HIGHLIGHT CONTENT

รวมบทสัมภาษณ์จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง เรื่องจริงจาก NOTRE-DAME ON FIRE

  • 942
  • 01 มิ.ย. 2022

 

รวมบทสัมภาษณ์จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง

เรื่องจริงจาก NOTRE-DAME ON FIRE

 

 

สัมภาษณ์: นักผจญเพลิง | กัปตัน ฟรังค์

ภาพยนตร์ของผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์

ย้อนกลับไปในคืนอันน่าระทึกขวัญที่นักผจญเพลิงปารีสได้ช่วยกันกอบกู้มหาวิหารนอเทรอดามไว้ คุณในฐานะผู้ที่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง พบว่าเนื้อหาในภาพยนตร์นั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่คุณได้เจอในวันนั้นไหม

ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นน่าทึ่งอย่างถึงที่สุด พวกเขามีการผสมผสานระหว่างฟุตเทจที่ถ่ายทำขึ้นมาใหม่ กับฟุตเทจจริงที่บันทึกภาพเหตุการณ์ในเย็นวันนั้นไว้โดยเหล่านักผจญเพลิงและผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในย่านนั้น ผมพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราได้สัมผัสและดื่มด่ำกับบรรยากาศของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นอย่างสมบูรณ์ และมันยังทำให้ผมได้หวนคิดถึงความรู้สึก และช่วงเวลาที่ผมได้ทำภารกิจกับเหล่าเพื่อนๆ ผู้กล้าในคืนวันนั้น

 

ในภาพยนตร์ตัวละครของคุณได้มีบทบาทในการช่วยกอบกู้วัตถุศักดิ์สิทธิ์ชิ้นสำคัญอย่าง มงกุฎหนาม (Crown of Thorns) (มงกุฎที่พระเยซูถูกบังคับให้สวมใส่) นั่นเป็นฉากที่ทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งในภาพยนตร์

ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ สนใจในเรื่องนี้ที่ผมได้เล่าให้เขาฟังเป็นอย่างมาก เขามองว่าภารกิจนี้ของผมเป็นความพิเศษที่เฉพาะเจาะจงมากๆ มันเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสช่วยรักษาสมบัติอันล้ำค่าของโลกชิ้นนี้ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของเปลวเพลิง เราพูดคุยถึงประเด็นนี้กันอยู่นานขณะอยู่ในช่วงที่เขากำลังเตรียมขั้นตอนงานสร้าง เพื่อให้ได้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ถูกต้องตามจริงที่สุด

 

ในภาพยนตร์ นักแสดง ดิมิทรี สโตโรเก มารับบทเป็นคุณ คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้เห็นคนอื่นมาแสดงในบทบาทคาแรคเตอร์ที่เป็นคุณ

มันพาลทำให้ผมนึกต่อยอดและอยากรู้มากกว่าว่า ตัวละครของผมในภาพยนตร์นั้นได้ทำสิ่งต่างๆ เหมือนกันกับที่ผมได้ทำไปในคืนวันนั้นไหม เหตุการณ์มันผ่านมา 3 ปีแล้ว ผมเองก็เริ่มลืมบางช่วงในวันนั้นไปบ้างแล้วเหมือนกัน ผมอยากเห็นว่าผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ จะนำเรื่องที่เราคุยกันมาเล่าเป็นฉากในภาพยนตร์อย่างไร ซึ่งเรื่องราวที่ออกมานั้นก็ตรงกันกับที่ผมได้เผชิญหน้ากับตัวเองจริงๆ เหมือนกัน แม้ว่าจะมีการเรียงลำดับเหตุการณ์-ลำดับเวลาใหม่ในบางจุด แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในด้านภาพยนตร์ให้แก่ผู้ชม

 

ย้อนกลับไปในวันที่ 15 เมษายน อยากให้คุณเล่าถึงภารกิจการช่วยรักษา มงกุฎหนาม อันเป็นวัตถุชิ้นสำคัญของมหาวิหาร

มันเป็นงานที่ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก กับอันที่จริงผมอยากจะบอกว่า เหล่านักผจญเพลิงในปารีสทุกคนล้วนได้รับการฝึกฝนมาให้ต้องกอบกู้ทุกอย่างที่สำคัญในภายในจุดเกิดเหตุอยู่แล้ว ภาพจำของหลายๆ คนคือนักผจญเพลิงมีหน้าที่ดับไฟหรือช่วยชีวิตคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เสมอไป เพราะในวันนั้นผมและเหล่าเพื่อนนักผจญเพลิงได้รับหน้าที่ให้เข้ามากอบกู้งานศิลปะต่างๆ ในมหาวิหาร ถือได้ว่าเป็นภารกิจที่สำคัญมากๆ ต่อหน่วยทีมของผม

 

พวกคุณทุกคนล้วนตระหนักดีถึงความสำคัญของภารกิจในการกอบกู้วัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญสุดของคริสตจักรจากเปลวเพลิงที่กำลังลุกท่วม

