพื่อไปอีกสังคมหนึ่งที่มีระบบไม่ต่างกัน   

 

 

 

คนกบฏโลก

  • 19 March 2015
  • Adventure / แอ็คชัน / ผจญภัย / โรแมนติก / วิทยาศาสตร์ /
  • 119 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง