HIGHLIGHT CONTENT

เตรียมพบกับหนังคุณภาพสัญชาติไต้หวันและไทย 10 เรื่อง 10 รส ใน Taiwan Film Festival in Bangkok 2018

  • 4,634
  • 18 ธ.ค. 2017

Taiwan Film Festival in Bangkok 2018

กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน (Ministry of Culture (Taiwan)) และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) และ โรงภาพยนตร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต จัด “เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน ประจำปี 2561” (Taiwan Film Festival in Bangkok) คัดเลือกหนังสัญชาติไต้หวันคุณภาพ 8 เรื่อง 8 รส รวมถึงหนังไทย 2 เรื่องเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและประเทศไทย

 

1.Hang in There, Kids! (只要我長大)

เริ่มจากภาพยนตร์ไต้หวันเปิดเทศกาลฯ เรื่อง Hang in There, Kids! (只要我長大) เรื่องราวของเด็กชนพื้นเมือง 3 คนที่เติบโตท่ามกลางภูเขาและป่าไม้ แต่ละคนมีปัญหาที่บ้านต่างกันไป แต่พวกเขาก็ยังมองโลกในแง่ดี และเปี่ยมล้นด้วยพลังของวัยเด็ก วันหนึ่งเด็กๆแอบได้ฟังเสียงร้องเพลงอันไพเราะของครูสาวขาพิการจากเทปที่ครูแอบซ่อนไว้ พวกเขาจึงตัดสินใจนำเทปนี้เข้าสู่เมืองหลวงไทเป ผลงานกำกับของ Chen Chieh-Yao (陳潔瑤) ผู้กำกับหญิงชนพื้นเมืองคนแรกในไต้หวัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนของไต้หวันในการส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2016

 

2.A Fish out of Water (上岸的魚)

ถัดมาสู่ภาพยนตร์เรื่อง A Fish out of Water (上岸的魚) ภาพยนตร์ชีวิต เรื่องราวของครอบครัวคู่สามีภรรยาที่กำลังระหองระแหงเนื่องจากพ่อสามีป่วยหนักจนดูแลตัวเองไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ลูกชายวัยอนุบาลของพวกเขาก็ยังเรียกร้องให้ออกตามหาพ่อแม่จาก ‘ชาติก่อน’ ที่อาศัยในหมู่บ้านประมงริมทะเล ผลงานกำกับของ Lai Kuo-An (賴國安) ผู้กำกับโฆษณาและมิวสิควิดีโอที่ผันตัวมาจับงานภาพยนตร์เรื่องแรก ภาพยนตร์ฉายเปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต

 

3.Godspeed (一路順風)

ต่อมาคือภาพยนตร์แนวชีวิตแฝงตลกร้ายเรื่อง Godspeed (一路順風)  เรื่องราวของชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตเสเพล คอยลักขโมยของประทังชีวิตไปเรื่อย วันหนึ่งเขาตัดสินใจทำงานอันมั่นคงงานแรกคืองานส่งของ แต่โชคก็เล่นตลกเมื่อของนั้นคือเฮโรอีนราคาแพง ตอนเช้าของทุกวัน เขาต้องนั่งแท็กซี่ไปส่งของให้ถึงมือเพื่อนสนิทของเจ้านายแล้วขึ้นรถแท็กซี่คันเดิมกลับ เรื่องเริ่มยุ่งเหยิงขึ้น เมื่อวันหนึ่งเขากับคนขับแท็กซี่ถูกลากเข้าไปพัวพันกับการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอันธพาล นำแสดงโดย Na-Dou Lin (納豆) กับ Michael Hui (許冠文) นักแสดงและตลกสัญชาติฮ่องกง สมทบด้วย วิทยา ปานศรีงาม นักแสดงชาวไทย กำกับโดย Chung Mong-Hong (鍾孟宏)

 

4.Missing Johnny (強尼.凱克)