หลังจากที่ได้รับแจ้งเหตุ ผมเริ่มคิดถึงแผนการเข้ากอบกู้ในทันที เพราะนั่นคือวัตถุชิ้นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มงกุฎหนาม ไม่ได้เป็นวัตถุชิ้นเดียวที่เราจะเข้าไปกอบกู้ เพราะเรายังต้องดูแลและปกป้องผลงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะทั้งภายในตัวมหาวิหารหรือในอาคารที่อยู่ติดกัน ในขณะเดียวกันแผนการของเราคือต้องลดความเสี่ยงและลดความอันตรายให้กับหน่วยทีมนักผจญเพลิงอย่างมากที่สุดด้วยเช่นกัน เพราะมันคงไม่คุ้มแน่ ถ้าสุดท้ายเราต้องสูญเสียชีวิตคนในภารกิจครั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภารกิจของเราเกี่ยวข้องกับอะไร และมีขั้นตอนอย่างไร เราต้องทำทุกวิถีทางในการนำวัตถุ-ชิ้นงานศิลปะเหล่านั้นออกมาให้พ้นเปลวไฟ ผ่านการปกป้อง เคลื่อนย้าย ด้วยวิธีต่างๆ แบบสารพัด

 

ภารกิจแบบนี้ไม่ธรรมดาเลย คุณคือนักผจญเพลิง และก็ยังเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาในความเชื่อ คุณรู้สึกอย่างไรบ้างขณะกำลังทำภารกิจนั้น

ปฏิบัติการกอบกู้มหาวิหารนอเทรอดามนั้นสำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยดีอย่างที่แต่ละฝ่ายได้ช่วยกันลงมือทำอย่างสุดฝีมือ เมื่ออยู่ท่ามกลางภารกิจ พวกเราทุกคนต่างมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามมันยังมีความอันตรายรายล้อมเราอยู่เสมอ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมเป็นกังวล นักผจญเพลิงในทีมของผมจะต้องได้รับความปลอดภัยมากที่สุดขณะทำภารกิจ ดังนั้นผมจึงต้องจำกัดจำนวนของนักผจญเพลิงที่จะเข้าไปด้านใน เพื่อที่เราจะได้วางแบบแผนเส้นทางการเข้าไปกอบกู้ โดยไม่ให้มีใครอยู่ไกลหรืออยู่ห่างกันจนเกินไป 

 

ในภาพยนตร์ Notre-Dame on Fire ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เน้นย้ำและนำเสนอถึงวีรกรรมความกล้าหาญของเหล่านักผจญเพลิงปารีสในคืนนั้น แต่คุณกลับไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นถึงขนาดแบบนั้น

ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเราต้องทำอยู่แล้วมากกว่า พวกเราทำภารกิจนี้อย่างตั้งใจและระมัดระวัง คำขวัญของพวกเราคือ ถ้าไม่ลงมือกอบกู้ มันก็จะพินาศลง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องให้ความมั่นใจก็คือ เรื่องของความปลอดภัยของทีมกอบกู้ที่เข้าไปทำภารกิจในนั้น เพราะพวกเราเป็นแค่คนธรรมดา ไม่ใช่ฮีโร่ยอดมนุษย์ หรือซูเปอร์แมน!

 

คุณคิดว่าวันหนึ่งจะมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ เหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามในปารีส หรือไม่

แน่นอนว่ามันต้องมีแน่ๆ คุณรู้ไหมว่าหลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้ไม่นานได้มี หนังสือ, รายงานบทความ, สารคดีต่างๆ ตามออกมาอย่างรวดเร็ว มันเป็นประเด็นที่ทุกคนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ซึ่งสำหรับในภาพยนตร์ของ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เขานำเสนอเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงมากับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ได้ทำการปรับเปลี่ยนลำดับเหตุการณ์แต่ก็เพื่อทำให้มันดูมีความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น ผลงานเรื่องนี้งดงามและน่าทึ่ง มันจะช่วยทำให้ผู้ชมเข้าใจและเห็นภาพว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในคืนนั้น

 

 

สัมภาษณ์: นักผจญเพลิง | ปลัด เรมี่

 

คุณประหลาดใจไหม เมื่อได้รู้ว่ามีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามในปารีส

มากเลยทีเดียว ผมจำได้ว่าทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ เราได้รับการร้องขอจากสื่อฯ ให้เล่าถึงสถานการณ์และรายละเอียดต่างๆ ที่มหาวิหารได้รับการกอบกู้ ตัวผมเองได้รับมอบหมายให้ประจำการที่โรงดับเพลิงพอยซีตั้งแต่ปี 2015 – 2017 ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิหารนอเทรอดามมาก และผมยังเคยบอกกับตัวเองเสมอเลยว่า ไม่มีทางที่มหาวิหารนั่นจะเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาได้

 

คุณเข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ได้อย่างไร?

ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ติดต่อมาหาผมโดยตรงเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2020 เขาบอกว่ากำลังจะมีโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เล่าถึงเหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม เขาสนใจบทบาทหน้าที่ของผมที่วันนั้นได้เข้าไปกอบกู้ไฟไหม้ด้านในมหาวิหาร

ผมยังคงจำภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี ผมมาถึงจุดเกิดเหตุ 45 นาทีหลังจากการมาถึงของนักผจญเพลิงกลุ่มแรก ผมเห็นภาพของกลุ่มไฟที่กำลังลุกไหม้โหมกระหน่ำอย่างชัดเจน ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ พูดคุยและถามรายละเอียดต่างๆ กับผมถึงการทำภารกิจภายในมหาวิหารคืนนั้น เขาต้องการที่จะสร้างเรื่องราวของตัวละครให้ตรงกับสถานการณ์จริงที่ผมเจอมาอย่างที่สุด

