HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW: Birdman กับดักของตัวตนบนเวทีชีวิต

  • 13,763
  • 04 มี.ค. 2015

Birdman กับดักของตัวตนบนเวทีชีวิต

โดย There is a Light That Never Goes Out

 

 

จากเวที Producers Guild Awards จนถึง Directors Guild Awards และล่าสุดบนเวทีออสการ์ Birdman หรือในชื่อเต็มว่า Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) เรียกได้ว่าเฉิดฉายกว่าหนังเรื่องไหนในรายชื่อผู้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนี้ ที่ถึงแม้ช่วงแรกจะถูกกระแส Boyhood หนังมหากาพย์ที่ถ่ายทำยาวนานถึง 12 ปีของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ กลบไปบ้าง แต่ก็กลับมาเปล่งประกายได้ในที่สุด

หากถามว่าทำไม Birdman ถึงโดดเด่น คำตอบคงมีเป็นสิบข้อ แต่ชัดเจนเหลือเกินว่าเหตุผลหลักคงไม่พ้นทัศนคติแบบกล้าได้กล้าเสียของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ผู้กำกับชาวเม็กซิโกวัย 51 ปีที่หนังยาว 4 เรื่องของเขาก่อนจะมาถึงเรื่องนี้ ตั้งแต่ Amores Perros, 21 Grams, Babel และ Biutiful ทุกเรื่องมีคาแรคเตอร์คล้ายกันหมด นั่นคือหนังดราม่าหลากชีวิตหนักๆ ที่องค์ประกอบหลักคือความบัดซบของชีวิตและความตาย พูดง่ายๆ คือทุกเรื่องต้องมีคนตาย หรือดูแล้วอยากตาย ยกเว้นเรื่องล่าสุดนี้ที่เขาโละวิธีการทำหนังและวิธีการเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมด ทำให้ Birdman กลายเป็นหนังที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ ท้าทายทั้งคนทำและคนดู รู้สึกได้ถึงพลังงานที่ส่งออกมาทางจอภาพยนตร์ ทั้งพลังงานในการกำกับที่ล้นเหลือ การถ่ายภาพที่ฉลาดหลักแหลม บทภาพยนตร์ฝีมือทีมเดิมจาก Biutiful ที่เข้มข้น เด็ดขาด เฉียบคม และสนุกเอามากๆ (อินาร์ริตู, นิโคลัส จิอาโคโบเน, อเล็กซานเดอร์ ดิเนลาริส และ อาร์แมนโด โบ ควรค่าแก่รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมเป็นอย่างยิ่ง) องค์ประกอบศิลป์ที่น่าตื่นตา และการแสดงขั้นเทพแบบยกทีม เรียกได้ว่าเทหมดหน้าตัก เป็นเรื่องแรกที่อินาร์ริตูเปลี่ยนแนวทางการทำหนังจากคอนเทนต์นำฟอร์มเป็นฟอร์มนำคอนเทนต์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหนังเอาแต่โชว์เทคนิคแต่อย่างใด Birdman ยังคงเป็นหนังที่มีตัวละครชีวิตพังมาปะทะสังสรรค์กันเหมือนเดิม แต่ด้วยน้ำเสียงใหม่ ถือว่าอินาร์ริตูกล้าหาญมากที่ตัดสินใจเดินออกไปสู่พื้นที่ใหม่ และเลือกที่จะไม่จมอยู่ที่เดิม

 

 

Birdman เล่าเรื่องของ ริกเกน ธอมสัน (ไมเคิล คีตัน) นักแสดงเจ้าของบทซุปเปอร์ฮีโร่ไตรภาคอันโด่งดังอย่าง "เบิร์ดแมน" ที่ตกอับและไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป (ล้อกับเรื่องจริงที่คีตันเคยรับบทแบทแมนในหนังเวอร์ชั่น ทิม เบอร์ตัน ปี 1990) ริกเกนกำลังกำกับและนำแสดงในละครเวทีบรอดเวย์ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เรื่อง What We Talk About When We Talk About Love โดยมีผู้ร่วมทีมอย่าง เจค (แซค กาลิเฟียนาคิส) โปรดิวเซอร์สุดทุ่มเท, เลสลี่ (นาโอมิ วัตส์) นักแสดงสาวที่กำลังทำความฝันในการเล่นละครบรอดเวย์ให้เป็นจริง, ลอร่า (แอนเดรีย ไรส์เบอโรห์) นักแสดงสาวอีกคนที่เป็นคนรักคนปัจจุบันของริกเกน, สามีของเลสลี่ที่ชื่อ ไมค์ (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) นักแสดงหนุ่มอีโก้จัดและเจ้าปัญหาที่มีมุมมองต่อการแสดงในแบบแปลกๆ ไม่เหมือนใครจนสร้างความปั่นป่วนชวนปวดตับปวดไตไปทั้งโรงละคร และ แซม (แอ็มม่า สโตน) สาวบลอนด์ลูกสาววัยรุ่นของริกเกนที่เพิ่งออกมาจากสถานบำบัดยาเสพติดและโดนลากมาเป็นผู้ช่วยในโปรดักชั่น เหตุการณ์วินาศสันตะโรในหนังเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสามวันก่อนละครจะเปิดแสดงจริง ทั้งลอร่าที่อยู่ๆ ก็บอกริกเกนว่าตัวเองท้อง เจคที่ต้องคอยวิ่งวุ่นแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่างให้ริกเกน หนึ่งในนักแสดงเกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องหาคนมาแทน ไมค์ที่พยายามจะปล้ำเลสลี่ในฉากเพื่อความสมจริง การแสดงรอบพรีวิวที่เละเทะไม่เป็นท่า ประตูเจ้าปัญหาที่ทำให้ริกเกนต้องอยู่ในสภาพสวมกางเกงในสีขาวตัวเดียวกลางไทม์สแควร์ และเหตุการณ์สุดป่วงอื่นๆ สารพัดจะบรรยาย

แต่ที่หนักหนาที่สุดคือตัวริกเกนเองที่เรียกได้ว่ากำลังประสบวิกฤติวัยกลางคนอย่างเต็มขั้น หนังเปิดฉากแรกมาด้วยภาพริกเกนในกางเกงในสีขาวนั่งขัดสมาธิลอยอยู่กลางอากาศ พร้อมกับเสียงวอยซ์โอเวอร์ของ "เบิร์ดแมน" ที่เอาแต่พูดกรอกหูเขาว่า "แกน่ะชีวิตพัง" ริกเกนถูกเสียงดังกล่าว -ซึ่งในทางหนึ่งคืออัลเตอร์อีโก้ของเขา- ดูดเข้าไปในวังวนแห่งความสับสน ทำให้เขาติดกับดักที่เขาสร้างขึ้นเอง

ริกเกนเป็นดาราที่จมไม่ลง ทำตัวไม่ถูกกับการที่เคยเป็นคนสำคัญแต่วันหนึ่งกลายเป็นคนธรรมดา เขาพยายามสร้างคุณค่าของตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยละครเรื่องนี้ แต่ก็ถูกคนรอบตัวเบือนหน้าหนี โดยเฉพาะแซมลูกสาวของเขาที่เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ของหนังที่พ่นคำปาฐกฐาเตือนสติกระแทกหน้าพ่อจนแทบช็อค บทภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยลูกเล่นแพรวพราวทำให้เรื่องของริกเกนกลายเป็นละครซ้อนละครซ้อนหนัง และตัวละครริกเกนเองก็แสดงให้เห็นภาพว่า มีคนเปลือยๆ ซ้อนอยู่ในริกเกน ซ้อนอยู่ในเบิร์ดแมน ซ้อนแบทแมน และซ้อนตัวคีตันเองอีกที เอาเข้าจริงแล้วนี่เป็นหนังที่สามารถเทียบเคียงกับชีวิตมนุษย์ทั่วไปได้ง่ายๆ แต่อินาร์ริตูเลือกตัวละครที่เป็นดาราเพราะเข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดสุด (ถ้ายังเป็นอินาร์ริตูคนเดิมคงไม่ได้คิดอยากเข้าหามวลชนขนาดนี้)

 

 

การที่คนดังอย่างริกเกนจมไม่ลง ก็อาจจะไม่ต่างจากคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่มีความภูมิใจในตัวเอง (หรือผลงาน หรือรูปร่างหน้าตาของตัวเอง) เป็นอาภรณ์ แล้วเอามันมาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิตจนกลายเป็นว่าถ้าวันหนึ่งงานที่ทำสูญสลายหรือผิดแผกไปจากความตั้งใจเดิม ตัวตนของเราคนนั้นอาจจะแตกสลายลงไปด้วย เราเสพติดเปลือกของตัวเอง เปลือกของความสมบูรณ์แบบ เปลือกของชื่อเสียง การยอมรับ การนับหน้าถือตา ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ซึ่งพูดกันตรงๆ แล้วคนที่เป็นแบบนี้ก็มีอยู่ทั่วไป ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็เป็นคนดังได้ใน 15 วินาที ต่างกันเพียงว่าเราหลงมัวเมากับมันมากหรือน้อยเพียงใด แล้วมันทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างมากแค่ไหน

ในกรณีของริกเกน สิ่งที่เขาเป็นทำร้ายทุกอย่างและทุกคนทั้งในระดับตื้นอย่างเรื่องการงาน และในระดับที่ลึกซึ้งกว่าอย่างเรื่องความสัมพันธ์ที่หนังซ่อนคำถามไว้ภายใต้ความตลกอย่างร้ายกาจยิ่ง เหมือนกับหนังเรื่องก่อนหน้าของอินาร์ริตูที่นอกจากจะพูดเรื่องความตายกันแบบโต้งๆ แล้วยังมีการพูดเรื่องความเหงาด้วย ความสัมพันธ์ของริกเกนและคนรอบข้างโดยเฉพาะ ซิลเวีย (เอมี่ ไรอัน) ภรรยาเก่าของเขา และแซม (ฉากอารมณ์ระหว่างแซมกับริกเกนในช่วงท้ายของหนังซึ้งจับใจทีเดียว) วางอยู่บนพื้นฐานของการให้และการเรียกร้องที่จะได้รับ เป็นสามเหลี่ยมที่มีทั้งมุมของความรัก ความปราถนา และความเปลี่ยวเหงา ชวนให้นึกถึงตัวละครนักบวชใน 21 Grams, สาวญี่ปุ่นหูหนวกใน Babel, เมียเก่าของพระเอกใน Biutiful, เลสลี่ที่อยากให้ตนเป็นที่ยอมรับในวงการละครบรอดเวย์ และตัวละครที่ริกเกนแสดง ที่มักจะเรียกร้องหาความรักความเข้าใจจากคนใกล้ตัวมากเกินไปจนตัวเองต้องแตกสลาย แต่จะเรียกร้องให้พวกเขาสร้างความรักขึ้นมาเองก็คงจะเจ็บปวดเกินไป เพราะอย่าลืมว่าในขณะที่บางคนเกิดมาเป็นผู้ให้ บางคนนั้นต่อให้พยายามถึงที่สุดแล้วกลับเป็นได้แค่ผู้รับ

 

- คนที่เป็นแบบนี้มีอยู่ทั่วไป ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็ดังได้ใน 15 วินาที
ต่างกันเพียงว่าเราหลงมัวเมากับมันมากหรือน้อยเพียงใด
แล้วมันทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างมากแค่ไหน -

 

