HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW : น้อง.พี่.ที่รัก | คุณจะเกลียดคนในครอบครัวได้มั้ย? หนังคอมเมดี้ที่ทำน้ำตาซึม

  • 13,348
  • 10 พฤษภาคม 2018

หลังจาก บอล วิทยา ทองอยู่ยง เคยฝากผลงานหนังคอมเมดี้ครอบครัวใน บ้านฉันตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้ ซึ่งเล่นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อลูก คราวนี้เขากลับมาพร้อมหนังใหม่ที่มีกลิ่นอายความเป็นหนังครอบครัวแต่เล่าในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่ของน้อง ในหนัง น้อง.พี่.ที่รัก ผลงานล่าสุดจากค่าย GDH ที่ได้ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์-ญาญ่า อุรัสยา มารับบทพี่น้องที่มีความต่างสุดขั้วทั้งด้านการประสบความสำเร็จในการเรียน หน้าที่การงาน และ การใช้ชีวิต


น้อง.พี่.ที่รัก เป็นเรื่องราวของ ชัช พี่ชาย และ เจน น้องสาว ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ กันสองคน ชัช เป็นพี่ชายประเภทไม่เอาไหน ซกมก มักง่าย ตามแบบฉบับผู้ชาย ส่วนเจน ด้วยความที่อยู่กับพี่ชาย เธอจึงต้องทำหน้าที่เป็นแม่(ของ)บ้าน ทำความสะอาดทุกอย่าง ด้วยความต่างนี้ทำให้พี่ชายกับน้องสาวไม่เข้าใจกัน...ในมุมของพี่ชายมองว่าน้องสาวจู้จี้ขี้บ่น ในมุมของน้องสาวก็มองว่าพี่ชายเป็นคนไม่เอาไหน จนกระทั่งวันหนึ่ง เจน ได้พบกับโมจิ (นิชคุณ หรเวชกุล) หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น ที่คบกันมาเพียงไม่กี่เดือนก็ขอเจนแต่งงาน คราวนี้พี่ชายอย่างชัชจึงออกโรงขัดขวางไม่ให้ความรักครั้งนี้เกิดขึ้นและเป็นการเอาคืนน้องสาวตัวแสบด้วย


น้อง.พี่.ที่รัก ของ  บอล วิทยา ทองอยู่ยง คงเปรียบได้กับ  บ้านฉันตลกไว้ก่อนฯ ในเวอร์ชั่นตอนโต หนังมีมุกตลกสอดแทรกจากพฤติกรรมความซกมกของชัช มีพาร์ทโรแมนติกจากความรักของเจนและโมจิ และมีมุมดราม่าความสัมพันธ์น้องพี่ที่ในช่วงองก์สุดท้ายของเรื่องหนังค่อยๆเล่าให้เราซึมลงไประหว่างรอยร้าวของพี่น้องคู่นี้ สู่บทสรุปที่ทำให้เอาน้ำตาซึม...เป็นอารมณ์หนังที่หัวเราะมีความสุขในตอนแรก และ อาจจะต้องเสียน้ำตาในตอนสุดท้าย และหากคุณเป็นคนมีพี่น้องในครอบครัวจะสัมผัสมันได้อย่างเต็มหัวใจ


แม้จะมีฉากหลังเป็นกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ แต่ น้อง.พี่.ที่รัก กลับผสม ความเป็นญี่ปุ่นลงไปในหนังค่อนข้างสูง เช่นการให้พี่ชายและน้องสาว ชอบมังงะในวัยเด็ก,กีฬาเบสบอลในแบบหนังสือการ์ตูน หรือ การให้โมจิ มารับบทเป็นผู้จัดการในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่เปิดสาขาในไทย ทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น ถูกสอดแทรกเข้ามาในหนัง เช่น แบรนด์ขององค์กร,การรักษาเกียรติของบริษัท, ธรรมเนียมการเล่นกีฬาเบสบอล หรือแม้กระทั่งการประชุมงานก็เป็นไปในรูปแบบของบริษัทญี่ปุ่นเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจที่หนังเลือกหยิบมาใช้ทำให้เราได้เห็นอีกสังคมการทำงาน


ในส่วนประเด็นที่ประทับใจและเป็นพาร์ที่ดีเยี่ยมของ น้อง.พี่.ที่รัก คือส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจน กับ ชัช ที่ต่างคนต่างเล่าในมุมของตัวเองต่อสิ่งที่เคยถูกพี่-น้อง กระทำมาตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยโต ซึ่งสัจธรรมอย่างหนึ่งของการเป็นลูกที่มีพี่-น้อง นั่นคือการถูกเปรียบเทียบจากสายตาคนภายนอก เช่น น้องเรียนเก่งกว่าVsพี่เรียนห่วย,น้องเล่นกีฬาดี Vs พี่เล่นกีฬาแย่,น้องทำงานเยี่ยม-พี่ทำงานไม่เอาไหน เมื่อเปรียบเทียบแน่นอนว่าคนที่ด้อยกว่ามักจะมีความรู้สึกในใจที่ตัวเองโดนกด ในขณะเดียวกันคนที่ดีกว่าก็มักจะมีอารมณ์เป็นห่วงใยว่าเมื่อไหร่เขาจะพัฒนาตัวเอง ด้วยความไม่ลงรอยนี้ทำให้ ระหว่างความสัมพันธ์ของพี่น้อง ร้าวขยายใหญ่ขึ้นเมื่อมีการก้าวล้ำเส้นไปในพื้นที่ของอีกฝ่าย การทะเลาะ จึงเกิดขึ้น นำไปสู่บาดแผลใหญ่ที่อาจจะสมานไม่ติดหากไม่ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน  

 

น้อง.พี่.ที่รัก อาจจะมีหน้าหนังที่ตลกอารมณ์ดี แต่อีกมุมหนึ่งคือหนังครอบครัวที่เราอยากให้คนเป็นพี่น้องได้ไปดูเพื่อเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งว่าเขารู้สึกอย่างไร ในขณะที่พ่อแม่ก็จะเข้าใจด้วยว่า บางความรู้สึกของการเป็นพี่น้องไม่จำเป็นว่า พี่น้องต้องรักกันเพียงอย่างเดียว ในบางครอบครัวพี่น้องทะเลาะกันจนถึงขั้นแตกหักก็มี...หนังเรื่องนี้อาจจะสอนและให้บทเรียนคุณได้ว่า แม้พี่ชาย น้องสาวเราจะทำผิดขนาดไหน แต่ บางครั้งเราก็ไม่อาจเกลียดคนในครอบครัวได้ลงหรอก..จริงมั้ย??

 

น้อง.พี่.ที่รัก

  • 10 May 2018
  • Adventure / ตลก /
  • 124 นาที
15+