 

ในภาพยนตร์ Notre-Dame on Fire ตัวละครของคุณ เจ้าหน้าที่เรย์นัลด์ ฉากที่เขาได้พูดโน้มน้าวให้หัวหน้าหน่วยได้ลองใช้แผนกู้ภัยที่เขาวางไว้ เป็นฉากที่ชวนบีบอารมณ์เป็นอย่างมาก อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังระบุภารกิจของทีมนักผจญเพลิงไว้ว่าราวกับเป็นภารกิจฆ่าตัวตายนั่นใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณได้สัมผัสในคืนนั้นไหม

แผนการในการเรียกรวมตัวทีมนักผจญเพลิงนั้นมาจากนายพลกอนเทียร์ ตัวผมเองแนะนำในส่วนของการให้พวกเรารีบขนน้ำกันขึ้นไปที่ คิเมร่า แกลเลอรี่ พวกเราเป็นเพียงกลุ่มชาย 20 กว่าคนที่พยายามจะทำภารกิจกอบกู้ให้สำเร็จ แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเปลวไฟได้ลุกลามไปที่บริเวณหอเหนือและหอใต้อย่างรวดเร็ว

 

ในภาพยนตร์ นายพลฯ บอกว่า นักผจญเพลิงอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยชีวิตคน ไม่ใช่กอบกู้ก้อนหิน ทว่าหลังจากที่อพยพกลุ่มคนเสร็จ ตัวคุณกลับตัดสินใจที่จะอยู่ต่อสู้กับบรรดาเปลวเพลิงเหล่านั้นต่อ ทั้งๆ ที่มันอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต อะไรคือแรงกระตุ้นที่พาให้คุณทำแบบนั้น

อาจเป็นเพราะที่ผมได้เคยเล่าไปว่า ในตอนนั้นผมได้เห็นภาพของกลุ่มไฟกำลังกระหน่ำลุกไหม้อยู่เต็มสองตา ผมไปถึงที่เกิดเหตุช้ากว่าเพื่อนร่วมงานของผมเล็กน้อย ขณะนั้นหลังคาลุกเป็นไฟแล้วทั้งหมด แต่โชคดีที่ผมยังพอเห็นแผนผังของท่อส่งน้ำต่างๆ ว่ามีการวางไว้ตามจุดไหนบ้าง การที่ผมนึกออกถึงรูปแบบของแผนกู้ภัยนั้นส่วนหนึ่งคงเป็นจากการได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานมาหลายปี เพราะทุกๆ ครั้งที่เข้ากู้ภัยหรือผจญเพลิง เราจะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเสมอ

ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือ เราคิดถึงความเสี่ยงของมันก่อนที่จะบุกเข้าไปอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งคำตอบสำหรับตัวผมคือ ไม่ ขณะที่ต่อสู้กับเปลวไฟ อะดรีนาลีนผมหลั่งพลุ่งพล่าน ซึ่งมันช่วยผลักดันให้เราทำภารกิจให้สำเร็จ ผมอาจกล่าวเสริมว่า การที่เราได้กอบกู้รักษามหาวิหารนอเทรอดามไว้ในวันนั้น ยังเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน

 

ถูกต้อง, แล้วศรัทธาหรือความเชื่อของคุณเข้ามามีบทบาทขณะกำลังทำภารกิจหรือไม่

ผมแค่ทำงานตามหน้าที่ของผม เมื่อคุณเป็นเจ้าหน้าที่ผจญเพลิง ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของเรา นอกเหนือจากการกู้ภัยช่วยเหลือชีวิตผู้คนคือ การต้องหาทางดับไฟ ไม่ว่าจะเกิดอัคคีภัยในรูปแบบใดขึ้นมาก็ตาม ดังนั้นผมจึงไม่เคยถามตัวเองว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ 

ในตอนนั้นขณะที่ผมกำลังรีบขึ้นไปยังหอคอยทางฝั่งทิศใต้ของมหาวิหาร เราได้รับคำสั่งให้รีบอพยพออกมา เนื่องจากว่ามหาวิหารกำลังอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการพังทลายลงมา แต่ ณ ตอนนั้นผมเองเกิดรู้สึกอยากเห็นสภาพด้านในต่างๆ ของมหาวิหารด้วยตาของตัวเอง ผมขึ้นบันไดเวียนไปจนสุดทางเพื่อที่จะได้เห็นภาพมันกับตาจริงๆ 

 

ภาพในค่ำคืนของวันที่ 15 เมษายน ปี 2019 ยังคงตราตรงอยู่ในใจของคุณ นั่นถือเป็นความทรงจำอันสำคัญต่ออาชีพนักผจญเพลิงของคุณหรือไม่

ใช่แน่นอน ผมเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นยังคงฝังอยู่ในใจของทุกๆ คนที่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในสถานการณ์วันนั้น ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจเลย เพราะสามปีหลังจากเหตุเพลิงไหม้ ผู้คนมักพูดถึงและยังคงถามไถ่เราเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอๆ แต่ทางสื่อฯ เองกลับไม่ค่อยสนใจเรื่องราวของเราในฝั่งของการเป็นนักผจญเพลิงเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับเปลวกองไฟที่มหาวิหารนอเทรอดามยังคงเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของเรา

 

 