นอกจากความหนักของบทในฝั่งดราม่าแล้ว ฝั่งตลกเสียดสีก็ไม่น้อยหน้า เพราะจัดเต็มกันทีเดียวกับบทสนทนาจิกกัดสังคมฮอลลีวู้ดและบรอดเวย์ ในหนังมีการเอ่ยถึงชื่อดาราชื่อดังมากมายซึ่งเรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้ชะงัดนัก ทั้ง จอร์จ คลูนีย์, วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน, ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์, เจเรมี เรนเนอร์ และกระทั่ง จัสติน บีเบอร์! รวมทั้งยังมีการพูดถึงโรงละครอยู่เนืองๆ ทั้งโรงละคร St. James ที่ทีมของริกเกนกำลังทำการแสดงอยู่ และย่านโรงละครในนิวยอร์คโดยรวม (การที่หนังถ่ายทำในสถานที่จริงก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การจิกกัดครั้งนี้สนุกสนานขึ้น) และที่สำคัญคือบทของ ลินด์เซย์ ดันแคน นักแสดงรุ่นเดอะที่มาในบทนักวิจารณ์ละครสายแข็งในหน้าศิลปะวัฒนธรรมของ The New York Times ที่ขึ้นชื่อว่าโหดมาก ปากจัด และมีอิทธิพลสุดๆ แบบที่ว่า ถ้าเขียนด่าใครลงหน้าวิจารณ์ ละครเรื่องนั้นจะไม่มีวันได้ผุดได้เกิด ในแง่หนึ่งหนังใช้ตัวละครของดันแคนจิกกัดตัวตนของริกเกนที่ยังสำคัญตนผิดคิดว่าตัวเองมีความหมาย แต่ในอีกแง่หนึ่งหนังก็ให้ริกเกนจิกกัดวัฒนธรรมการวิจารณ์ด้วยเช่นกัน ผ่านบทสนทนาที่ตื่นเต้น สนุกสนาน และชวนให้ลุ้นว่าใครจะโดนตบคว่ำก่อน เมื่อริกเกนชี้หน้าด่าเธอว่า "ขี้เกียจตัวเป็นขน แค่ตัดสินตีตรากันด้วยคำง่ายๆ คำเดียวแล้วก็จบงาน"

 

 

ความตลกเสียดสีของอินาร์ริตูไม่ได้มีแค่ในบทภาพยนตร์ แต่เลยเถิดไปถึงการออกแบบการถ่ายทำที่ถูกวางแผนอย่างมีชั้นเชิงให้ทุกฉากเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ ด้วยเทคนิคลองเทคที่ เอมมานูเอล ลูเบซกี้ ตากล้องดีกรีสองออสการ์ผู้นี้นิยมและเก่งกาจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (ฉากลองเทคสุดบ้าคลั่งทั้งสองฉากใน Children of Men ของ อัลฟองโซ กัวรอง จากฝีมือลูเบซกี้ยังประทับใจมิรู้ลืม) คราวนี้ลูเบซกี้ถ่ายลองเทคทั้งเรื่อง ใช้การเคลื่อนกล้องที่เลื่อนไหลแต่ไม่เวียนหัวหนักมากนัก และปิดท้ายด้วยช็อตนิ่งๆ อันดีงาม 2-3 ช็อตในตอนจบ (ชวนให้นึกถึงผลงานของเขาเวลาทำงานร่วมกับ เทอร์เรนซ์ มาลิค ใน The Tree of Life และ To The Wonder ที่เต็มไปด้วยฉาก Landscape สวยๆ) เชื่อมกันแบบเนียนๆ ด้วยคัทดำไม่เกิน 1 วินาทีแทรกระหว่างที่ตัวละครเปิดปิดประตู และฉาก Time lapse ท้องฟ้ายามรุ่งสางที่มาคู่กับตึกรามในมหานครนิวยอร์ค ซึ่งนอกจากจะเป็นการเล่นสนุกกับเทคนิคด้านภาพแล้ว ยังเป็นการชูให้หนังมีจังหวะจะโคนที่คลุ้มคลั่งขึ้น เหมือนคนวิ่งรอบสนามไม่หยุดเป็นเวลาสองชั่วโมง ทำให้คนที่ดูจบพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เหนื่อยจังวะ" เพราะหนังไม่มีช่วงพักหายใจเลย ซึ่งเอาเข้าจริงก็เหมาะสมดีแล้วกับเรื่องราวป่วงประสาทของริกเกนที่ตลอดระยะเวลาสามวันในหนัง เขาเองก็ไม่ได้พักเหนื่อยเลยเหมือนกัน

