HIGHLIGHT CONTENT

เบื้องหลังงานสร้าง Storks แอนิเมชั่นครบรสที่อัดแน่นเรื่องราวดี ๆ ของการดูแลครอบครัว

  • 18,175
  • 23 ก.ย. 2016

เบื้องหลังงานสร้าง Storks แอนิเมชั่นครบรส
ที่อัดแน่นเรื่องราวดี ๆ ของการดูแลครอบครัว 

 

 

กำเนิดแอนิเมชั่นครอบครัวสุดน่ารัก

ตัวละครที่มีเอกลักษณ์และสีสันเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม “แน่นอนครับ เราต้องการให้ Storks ออกมาสวยงาม” สโตลเลอร์กล่าว “ในแง่ภาพ การทำงานครั้งนี้ท้าทายสำหรับผม แต่ส่วนใหญ่แล้วผมมักมองจากมุมของคนเขียนบท ส่วนงานภาพนั้น ดั๊ก สวีทแลนด์จะถนัดมากกว่า ตอนที่เราเริ่มเห็นภาพจากฝ่ายแอนิเมชัน งานที่ออกมาน่าตื่นเต้นมากๆ และเราก็รู้ว่ามันจะต้องออกมางดงามมากแน่ๆ”

“เราเน้นความ ‘สนุกสนานและน่าอัศจรรย์’’ สวีทแลนด์กล่าว “เรายังได้เลือกใช้ภาพแบบจอกว้างด้วยเพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่”  

แม้ว่าเรื่องราวจะเต็มไปด้วยความขำขันไร้สาระ แต่ผู้กำกับทั้งคู่เห็นตรงกันว่างานแอนิเมชันควรตั้งอยู่บนโครงสร้างที่น่าเชื่อถือ หากไม่มีความสมจริง ผู้ชมก็จะไม่รู้สึกร่วมไปกับแอ็คชันต่างๆ หากไม่มีอันตรายที่แท้จริง ก็จะไม่มีความกล้าหาญและการค้นพบตัวเอง สโตลเลอร์ยอมรับว่า “เราสร้างโลกที่แปลกประหลาดขึ้นมา เป็นภาพแอนิเมชันสีสันสดใสที่มีโกดังใหญ่ยักษ์ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็กๆ และปกครองด้วยเหล่านกกระสา เพราะฉะนั้นเราหยิบกฎเกณฑ์มาเล่นแน่นอนอยู่แล้ว แต่กฏเกณฑ์ก็ยังมีอยู่ และมันก็ยังเป็นโลกจริงภายใต้ปัจจัยควบคุมต่างๆ  เรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับผมคือการที่แอ็คชันยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง” 

ในขณะเดียวกันสวีทแลนด์ย้ำว่าทิวทัศน์ใน “Storks” ซึ่งทีมผู้สร้างจินตนาการขึ้นมานั้นห่างไกลจากความสมจริงเหมือนภาพถ่าย “หัวใจของเรื่องราวนี้เปิดกว้างมากจนการเลือกสไตล์ที่สมจริงมากเกินไปอาจสร้างความเสียหายได้ มันจำเป็นต้องรวดเร็วและลื่นไหลเช่นเดียวกับตัวละครและโทนเรื่อง ดังนั้นแอนิเมชันจึงมีลักษณะค่อนข้างเป็นการ์ตูนและลดทอนรายละเอียดลง” เขากล่าว “เราเน้นไปที่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในหนังมากกว่า นี่คือเรื่องราวของนกกระสาและเด็กผู้หญิงที่บินไปรอบโลกเพื่อนำเด็กไปส่ง แล้วก็มีภูเขานกกระสาซึ่งมีนกเป็นผู้ดำเนินกิจการ ดังนั้นภาพที่ออกมาจึงต้องสนุกสนานขี้เล่นเช่นเดียวกับแนวคิดที่ปรากฏในเรื่อง”  

 

 

ภาพสุดงดงามที่ใช้จินตนาการเพิ่มสีสันความสนุก

นักออกแบบงานสร้าง พอล ลาเซน เรียกแนวทางนี้ว่า “ความสมจริงที่ผ่านการประดิษฐ์” และกล่าวว่า “มันมีความน่าเชื่อถือในแง่คุณสมบัติของแสงหรือการทำงานของแรงโน้มถ่วง แต่รูปทรงต่างๆ ได้รับการขับเน้นให้เกินจริงหรือปรุงแต่งให้ได้ภาพที่น่าสนใจมากขึ้น ตัวละครแอนิเมชันมักมีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ ตัวอย่างเช่น ทิวลิปมีขายาวมากดังนั้นเราจึงต้องคำนึงถึงเวลาออกแบบอะไรก็ตามให้เธอนั่ง”

การสร้างหนังเรื่องนี้ใช้เวลาราวสี่ปี โดยสวีทแลนด์ ลูอิส และลาเซน ดูแลรูปลักษณ์ โทนภาพ สีสันและการให้แสง ตลอดจนให้แนวทางกับศิลปินผู้ทุ่มเทจำนวนมาก รวมถึงหัวหน้าฝ่ายวิชวลเอฟเฟ็กต์ เดวิด อเล็กซานเดอร์ สมิธ จาก Sony Pictures Imageworks และผู้กำกับภาพ ไซมอน ดันสดัน

ลูอิสกล่าวว่า “เราได้รวมทีมงานผู้มีความสามารถมาสร้างงานภาพ เป็นงานที่ผมคิดว่ามีเอกลักษณ์มากชิ้นหนึ่งในแวดวงแอนิเมชันคอมพิวเตอร์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมกับดั๊กยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานของ Sony Imageworks เพื่อสร้างโลกซึ่งมีแสงเงาสมจริง มีสีสันตัดกันอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังเป็นโทนสีแบบแอนิเมชันเต็มที่”