สัมภาษณ์: นักออกแบบงานสร้าง | ฌอง ราบบาสต์

 

คุณจำตอนที่ได้พบกับผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ครั้งแรก ขณะที่คุณกำลังเริ่มต้นขั้นตอนเตรียมการถ่ายทำได้ไหม

จำได้ดีเลย ผมรู้จักผลงานภาพยนตร์ของ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ อยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่เคยรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว อีฟ แอสเซอร์ลองต์ ผู้อำนวยการสร้างของเขา ได้แนะนำให้เรารู้จักกัน พวกเรานัดพบกันที่ร้านกาแฟเล็กๆ ในย่านแซงต์ แฌร์แม็ง เดส์ เพร ใกล้กับบ้านของเขา ผมฟังเขาเล่าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เขาต้องการที่จะสร้าง รายละเอียดที่เขาเล่านั้นน่าจับใจมาก อันที่จริงฌอง-ชาคส์ไม่ได้นิยามว่าหนังของเขาเป็นระดับมหากาพย์หรือต้องใช้งานสร้างระดับยักษ์ใหญ่อะไร เขาบอกกับผมว่า มันเป็นหนังระทึกขวัญ! จากนั้นผมจึงเริ่มอ่านเรื่องราวของหนังในทันที มันทำให้ผมทึ่งและนั่งไม่ติดเก้าอี้ ผมได้เห็นภาพและเข้าใจว่าทีมนักผจญเพลิงต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้างในคืนนั้น มันเป็นภาพยนตร์ที่อัดแน่นทั้ง ความเป็นแอคชั่น, กลิ่นอายของความระทึก, มีสถานการณ์ที่พลิกผันไปมา

 

 

คุณตัดสินใจร่วมงานโปรเจกต์นี้กับเขาในทันทีเลยไหม

ผมอยากร่วมงานกับเขามานานแล้ว และเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยิ่งทำให้ผมสนใจอยากที่จะทำมันมากขึ้นไปอีก เมื่อผมได้พบกับฌอง-ชาคส์ ความคิดผมเต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับมหาวิหาร ผมพอจะเห็นภาพโครงสร้างของส่วนต่างๆ อยู่ภายในหัว ผมใฝ่ฝันที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ไปไกลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภาพยนตร์เรื่อง Notre-Dame on Fire ได้เข้ามาเป็นส่วนที่ทำให้ผมได้ค้นพบกับโลกของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวอย่างแท้จริง

 

ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ได้บอกคุณตั้งแต่ต้นเลยไหมว่า อยากใช้วิธีการจำลอง-สร้างฉากจริงขึ้นมาใหม่ เพื่อลดการใช้วิชวลเอฟเฟคลงให้มากที่สุด

ใช่ครับ เขาบอกผมแบบนั้นตั้งแต่แรกๆ เลย และผมก็เห็นด้วยกับการทำงานแบบนี้! อันที่จริงผมเองก็ชอบงานวิชวลเอฟเฟคนะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกมันเป็นเครื่องมือส่วนประกอบที่ยอดเยี่ยม แต่สำหรับผมแล้วงานวิชวลเอฟเฟคที่ทำผ่านคอมพิวเจอร์จะสวยงามและสมจริงได้ก็ต่อเมื่อได้มีการผสมผสานให้เข้ากับฉากจริงๆ ที่อยู่ในตอนถ่ายทำตรงนั้นด้วย ผมได้เคยทำงานในภาพยนตร์ที่เห็นผู้กำกับถ่ายทำแต่กับฉากเขียวโล่งๆ เลย เหมือนกับว่าพวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถ่ายทำอะไรอยู่ เห็นแล้วมันน่าสงสารนะ เพราะมันทำให้เขาไม่สามารถจินตนาการถึงภาพของฉากได้อย่างชัดเจนได้เท่าไหร่

ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าเราถ่ายทำ Notre-Dame on Fire โดยให้เหล่าตัวละครนักผจญเพลิงแสดงบทต่างๆ อยู่ท่ามกลางฉากเขียว มันคงเป็นงานที่จืดชืดแน่ๆ เราจึงเน้นถ่ายทำกันแบบมีการจำลอง-สร้างฉากจริงขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ตั้งอยู่ในสตูดิโอเลย เพื่อให้การถ่ายทำและการเก็บฟุตเทจจากแต่ละมุมกล้องเกิดความสมจริงที่สุด ซึ่งผมบอกเลยว่านั่นไม่ใช่งานที่ง่ายๆ เลย เพราะทุกคนต้องสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันความร้อนเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงถึง 1,300 องศาฟาเรนไฮต์ได้

 

นั่นเลยทำให้คุณต้องเตรียมตัวสำหรับงานสร้างครั้งใหญ่

ใช่ครับ ผมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ของมหาวิหารนอเทรอดาม อย่างเช่นพวก หอระฆัง, ปีกอาคาร, โถงทางเดิน และอื่นๆ ดังนั้นเองผมเลยต้องไปเยี่ยมชมมหาวิหารจริงหลากหลายแห่ง จากนั้นจึงนำไปสู่ขั้นตอนของการวาดร่างภาพ และขึ้นโครงแบบจำลอง 3 มิติ แล้วเราก็พบว่าการเตรียมงานแค่นี้มันยังครอบคลุมไม่พอ เราจึงต้องมีการสร้างฉากจำลองจริงแบบใหญ่ขึ้นมาอีกด้วย เพื่อให้ทีมงานทุกคนเห็นภาพว่าภายในมหาวิหารได้มีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งขั้นตอนนี้เองมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับทีมสตั๊นท์, หัวหน้าเทคนิคพิเศษ, และเหล่านักแสดง เพื่อที่จะได้วางลำดับรูปแบบการถ่ายทำได้ถูกต้อง ภาพยนตร์เรื่อง Notre-Dame on Fire เป็นผลงานที่เต็มไปด้วยงานสร้างพิเศษที่ต้องเนรมิตฉากและองค์ประกอบต่างๆ ขึ้นมาใหม่มากที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมา

 

งานสร้างของคุณตระการตามากในภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่เปลวไฟได้ลุกไหม้หอระฆัง, ปีกอาคาร ไปจนถึงการพังทลายลงของยอดแหลมและเพดานโค้งที่ถล่มลงตรงโถงทางเดินกลาง อะไรคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคุณ

ผมว่าฉากไฟไหม้หอระฆังน่าจะเป็นการถ่ายทำที่ซับซ้อนและอันตรายที่สุด เพราะว่าเราถ่ายทำในพื้นที่ที่เป็นแบบกึ่งๆ ปิดตาย ซึ่งได้มีการจุดไฟให้ไหม้ลุกท่วม และในนั้นมีทีมงานอยู่กันกว่า 30 ชีวิต อีกทั้งเรายังมีการติดตั้งเครนไว้ที่ความสูง 50 ฟุต ซึ่งอาจทำให้การเคลื่อนไหวและควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก 

โครงสร้างของฉากหอระฆังนี้มีความสูงมากกว่า 40 ฟุต สร้างจากไม้เนื้อแข็ง และเป็นผลงานการสร้างโดยช่างไม้ตัวจริงที่กำลังรับหน้าที่ซ่อมแซมมหาวิหารนอเทรอดามอยู่ด้วยเช่นกัน เราจัดการลงคราบสีและตกแต่งพื้นผิวของมันให้เหมือนกับมหาวิหารมากที่สุด แน่นอนว่าเรายังมีมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยอย่างสูงที่สุด ด้วยการที่เราจะต้องดับไฟที่จุดในแต่ละครั้งให้เสร็จหมดภายใน 30 วินาที

 

คุณจำลองสร้างฉากที่มีรายละเอียดต่างๆ มากมายเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร

เรามีการเจาะคานไม้แล้วใส่ท่อไว้ด้านในเพื่อปล่อยแก๊สโพรเพน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการติดไฟได้ง่ายขึ้นเวลาที่เราถ่ายฉากไฟไหม้ ผมไม่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อน ผมและทีมงานเทคนิคพิเศษต้องศึกษาวิธีการทำงานต่างๆ ของเอฟเฟคมากมาย เพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายเวลาที่เราจุดไฟ ส่วนเรื่องวิธีการจุดไฟหรือจุดระเบิดนั้นเราควบคุมมันจากการกดสั่งการระยะไกลเพื่อความปลอดภัยภายในกองถ่าย

ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ ยังขอให้ผมเพิ่มขนาดของระฆังในฉากหอระฆังที่ผมสร้างให้ใหญ่ขึ้นด้วย เพื่อทำให้ผู้ชมเห็นภาพว่า ถ้าระฆังนั้นเกิดตกลงมาจากการที่ไฟไหม้ มันมีสิทธิ์จะทำให้หอทางทิศเหนือของมหาวิหาร และโครงสร้างหลักๆ สามารถพังทลายลงมาได้ทั้งหมด เราอยากให้ผู้ชมรู้สึกถึงความน่ากลัวและอันตรายของมันอย่างมากที่สุด

 

เมื่อพูดถึงฉากพังทลายลงของเพดานโค้งที่คุณได้สร้างและถ่ายทำที่สตูดิโอ Cité du Cinéma มันเป็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับนักออกแบบฉาก คุณใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการจำลองสร้างมันขึ้นมา ซึ่งพอเริ่มถ่ายทำมันกลับถูกทำลายลงภายใน 30 วินาที

นี่อาจฟังแล้วดูแปลกๆ หน่อย แต่ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรขนาดนั้น ผมมองว่ามันเป็นงานที่ผมต้องทำ เป็นชิ้นงานที่ทำออกมาเพื่อสอดรับกับภาพของผู้กำกับที่วางไว้ เพื่อถ่ายทำตามความต้องการของทีมงานแบบเฉพาะเจาะจง งานออกแบบสร้างฉากของเราทำขึ้นมาเพื่อเน้นใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่แล้ว เรามีทีมงานนักออกแบบฉากด้วยกันประมาณ 150 คน และสำหรับฉากนี้เรามีทีมงานฝ่ายศิลป์อยู่ที่หน้ากองถ่ายประมาณ 15 คนเพื่อช่วยดูแลให้ทุกอย่างออกมาดูสวยงามและสมจริงเวลาอยู่บนจอภาพยนตร์ พวกเราทุกคนต่างหลงใหลในภาพของเปลวเพลิง

หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จแล้ว เรารื้อถอนซากของฉากที่เหลือไว้ต่างๆ ออกหมด แต่เราไม่ได้นำมันไปทิ้งทั้งหมดนะ หลายๆ ชิ้นส่วนได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งเพื่อประกอบถ่ายทำในฉากอื่นๆ อีกทั้งอย่างหอระฆังก็ถูกขายต่อให้กับผู้ซื้อชาวอเมริกันที่สนใจ หรืออย่างโครงสร้างของหลังคา, ปีกอาคาร ก็ได้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างบ้านที่ย่านเบรอตาญ

 

คุณได้มีนำบางชิ้นของฉากที่จำลองสร้างขึ้นใหม่กลับมาบ้านด้วยไหม

มีครับ ผมเก็บหน้าต่างบานเล็กจากในฉากหอทิศเหนือกลับมาหลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ แล้วก็เอามันไปตั้งไว้ในเพิงสวนที่บ้านของผม ผมยังพูดขำๆ กับเพื่อนอยู่เลยว่า นี่เป็นบานหน้าต่างจากมหาวิหารนอเทรอดามเลยนะ!”

 

หากดูจากผลงานของคุณในฐานะนักออกแบบงานสร้างที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ ฌอง-ปิแอร์ จูเนต์ (The City of Lost Children (1995)), โคลด ซีดี (Asterix and Obelix vs. Caesar (1999)), แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี (The Dreamers (2003)), โรแลนด์ จ็อฟ (Vatel (2000)), คริสตอฟ บาร์ราติเยร์ (Faubourg 36 (2008)), นอร์แมน เจวิสัน (The Statement (2003)) และโรมัน โปลันสกี (Venus in Fur (2013)) มันก็สมเหตุสมผลอยู่ที่วันหนึ่งคุณจะได้มีโอกาสมาร่วมงานกันผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เพราะพวกคุณทั้งคู่ดูรักในงานด้านศิลป์-งานฝีมืออยู่แล้ว

คุณพูดถึงเลย! ผมจำได้ว่าตอนที่เริ่มต้นในสายงานอาชีพนี้ ผมอายุประมาณ 20 ปี ตอนนั้นผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ ได้สร้างภาพยนตร์ที่ผมใฝ่ฝันว่าอยากจะเข้าไปทำงานด้วยมากๆ อย่าง  The Name of the Rose (1986) มันเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมทึ่ง ผมรู้ได้ทันทีว่านั่นคืองานที่ผมต้องการที่จะทำ ผมอยากสร้างสรรค์ฉากเพื่อใช้ประกอบเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ มันเหมือนกับทำให้ได้เดินทางย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น ผมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานด้านออกแบบฉากมากขึ้นจากการร่วมงานกับผู้กำกับ โรแลนด์ จ็อฟ ในภาพยนตร์เรื่อง Vatel (2000) อีกทั้งล่าสุดผมก็กำลังจะได้ทำงานในผลงานเรื่องใหม่ของผู้กำกับ ฟร็องซัว โอซง ที่จะย้อนกลับไปเล่าถึงเรื่องราวในช่วงปี 1930 ทำให้ผมต้องค้นคว้าข้อมูลมากมาย รวมถึงดูชิ้นงานศิลปะ และอ่านหนังสืออยู่หลายเล่ม

การทำงานในภาพยนตร์ Notre-Dame on Fire ผมได้มีโอกาสพบกับ ฟิลิปเป้ วิลล์เนิฟ ผู้เป็นสถาปนิกที่รับหน้าที่ดูแล-ซ่อมแซมมหาวิหารนอเทรอดาม ผมพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเทคนิควิธีการออกแบบฉากของเรา ตัวเขายังบอกว่ารู้สึกทึ่งและไม่คิดว่างานจำลองสร้างฉากในภาพยนตร์ของเราจะออกมาแม่นยำและสมจริงมากขนาดนี้ 

ทีมออกแบบงานสร้างของผมมีสถาปนิกที่เชี่ยวชาญงานด้านการออกแบบ 6 คน สุดท้ายผมมองว่า งบประมาณทุนสร้างของภาพยนตร์นั้นไม่ใช่จุดที่เป็นประเด็นสำคัญ แต่เป็นเส้นทางของการออกเดินทางที่ผู้กำกับได้มอบมาเสนอให้คุณ และเมื่อการถ่ายทำเริ่มต้นขึ้น ทุกคนอยู่ประจำตำแหน่งหน้าที่ สวมชุดต่างๆ เพื่อเข้ากองถ่าย ผมบอกตรงๆ เลยว่า นั่นทำให้ผมรู้สึกได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ผมรักในการดื่มด่ำกับช่วงเวลาแบบนี้!

 

 

สัมภาษณ์: ผู้ดูแลเทคนิคพิเศษและเทคนิคด้านเปลวไฟ | ฌอง-คริสตอฟ มักนูว์

 

ตำแหน่งของคุณคือ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ คุณเคยร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังอย่าง ลุค เบสซง, ฟิลิปเป ลาโช, ริดลี่ย์ สก็อตต์ และเวส แอนเดอร์สัน คุณมองการทำงานกับโปรเจกต์ภาพยนตร์ Notre-Dame on Fire ไว้เป็นอย่างไรบ้าง

ผมต้องบอกว่าภาพยนตร์ของผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ นั้นยอดเยี่ยมจริงๆ ผมเชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ของโปรเจกต์ในฝรั่งเศสที่เราได้พัฒนาวิธีการถ่ายทำด้านเอฟเฟคของเปลวไฟกันขึ้นไปอีกระดับ ด้วยปริมาณของกองไฟที่มีมากมาย รวมไปถึงขั้นตอนเบื้องหลังการทำงานของมันที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ต้องยอมรับว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เราทำงานเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของการสร้างเปลวไฟกันอย่างมากมายนับไม่ถ้วนจริงๆ 

