HIGHLIGHT CONTENT

รีวิว มะลิลา เรียบนิ่ง งดงาม หนังอาร์ตกับการปลงสังขารของชีวิต

  • 8,576
  • 13 ก.พ. 2018

 

รีวิว มะลิลา เรียบนิ่ง งดงาม หนังอาร์ตกับการปลงสังขารของชีวิต

 

 

                ชื่อของ อนุชา บุญยวรรธนะ อาจไม่ใช่ชื่อของผู้กำกับที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้างของวงการภาพยนตร์ไทย แต่ถ้าใครที่ติดตามผลงานและเคยประทับใจกับภาพยนตร์เรื่อง อนธการ แล้ว คงไม่ยากที่จะเข้าใจทิศทางการนำเสนอภาพยนตร์ของเขาใน มะลิลา ภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้าฉายในไทย แต่ตอนนี้เดินหน้ากวาดรางวัลในต่างประเทศไปแล้ว รางวัลใหญ่ที่สุดในตอนนี้คงไม่พ้นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน แต่เราต้องขอออกตัวไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า มะลิลา อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะนี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ตามกระแสหลักที่เราคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย

 

 

                มะลิลา เล่าเรื่องราวของเชน พ่อหม้ายผู้เจ็บปวดกับความสูญเสียในชีวิต เขาได้พบกับรักเก่าอย่าง พิช ชายหนุ่มผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้มีอาชีพเป็นคนทำบายศรี ทั้งสองคนได้มาเจอกันในวันที่อ่อนล้า ต่างฝ่ายจึงต่างโหยหาซึ่งกันและกัน แต่นั่นมันไม่ได้นำไปสู่ความสุขสวยงาม แต่มันนำไปสู่ธรรมชาติของชีวิตที่มีตั้งอยู่และดับไป ความงดงามของการเริ่มต้นและจุดจบ โดยมีบายศรีเป็นเหมือนแก่นหลักของเรื่องที่ยึดเหนี่ยวเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน

 

                จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ในสายตาของเราก็คืองานภาพที่มีเอกลักษณ์ ประกอบกับเสียงประกอบที่นำเสนอวัฒนธรรมชนบทความเป็นอีสานในมุมของความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณได้อย่างน่าสนใจ มีการใช้ธรรมชาติสื่ออารมณ์ของเรื่องราว ฉากที่ติดตาติดใจเรามากที่สุดคงไม่พ้นการเปรียบเทียบความเสียใจของตัวละคร ด้วยเมฆที่ค่อย ๆ มืดครึ้มลงเรื่อย ๆ เคล้ามากับเสียงสะอื้นด้วยความเจ็บปวด

 

 

                การแสดงของเวียร์ ศุกลวัฒน์ในเรื่อง มะลิลา นี้เรียกได้ว่าฉีกทุกผลงานที่เขาเคยรับมา เขานำเสนอความรักที่ไม่ได้สื่อแค่ความเป็นเกย์ แต่สื่อไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งที่บังเอิญว่าคนที่เขารักคือผู้ชายด้วยกัน ตัวบทอาจจะนิ่งเรียบ การสื่ออารมณ์อาจทำให้ตัวบุคลิกของเชน เป็นคนนิ่งขรึม แต่แววตาและอวัจนภาษาของเขาเต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากการสูญเสียมากมาย เพราะฉะนั้นในฉากที่เขาปวดร้าวจนต้องเสียน้ำตานั้นจึงทำให้เราอดรู้สึกไปด้วยไม่ได้

 

               ฉากเลิฟซีนระหว่างเขากับโอ อนุชิต ในบทของ พิช นั้นก็นำเสนอความปรารถนาของคนสองคนที่แสนเจ็บปวด มันจึงเป็นเส้นแบ่งของความร้อนแรงและความสวยงาม ที่ทั้งสองคนแสดงออกมาได้อย่างสมจริงและเร่าร้อนไปพร้อม ๆ กัน โดยในมุมมองของเราเกี่ยวกับการที่เลือกให้ตัวละครเป็นชายรักชายนั้น นอกจากความใกล้ชิดในเรื่องราวของผู้กำกับแล้ว ยังเป็นนัยยะสื่อถึงการปล่อยวางและหลุดพ้นจากกรอบทางเพศของสังคมที่ครอบทับเอาไว้

 

 

                แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของภาพยนตร์ที่ต้องการจะนำเสนอ อย่างที่บอกไปว่า แก่นของเรื่องนี้อยู่ที่ตัวบายศรี ผ่านตัวดอกไม้ที่เต็มไปด้วยความสวยงาม แต่ก็เปราะบาง บายศรีที่เกิดจากการสานของใบตองที่หากสานไม่แน่น ก็เป็นช่องให้อากาศเข้าไปได้ง่าย สุดท้ายมันก็เหี่ยวเฉาได้เร็ว แทบไม่ต่างอะไรกับชีวิตของมนุษย์ที่มีความหลากหลายในชีวิตที่เป็นตัวสร้างความสวยงาม แต่ก็มีช่วงชีวิตที่แสนสั้น หากปล่อยปะละเลยไม่ตระหนักรู้แล้วล่ะก็ มันก็ง่ายดายและเปราะบางเหลือเกินที่จะโรยรา

 

                อีกหนึ่งประเด็นที่หนังเน้นย้ำและนำเสนอออกมาได้น่าสนใจ คงไม่พ้นเรื่องของการตั้งอยู่และดับไปของชีวิต ในช่วงเวลาที่เกิดเราเต็มไปด้วยอารมณ์มากมาย ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง แต่เมื่อผ่านกาลเวลาที่เป็นตัวถักทอ เสริมแต่งสีสันของชีวิตด้วยรสชาติของความเจ็บปวด จนท้ายที่สุดแล้วเราเดินทางไปสู่ความตายที่ไม่สามารถมีสิ่งใดในโลกช่วยเหลือได้ ไม่ต่างอะไรกับกระบวนการใช้บายศรี ที่เมื่อผ่านการทำพิธีกรรมแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำไปลอยน้ำ การมองชีวิตให้เป็นเหมือนกระแสน้ำที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ จึงเหมือนเป็นสารที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อ 

 

 

มะลิลา

Malila The Farewell Flowet

15 กุมภาพันธ์นี้ที่ Major Cineplex

มะลิลา

  • 04 March 2019
  • Adventure / ชีวิต / ไทย /
  • 95 นาที
15+