ในบรรดาปัจจัยต่างๆ สีสันมีส่วนสำคัญมากเพราะช่วยแยกความแตกต่างระหว่างโลกของครอบครัวการ์ดเนอร์กับโลกมหัศจรรย์ที่นกกระสาอาศัยอยู่ นอกจากนี้สีสันยังเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความมีชีวิตชีวาโดยเฉพาะในฉากที่มีเด็กทารกอยู่ด้วย โดยจุดสูงสุดนั้นอยู่ที่งานออกแบบฉากซึ่งใหญ่และสวยงามที่สุดฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือ โรงงานผลิตเด็ก เมื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง โรงงานแห่งนี้ก็เหมือนกำลังบรรเลงซิมโฟนีแห่งแสงสี มีเด็กทารกหัวเราะเริงร่าและมีผมเป็นสีลูกกวาดหลากสี ราวกับจะแสดงให้เห็นว่าทารกได้นำสีสันมาสู่โลก

 

 

เพลงประกอบที่อัดแน่นทุกอารมณ์

ดนตรีที่เปิดคลอกับภาพโรงงานอันน่ามหัศจรรย์นี้คือเพลงใหม่อันสดใส “Kiss the Sky” ซึ่งร่วมเขียนและร้องโดยเจสัน เดอรูโล ซูเปอร์สตาร์เจ้าของรางวัลแผ่นเสียงแพลทินัมหลายรางวัล ด้วยท่อนสร้อยที่ว่า “I believe we can fly now” เพลงนี้ใช้ประกอบฉากเหตุการณ์สำคัญตอนที่เนทขอให้นกกระสานำสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในโลกมาให้จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายตามมา และต่อมาเพลงที่มาเติมเต็มความสุขในตอนจบของเรื่องก็คือเพลงใหม่ของ The Lumineers ที่มีชื่อว่า “Holdin’ Out” เพลงนี้เขียนขึ้นเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะและเป็นเพลงที่เล่นตลอดเครดิตตอนจบ ส่วนดนตรีประกอบที่ช่วยถ่ายทอดแอ็คชัน ความสนุกสนาน และความร่าเริงเบิกบานตลอดทั้งเรื่องนั้นแต่งโดยไมเคิล แดนนาและเจฟฟ์ แดนนาซึ่งเคยร่วมงานกันใน “The Good Dinosaur” 

แทนที่จะให้จูเนียร์และทิวลิปออกจากพื้นที่เล็กๆ มาสู่พื้นที่อันกว้างใหญ่เมื่อทั้งสองออกจากภูเขานกกระสา ผู้สร้างกลับวางแนวทางด้านภาพให้แตกต่างออกไป โดยเริ่มจากโกดังอันกว้างขวางที่ตัวละครทั้งสองอยู่มาทั้งชีวิตไปยังพื้นที่เล็กแคบอย่างเครื่องบินสองที่นั่งซึ่งจะพังมิพังแหล่และถ้ำเพดานต่ำของพวกหมาป่าเพื่อให้ตัวละครรู้สึกติดกับและอึดอัดในตอนแรก 

หลังจากผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้และมั่นใจมากขึ้นแล้ว ทั้งคู่จึงออกไปสู่โลกกว้างอย่างแท้จริง โลกซึ่งเจิดจ้าและกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นจูเนียร์ก็ทำสิ่งหนึ่งซึ่งเขาไม่ต้องการเลยแม้แต่น้อย นั่นคือการตกหลุมรักทารกรายนี้

 

 

การเดินทางของคู่ซี้คู่ใหม่

จูเนียร์และทิวลิปเดินทางร่วมกันไกลหลายไมล์ทั้งในอากาศ บนบก หรือแม้กระทั่งใต้ดิน และทั้งสองก็ก้าวหน้าไปไกลในการได้ตระหนักว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดสำหรับตนเอง พวกเขาได้สร้างสายสัมพันธ์ที่พิเศษและแตกต่างซึ่งมีชื่อเรียกของมันเอง นั่นก็คือ...ครอบครัว

“ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัยครับ” สวีทแลนด์กล่าว “มันตลกและสร้างสรรค์ มีงานภาพที่สนุกสนาน และเป็นการชกที่เข้าเป้าในแง่การเล่าเรื่องราว คุณได้เห็นจูเนียร์ตั้งแต่ตอนที่เขายังหมกมุ่นกับตัวเองและสนใจแต่อาชีพการงาน จนกระทั่งได้มาเห็นว่าอะไรที่สำคัญจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และการทำเพื่อคนอื่นแทนที่จะทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว และเขาก็เริ่มที่จะเล็งเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง”

“เราหวังว่าผู้ชมจะได้หัวเราะตลอดเรื่องแล้วก็ประหลาดใจที่ตัวเองซาบซึ้งไปกับหนังด้วย” สโตลเลอร์สรุป “นั่นคือเป้าหมายในหนังทุกเรื่องของผมครับ คนดูเข้าไปเพราะหวังว่าจะได้สนุกสนานเพลิดเพลินแต่ออกมาจากโรงพร้อมของแถมพิเศษบางอย่าง เพราะผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่หนังสามารถทำได้”

 

Storks
บริการนกกระสา เบบี๋เดลิเวอรี่

เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

 

บริการนกกระสาเบบี๋เดลิเวอรี่

  • 14 October 2016
  • Adventure / แอนิเมชัน /
  • 89 นาที
15+