พ้นไปจากการสไตล์และเทคนิคถ่ายภาพที่โดดเด่น หนังเรื่องนี้ยังมีการออกแบบเชิงเทคนิคที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งโทนสีและบรรยากาศของหนังทั้งเรื่องที่ออกมาในแนวหม่นและเต็มไปด้วยหมอกควัน ทั้งควันจากน้ำแข็งแห้งบนเวที ควันบุหรี่ ควันจากเครื่องจักรนอกโรงละคร และความฟุ้งของแดดที่ต้องกระทบกับละอองฝุ่นในห้องพักนักแสดงของริกเกน, งานใหญ่อย่างการจัดแสงและการเติมลูกเล่นของไฟนีออนที่ควบคุมได้ดีไม่มีที่ติ (เกินครึ่งหนึ่งของหนังถ่ายทำแบบ Low key ภายในห้องมืดๆ และซอกตึกยามค่ำคืน) และดนตรีประกอบที่มีแต่เสียงโซโล่กลองชุดจากผลงานของ อันโตนิโอ ซานเชซ ที่สร้างความตื่นเต้น โฉ่งฉ่าง แตกต่าง ชวนขัน ไม่ธรรมดาสามัญ และช่วยดึงความกวนประสาทของหนังออกมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

 

 

สุดท้ายแล้วหากถามว่า Birdman จะเป็นหนังออสการ์แบบไหน ระหว่างหนังที่เมื่อผ่านพ้นรอบปีไปจะถูกลืมเลือนกับหนังที่จะเป็นที่จดจำ สำหรับผู้เขียนเองคิดว่าเป็นอย่างหลัง เพราะนี่คือหนึ่งในหนังของยุคสมัย ด้วยเหตุผลแรกที่ว่า ในยุคนี้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยความตลกร้ายในสายเลือด เราไม่หลงใหลหนังดราม่าน้ำตาแตกแบบที่ไม่มีความเป็นจริงรองรับอีกต่อไป ในขณะเดียวกันเราสนุกที่ได้เสียดสีและหัวเราะร่วนให้กับความลักลั่นของสังคมเมือง และเหตุผลที่สองคือ เพราะนี่เป็นยุคของคนเหงา ยุคที่เราต้องการถูกมองเห็น ยุคที่เราไม่อยากเป็นคนธรรมดา Birdman สะท้อนภาพคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกับดักของตัวตนบนเวทีละครเสมือนจริงที่พวกเขาจินตนาการขึ้นมาเอง ยอดวิวบน YouTube อาจเป็นตัวชี้วัดความป๊อปปูลาร์ จำนวนตั๋วที่ริกเกนขายได้อาจเป็นตัวชี้วัดว่าเขาเป็นศิลปินที่น่าชื่นชมไหม จำนวนคอลัมน์ที่เขาได้ปรากฏตัวในสื่ออาจเป็นตัวชี้วัดว่านักเขียนนักวิจารณ์ชื่นชอบเขาแค่ไหน หรือทั้งหมดนี้อาจเป็นตัวเลขที่ไม่มีค่าอะไรเลย

เหมือนกับที่ตัวละครของ เจสซี บอล นักเขียนชาวอเมริกันร่วมสมัยเคยกล่าวไว้ในนวนิยายเรื่อง The Curfew ว่า "ไม่ว่าเขาจะทำหรือไม่ทำอะไรมันก็ไม่มีความหมายทั้งนั้น ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครที่สำคัญ ไม่มีสักคนเดียว"

มายาดาว

  • 19 February 2015
  • Adventure / ตลก / ชีวิต /
  • 119 นาที
15+