Missing Johnny (強尼.凱克) เรื่องราวชวนหัวของคนแปลกหน้าสามคน หญิงเลี้ยงนกแก้วที่ได้รับสายจากคนโทรผิดอย่างต่อเนื่อง ชายหนุ่มที่รถสุดที่รักของเขาพัง และวัยรุ่นออทิสติกที่พยายามเป็นอิสระจากแม่ของเขา หลังจากนกแก้วของหญิงสาวหายไป ก็เกิดเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงคนทั้งสามเข้าด้วยกัน ภาพยนตร์ได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ไทเป โดยผู้กำกับหญิง Huang Xi (黃熙) หันมากำกับภาพยนตร์เองเป็นเรื่องแรก หลังร่วมงานกับผู้กำกับมากฝีมืออย่าง Hou Hsiao-Hsien (侯孝賢) มาหลายครั้ง

 

5.Ode to Time (四十年)

เปลี่ยนแนวมาที่ภาพยนตร์สารคดี Ode to Time (四十年)  ที่จะพาสำรวจการกลับมารวมตัวกันของนักดนตรีวงโฟล์กร็อกที่เคยโด่งดังสุดขีดในยุค 70 เพื่อจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกในรอบ 40 ปี พวกเขาแต่งเพลงที่สะท้อนความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีนในยุคนั้นผสมกับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกา บ้างก็พูดถึงจิตวิญญาณของชนพื้นเมือง บทเพลงซึ่งพวกเขาเขียนขึ้นในวัยรุ่นครั้งหนึ่งเคยเปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรมเพลงป๊อปของไต้หวัน เพลงเหล่านี้จะยังคงเชื่อมโยงกับยุคสมัยปัจจุบันและขับเคลื่อนพลังในตัวคนรุ่นใหม่ได้อยู่หรือไม่ ผลงานกำกับของ Hou Chi-Jan (侯季然) จาก One Day และ When a Wolf Falls in Love with a Sheep ภาพยนตร์ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว

 

6.White Ant (白蟻─慾望謎網)

สำหรับภาพยนตร์เรื่องที่หก คือ White Ant (白蟻─慾望謎網) เรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีความหมกมุ่นส่วนตัวในการสวมใส่ชุดชั้นในผู้หญิง วันหนึ่งเขาได้รับซีดีที่บันทึกภาพเขาขณะขโมยชุดชั้นในคนข้างบ้าน หลังจากนั้นชีวิตเขาก็เริ่มยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ ผลงานการกำกับของ Chu Hsien-Jer (朱賢哲) ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการสารคดีมามากกว่า 20 ปี ก่อนจะหันมากำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในแง่การสำรวจจิตใจอันมืดหม่นของมนุษย์ รวมถึงถูกคัดไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทเป

 

7.The Laundryman (青田街一號)

ต่อมาคือภาพยนตร์แนวตลกแอ็คชั่นเรื่อง The Laundryman (青田街一號) เมื่อนักฆ่ามือดีถูกผีเหยื่อในอดีตของเขาตามหลอกหลอน เจ้านายสุดสวยของเขาที่เปิดร้านซักรีดบังหน้าจึงแนะนำคนทรงหญิงที่สามารถช่วยกำจัดผีให้เขาได้ แต่แล้วคนทรงหญิงก็ดันรู้เข้าว่าร้านซักรีดอาจไม่ใช่แค่ร้านซักรีดธรรมดา มันเก็บความลับไว้มากกว่าที่เธอคิด ผลงานกำกับเรื่องแรกของ Lee Chung (李中) นำแสดงโดย Chang Hsiao-chuan (Joseph Chang - 張孝全)  จากเรื่อง Girlfriend Boyfriend และ Eternal Summer, Sonia Sui (隋棠) และ Wan Qian (万茜)

 

8.A Brighter Summer Day (牯嶺街少年殺人事件)

และนอกเหนือจากภาพยนตร์ใหม่ ๆ แล้ว ทางเทศกาลฯ ขอเสนอภาพยนตร์สุดคลาสสิกปี 1991 ของเอ็ดเวิร์ด หยาง (楊德昌) ชื่อ A Brighter Summer Day (牯嶺街少年殺人事件) ที่เพิ่งได้รับการบูรณะมาใหม่ ภาพยนตร์ความยาวสี่ชั่วโมงได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงในวัยเด็กของผู้กำกับเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นไต้หวันช่วงต้นยุค 60  เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างแก๊งค์คู่อริสองกลุ่ม เนื่องจากแฟนสาวของเด็กหนุ่มวัย 14 ปีได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหัวหน้าของกลุ่มอริด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ความขัดแย้งนี้ได้นำทุกคนไปสู่จุดจบที่รุนแรง ภาพยนตร์สุดอมตะเรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากจากผู้ชมทั่วโลก