ในด้านการร่วมงานกับผู้กำกับ ผมขอยกให้ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เก่งกาจในระดับเดียวกันกับผู้กำกับคนอื่นๆ อย่าง ริดลี่ย์ สก็อตต์, ไบรอัน เดอ พัลม่า, เวส แอนเดอร์สัน ที่ผมเคยร่วมงานมาก่อนหน้านี้ด้วยเลย นับเป็นเกียรติมากๆ ที่ผมได้มีโอกาสทำงานกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้กลับไปอยู่ในโรงเรียนภาพยนตร์อีกครั้ง เขารู้เรื่องเทคนิคการถ่ายต่างๆ ทั้งหมด มีภาพในหัวที่ชัดเจน ทุ่มเทตั้งใจทำงาน การที่ผมได้เข้ามารับตำแหน่งดูแลงานด้านนี้ในภาพยนตร์ของเขา ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการทำงานของผมเลย

 

ในช่วงเริ่มต้นที่ได้พูดคุยกับผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เขาอธิบายไอเดียงานด้านเทคนิคพิเศษที่คุณรับหน้าที่ดูแลอย่างไร และคุณเห็นภาพงานเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ไว้เป็นแบบไหนบ้าง

ถ้าให้ผมเปรียบเปรยมันคงเป็นเหมือนกับการปีนขึ้นภูเขาอันแสนสูงชัน ตอนแรกผมและทีมงานคิดว่าเราจะสามารถลงมือทำมันได้หรือไม่ เพราะโจทย์งานด้านเทคนิคพิเศษนั้นยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน ประกอบกับการต้องดูแลด้านความปลอดภัยแก่ทีมงานทุกๆ คนในกองถ่าย ขณะถ่ายทำฉากเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ละเลยไม่ได้เลย เนื่องจากในหลายๆ ฉากเหล่านักแสดงและทีมงานของเราต้องรายล้อมอยู่ท่ามกลางกองไฟ มันอันตรายเอามากๆ 

 

ทางผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ต้องการใช้ ไฟจริงๆ เลยในการถ่ายทำ

ใช่ครับ เขายืนกรานว่าจะต้องเป็นแบบนั้น ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ ต้องการให้มีการใช้วิชวลเอฟเฟคน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นในกระบวนการทำงานคือ ทีมงานและนักแสดงทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันพิเศษ

ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ สามารถอธิบายภาพในหัวและสิ่งที่เขาต้องการแก่ทีมงานขณะถ่ายทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ฝีมือแพรวพราวจริงๆ ผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้คุณตื่นเต้นจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้! 

 

มีฉากไฟไหม้ที่เด่นๆ ในภาพยนตร์อยู่สามฉาก ได้แก่ การพังทลายลงของยอดแหลม, เพดานโค้งที่ถล่มลงตรงโถงทางเดินกลาง และหอระฆังที่ไฟลุกท่วม เราอยากให้คุณพูดถึงฉากเหล่านี้

มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละฉากที่คุณพูดถึง ฉากการพังทลายลงของยอดแหลมนั้นเป็นการทำงานที่ซับซ้อนและลำบากที่สุด เรามีการสร้างกระเช้าโลหะขนาดมหึมาที่แขวนไว้อยู่ที่ความสูงเกือบ 50 ฟุตในสตูดิโอ ซึ่งควบคุมด้วยมอเตอร์ทำงาน 55 ตัว มีการใส่คานไม้บัลซ่าปลอม, หินปลอมที่ทำจากไม้ก๊อกและปูนปลาสเตอร์ไว้ในแท่นบรรจุขนาดใหญ่ที่มีความจุรวมๆ กว่า 6,000 ลูกบาศก์ฟุต (ประมาณ 10 ตัน) ด้านการจุดไฟเราใช้น้ำมันเบนซิน 25 แกลลอน ซึ่งเมื่อจุดไฟแล้วอุณหภูมิความร้อนจะสูงถึง 460 องศาฟาเรนไฮต์ ส่วนเศษของสิ่งของต่างๆ ที่เราใส่ไว้เหล่านั้นจะถูกเทปล่อยออกมาเมื่อเริ่มต้นการถ่ายทำ

เราสามารถถ่ายทำฉากนี้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ในการเตรียมงานติดตั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ อย่างที่ผมบอกไปมันเป็นฉากที่ซับซ้อน เพราะแม้จะปรากฏเป็นความยาวบนจออยู่แค่ไม่กี่วินาที แต่เบื้องหลังมันต้องใช้ความพยายาม และสมาธิเป็นอย่างมากเพื่อให้การถ่ายทำนั้นออกมาสำเร็จ โชคดีที่ทีมงานของผมกว่า 20 ชีวิตล้วนเชี่ยวชาญการทำงานในเทคนิคพิเศษแบบนี้ พวกเขาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นชนิด 100% 

 

