HIGHLIGHT CONTENT

ไขความลับเบื้องหลังการสร้าง “ภาษาเอเลี่ยน” ใน Arrival คอหนังอ่านออกมั้ย? [สปอยล์]

  • 88,422
  • 13 ม.ค. 2017

ไขความลับเบื้องหลังการสร้าง
“ภาษาเอเลี่ยน” ใน Arrival คอหนังอ่านออกมั้ย?

 

โดย Aye, Ms. You.

 

มีสปอยล์เต็ม ๆ ยังไม่ได้ดู อย่าเพิ่งอ่าน

 

 

ใครที่ได้ไปสัมผัสกับความคราฟท์ของหนังเอลี่ยนบุกโลกเรื่องล่าสุดอย่าง Arrival มาแล้ว คงต้องทึ่งกับ “ภาษาเอเลี่ยน” อันแปลกตาที่ทำให้เราต้องเบิกตาทำความเข้าใจไปพร้อมกับตัวละคร และต้องบอกเลยว่างานสร้างของ Arrival นั้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาเอเลี่ยน มีทฤษฎีและมีการคิดค้นขึ้นมาเป็นไวยากรณ์ทางภาษาจริง ๆ ซึ่งถ้าหากเราศึกษาให้ดี เราก็จะสามารถวาดและเข้าใจสัญลักษณ์เหล่านั้นได้เช่นกัน และนี่คือเบื้องหลังงานสร้างสุดเจ๋งที่เป็นตัวชูโรงให้หนังเปี่ยมด้วยความสนุกและลึกซึ้งทีเดียว!

Arrival สอดแทรกประเด็นของ “การสื่อสาร” เอาไว้ได้อย่างลึกซึ้งและคมคาย โดยอาศัยความเป็นหนังไซไฟ ทำให้ประเด็นนี้ใหญ่ขึ้นและสำคัญมากขึ้น โดยมีตัวละครนำอย่าง ดร.หลุยส์ แบงค์ส (เอมี่ อดัมส์) นักภาษาศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจถึงภาษาของเอเลี่ยน และสื่อสารในสิ่งที่ฝ่ายมนุษย์ต้องการออกไป สำหรับภาษาของเอเลี่ยนหรือพวก “เฮพตาพ็อดส์” นั้น เป็นภาษาแบบที่เรียกว่า Logograms หรือภาษาที่เป็นลักษณะสัญลักษณ์ทางภาพที่ใช้แทนคำต่าง ๆ โดยในหนังนั้น ภาษาของเหล่าเอเลี่ยนมีรูปร่างลักษณะการเรียงตัวแบบวงกลม โดยไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ มีเพียงคำที่ประกอบกันขึ้นมาและบ่งบอกถึงความต้องการของประโยคนั้น ๆ

 

 

“เราต้องการสร้างภาษาที่ให้สุนทรียะได้อย่างน่าสนใจ” แพทริซ เวอร์เม็ตต์ นักออกแบบงานสร้างของ Arrival ได้พูดถึงไอเดียของการสร้างภาษาเอเลี่ยนเอาไว้ โดยเขายังบอกอีกว่าภาษาของเหล่าเอเลี่ยนนั้นต้อง Alien หรือแตกต่างจากอารยธรรมของมนุษย์โดยสิ้นเชิง ต้องแปลกและไม่เหมือนเทคโนโลยีใด ๆ ของมนุษย์ที่เคยมี และที่สำคัญต้องแปลกแยกจากทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เราจะรู้จักได้นั่นเอง และในครั้งแรกที่ หลุยส์ (เอมี่ อดัมส์) และคนดูได้เห็นภาษานี้ พวกเขาต้องไม่รู้ว่ามันคือภาษา

จากในตอนต้นเรื่องที่ดูเหมือนว่า “การสื่อสาร” ด้วยเสียงต่าง ๆ จะไม่เป็นผล ทำให้หลุยส์คิดถึงการใช้ Visual Aid หรือสื่อทางตาที่จะทำให้ทั้งเธอและเอเลี่ยนสื่อสารกันได้มากขึ้น โดยเธออาศัยไวท์บอร์ดและเขียนคำว่า Human ลงไป ทำให้ “การติดต่อครั้งแรก” เกิดขึ้น ปรากฏเป็นภาพวงกลมคล้ายหยดหมึกสีดำนั่นเอง

แนวคิดในการสร้างภาษาเอเลี่ยนเป็น “วงกลม” นั้นเป็นสิ่งที่ เวอร์เม็ตต์ นักออกแบบงานสร้างรู้ตั้งแต่แรกจาก อีริค ไฮซ์เซอร์เรอร์ มือเขียนบทของ Arrival เพราะมันคือ “จุดสำคัญ” ที่เกี่ยวโยงกันแก่นแท้ของหนังด้วย เพราะเหล่าเฮพตาพ็อดส์นั้นไม่ได้มองเวลาเป็นเส้นตรงดั่งเช่นมนุษย์ ทำให้ภาษาของพวกเขาก็ต้องเป็นไปตามความคิดของพวกเขาด้วย แต่ในขั้นตอนแรกของการออกแบบนั้น ภาษาของเอเลี่ยนก็ยังคงวนเวียนคล้ายคลึงกับภาษาโบราณอย่าง เฮียโรกลิฟฟิค หรือภาษาโค้ด ซึ่งมันยังให้ความรู้สึกของ “มนุษย์” มากเกินไป จนกระทั่งคืนหนึ่ง มาร์ติน เบอร์แทรนต์ ภรรยาของเวอร์เม็ตต์ได้เสนอไอเดียบางอย่าง และทันใดนั้น “ภาษาเอเลี่ยน” ใน Arrival ก็ถือกำเนิดขึ้น!