 

9.นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination) 

นอกจากภาพยนตร์คุณภาพจากไต้หวัน ยังมีภาพยนตร์ไทยที่เทศกาลฯ นำมาฉายคือเรื่อง นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination) ภาพยนตร์สารคดีจากผู้กำกับฝีมือแรง วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เรื่องราวการสูญสิ้นของโรงหนังสแตนด์อโลนในประเทศไทย ส่งผลให้ทักษะของคนฉายหนังของกลายเป็นสิ่งไร้ค่า สารคดีได้รับรางวัลชมเชยในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และได้รับการคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์ไทเปอีกด้วย

 

10.น้ำพุ (The Story of Nampu)

และภาพยนตร์ไทยสุดอมตะปี พ.ศ. 2527 เรื่อง น้ำพุ (The Story of Nampu) เรื่องราวที่สร้างจากหนังสือซึ่งอ้างอิงจากประสบการณ์จริง เด็กชายชื่อ น้ำพุ เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา เขาเลือกเส้นทางชีวิตผิดพลาดหลังหันเข้าหายาเสพติด กว่าแม่ของน้ำพุจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว ภาพยนตร์นำแสดงโดย อำพล ลำพูน วรรษมน วัฒโรดม กำกับโดยยุทธนา มุกดาสนิท ภาพยนตร์สะท้อนสังคมเรื่องนี้เป็นตัวแทนของประเทศไทยการส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้น

 

เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน มีขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ในราคา 160 บาท ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง “A Brighter Summer Day” จะจำหน่ายในราคา 250 บาท เนื่องจากภาพยนตร์มีความยาวถึง 4 ชั่วโมง ภาพยนตร์ไต้หวันทุกเรื่องจัดฉายพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษและไทยทุกเรื่อง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉายและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.majorcineplex.com

 

-----------------------------------------

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ในเทศกาล
1. Hang in There, Kids! (只要我長大) 
รอบฉายวันที่ 19 ม.ค. เวลา 17.30 น.

2. A Fish Out of Water (上岸的魚) 
รอบฉายวันที่ 20 ม.ค. เวลา 16.00 น. และ 22 ม.ค. เวลา 15.30 น.

3. Godspeed (一路順風) รอบฉายวันที่ 19 ม.ค. 
เวลา 15.30 น. และ 21 ม.ค. เวลา 14.00 น.

4. Missing Johnny (強尼.凱克) 
รอบฉายวันที่ 20 ม.ค. เวลา 14.00 น. และ 23 ม.ค. เวลา 20.00 น.

5. Ode to Time (四十年) 
รอบฉายวันที่ 19 ม.ค. เวลา 19.30 น. และ 21 ม.ค. เวลา 19.30 น.

6. White Ant (白蟻─慾望謎網) 
รอบฉายวันที่ 19 ม.ค. เวลา 13.30 น. และ 21 ม.ค. เวลา 17.30 น.

7. The Laundryman (青田街一號) 
รอบฉายวันที่ 18 ม.ค. เวลา 16.30 น. และ 23 ม.ค. เวลา 17.40 น.

8. A Brighter Summer Day (牯嶺街少年殺人事件) 
รอบฉายวันที่ 18 ม.ค. เวลา 19.00 น. และ 22 ม.ค. เวลา 19.00 น.

9. นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination) 
รอบฉายวันที่ 21 ม.ค. เวลา 16.00 น. และ 22 ม.ค. เวลา 17.30 น.

10. น้ำพุ (The Story of Nampu) 
รอบฉายวันที่ 20 ม.ค. เวลา 19.30 น. และ 23 ม.ค. เวลา 15.00 น.