มาว่ากันต่อถึงฉากไฟไหม้ปีกอาคารมหาวิหารที่คุณถ่ายทำที่สตูดิโอ Bry-sur-Marne

เป็นฉากการถ่ายทำที่ท้าทายครับ เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุเพื่อจำลองสร้างปีกอาคารมหาวิหารขึ้นมาให้เหมือนกับตัวอาคารของจริงที่สุด การต้องควบคุมปริมาณของไฟตอนที่ลุกไหม้วัสดุฉากเหล่านั้น เรามีการเดินสายท่อเพื่อใช้ปล่อยแก๊สโพรเพน ซึ่งต้องทั้งติดตั้งให้แนบเนียนและเป็นระเบียบตามกฎของการควบคุมความปลอดภัย พูดให้เห็นภาพคือ เรามีถังที่บรรจุแก๊สโพรเพนน้ำหนัก 4 ตัน, มีระบบป้องกันฉุกเฉินเผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ฯลฯ ความสาหัสของการถ่ายทำฉากนี้อีกอย่างคือ เราต้องจุดไฟเผาโครงสร้างฉากจำลองต่างๆ มากมาย ซึ่งใช้เวลาอยู่นานเลยทีเดียว

 

สำหรับฉากไฟไหม้หอระฆัง คุณกลับมาถ่ายทำที่สตูดิโอใน Cité du Cinéma

ฉากนี้เรามีการใส่ท่อที่ไว้ปล่อยแก๊สโพรเพนเข้าไปในตามคานไม้ต่างๆ เพื่อช่วยให้ไม้จุดติดไฟได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เราได้สร้างรูปทรงของไฟขณะไหม้ลุกลามตามวัตถุต่างๆ แม้ว่าผู้ชมอาจไม่ได้ใส่ใจถึงรายละเอียดของรูปทรงไฟต่างๆ ขนาดนั้น แต่ผมมองว่านี่เป็นงานเทคนิคพิเศษที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการเกิดขึ้นของเปลวเพลิง ความไวของไฟที่ลุกไหม้ขึ้นตามสิ่งต่างๆ นั้นช่วยเพิ่มความน่ากลัวเวลาอยู่บนจอภาพยนตร์ได้จริงๆ

การถ่ายทำที่ฉากหอระฆังนั้นน่าทึ่งมาก เพราะมันเป็นการรวมกันขององค์ประกอบอย่างการสร้างฉากที่สวยงามและงานเทคนิคพิเศษที่มีลูกเล่นโดดเด่นได้อย่างลงตัว เรามีระบบควบคุมอัตโนมัติที่ช่วยในเรื่องการจุดไฟและดับไฟ มีเซ็นเซอร์ที่ช่วยตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อเฝ้าระวังแก่ทีมงาน

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่คุณละเลยไปไม่ได้นั่นคือ เหล่าทีมงานและนักแสดงที่ต่างทุ่มเทถ่ายทำกันท่ามกลางเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้รายล้อมพวกเขาอยู่

ใช่แล้วครับ ปกติแล้วงานกองถ่ายย่อมมีมาตรการดูแลความปลอดภัยแก่ทีมงานทุกคนอย่างรัดกุม ไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่หน้ากล้องหรือหลังกล้องก็ตาม เหล่านักแสดงและทีมงานของเราทุกคนล้วนมีชุดป้องกันภัย-ชุดผจญเพลิงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถทนความร้อนในอุณหภูมิที่สูงได้ อีกทั้งชุดนี้ยังทำให้พวกเขาสามารถเคลื่อนที่ผ่านเปลวไฟ และยืนอยู่ท่ามกลางมันได้หลายนาทีโดยที่ไม่เสี่ยงต่ออันตราย

 

โชคร้ายหน่อยที่คุณดันเกิดอุบัติเหตุ มือของคุณโดนไฟลวก ขณะถ่ายทำฉากการพังทลายลงของยอดแหลม

ยังดีที่ผมไม่ได้เป็นอะไรมาก แผลมันแค่นิดหน่อยครับ อันที่จริงต้องบอกว่าในอาชีพการทำงานของผม ผมโดนไฟลวกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน! จังหวะที่เกิดเหตุ พอแน่ใจว่าทุกคนปลอดภัย ไม่มีใครเป็นอะไรแล้ว ผมเองก็ดันลืมใส่ถุงมืออีกอยู่ดี มันทำให้มือผมเกิดเป็นรอยแผล แต่ก็เป็นแผลเป็นที่สวยงามเลย ปกติแล้วผมไม่ชอบความเย็น แต่โอเคกับความร้อน 

ผมมองว่านี่คือความเสี่ยงในสายการทำงานอาชีพนี้อยู่แล้ว อย่างเช่น เหล่านักแสดงผาดโผน พวกเขาทุกคนล้วนต้องเคยกระดูกหักหรือได้รับอาการบาดเจ็บบ้างอยู่แล้ว มันเป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องถ่ายทำฉากนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นจนจบ เท่านี้ก็ถือว่างานของคุณได้สำเร็จแล้ว

 

 

 สำหรับแฟนหนังเมเจอร์ ห้ามพลาดกับบัตรดูหนังสุดคุ้ม M PASS ที่จะทำให้คุณคุ้มเต็มอิ่มกับการดูหนังตลอดทั้งปี เตรียมไปมันส์กับกองทัพหนังดังมากมาย สมัครง่ายๆเพียงแค่คลิก ที่นี่ 

 

ภารกิจกล้า ฝ่าไฟนอเทรอดาม

  • 14 July 2022
  • Adventure / แอ็คชัน / ชีวิต /
  • 110 นาที
15+