 


แบ่งเป็น 12 ส่วนตามจำนวนของลำ

 

 
(ซ้าย) ภาพในแต่ละส่วนนั้นสามารถเป็นคำคำเดียวหรือจะเป็นประโยคซับซ้อนก็ได้
(ขวา) ภาพขยายของส่วนที่ 12 ในสัญลักษณ์

 

ภาพสเก็ตช์ของ เบอร์แทรนต์ ถูกนำมาใช้ในหนังจริง โดยเวอร์เม็ตต์และทีมงานอาศัยหยดหมึกค่อย ๆ สร้างภาษาของมันออกมามากกว่า 100 ภาพสัญลักษณ์ โดยในหนึ่งภาพนั้นอาจสื่อความหมายง่าย ๆ สั้นเพียงคำเดียวหรือจะเป็นประโยคที่ซับซ้อนก็ได้ อาทิ จะเป็นคำว่า “สวัสดี” เฉย ๆ หรือจะเป็นประโยคซับซ้อนอย่าง “สวัสดี หลุยส์ ฉันคือเอเลี่ยนแต่เรามาดีนะ” ก็ได้ ความแตกต่างของแต่ละภาพสัญลักษณ์อยู่ที่ “ความซับซ้อน” ของรูปร่างที่ปรากฏ อย่างเช่นว่าถ้าสัญลักษณ์มีเส้นหนาจะให้ความรู้สึกของ “ความเร่งด่วน” ส่วนเส้นที่บางจะให้ความรู้สึกปกติทั่วไป หรือการมีแง่งยื่นมาจากสัญลักษณ์จะทำให้ประโยคนั้นกลายเป็นประโยค “คำถาม” ก็ได้

แต่การคิดค้นไวยากรณ์ของเอเลี่ยนนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด (ไม่งั้นหนังก็คงเป็นหนังสั้นได้แล้ว) ทีมงานต้องอาศัยนักพัฒนาซอฟแวร์โปรแกรมทางคณิตศาสตร์อย่าง สตีเฟ่น วูล์ฟแฟรม และ คริสโตเฟอร์ วูล์ฟแฟรม ลูกชายของเธอมาวิเคราะห์ภาษาในแบบที่ หลุยส์ (เอมี่ อดัมส์) และ เอียน (เจเรมี เรนเนอร์) ทำจริง ๆ ในหนังด้วย โดยคริสโตเฟอร์เล่าว่าสิ่งที่เขาทำนั้นคือการพยายามทำความเข้าใจระบบการคิดของเอเลี่ยนและพยายามสื่อสารกับมัน เหมือนอย่างที่ตัวละครทำในหนังในสถานการณ์แบบนั้นนั่นเอง และการวิเคราะห์นั้นก็ทำให้เกิดการแบ่งสัญลักษณ์ออกเป็น 12 ส่วน ซึ่งตรงกับจำนวนของยานที่มาเยือนโลก และอาศัยซอฟต์แวร์ในการคำนวณ ซึ่งทำให้พบการเกิดซ้ำ ๆ ของตัวเลขจนกลายเป็นแพทเทิร์นนั่นเอง จนกลายมาเป็นข้อสรุปที่ว่า ถึงแม้สัญลักษณ์จะดูมีความเข้มอ่อนไม่เท่ากัน แต่จริง ๆ แล้วทุกสัญลักษณ์มีความเหมือนกัน และมีความเป๊ะมาก ทำให้มันอาจจะมีความหมายบางอย่างก็ได้

 


คำว่า "หลุยส์" ที่มีความคล้ายคลึงกับคำว่า "ชีวิต"

 

นอกจากนี้ เวอร์เม็ตต์และทีมงานก็ยังเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างคำในสัญลักษณ์ของเอเลี่ยนด้วย อย่างคำว่า “ชีวิต” นั้นก็จะมีความคล้ายคลึงกับคำว่า “หลุยส์” เพราะหลุยส์คือสิ่งมีชีวิตนั่นเอง ทั้งคริสโตเฟอร์ วูล์ฟแฟรมและแพทริซ เวอร์เม็ตต์ยังบอกอีกว่าพวกเขายังสามารถขยายจักรวาลคำศัพท์ของเอเลี่ยนต่อไปได้อีกมากด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีหนังสือ “ภาษาสากล” (Universal Language) ที่สอนภาษาของพวกเฮพตาพ็อดส์จริง ๆ อย่างในหนังก็ได้

สัมผัสความคราฟต์ที่แสนละเมียดและลึกซึ้ง พร้อมทั้งแฝงปรัชญาการใช้ชีวิตได้อย่างสวยงาม แล้วคุณจะมองหนัง “เอเลี่ยนบุกโลก” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปใน Arrival … ผู้มาเยือน วันนี้ในโรง

 

 

ที่มา Wired

 

ผู้มาเยือน

  • 12 January 2017
  • Adventure / วิทยาศาสตร์ /
  • 116 นาที
15+