HIGHLIGHT CONTENT

5 เหตุผลที่ Foxcatcher ควรได้ออสการ์

  • 8,918
  • 08 ม.ค. 2015

5 เหตุผลที่ Foxcatcher ควรได้ออสการ์

 

 

1. หนังเรื่องนี้เป็นผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตของผู้กำกับและนักแสดงนำ

 

          คนแรกที่ควรค่าแก่การพูดถึงคือ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ ผู้กำกับวัย 48 ปีที่โด่งดังมาจากหนังสายดราม่าหนักหน่วงอย่าง Capote และ Moneyball ที่นำพานักแสดงระดับเทพไปสู่อีกจุดหนึ่งของการแสดง (ทั้ง ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน และแบรด พิตต์ ตามลำดับ) ดูเหมือนว่า Foxcatcher ที่เน้นหนักกับการแสดงอันเข้มข้นเหมือนเดิม กำลังจะกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา เพราะผ่านการการันตีมาแล้วจากหลายเวที ตั้งแต่เวทีใหญ่อย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ (เข้าชิง Palme D’Or รางวัลสูงสุดของเทศกาลแต่พลาดท่าให้กับ Winter Sleep แต่ก็ยังคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้) จนถึงเวที Independent Spirits หรือ ‘อินดี้สปิริต’ (หนังได้รับรางวัล Special Distinction Award)

          คนที่สองที่ควรค่าแก่การพูดถึงคือ สตีฟ แคเรลล์ นักแสดงตัวพ่อวัย 52 ที่มักจะเล่นหนังคอเมดี้เสียเป็นส่วนใหญ่ (เช่น The 40-Year-Old Virgin และ Crazy, Stupid, Love) คราวนี้เขาลงทุนเปลี่ยนตัวเองทั้งภายนอกและภายใน เขาย้อมผมเป็นสีขาว แต่งหน้าให้ดูมีอายุ ฝึกเปล่งเสียงให้แหบแห้ง ฝึกแสดงออกทางสีหน้าให้ดูหยิ่ง เย็นชา และไม่น่าเข้าใกล้ ใช้สายตาเย่อหยิ่งและเหยียดหยามเวลามองคน แต่สะท้อนความเป็นคนเปราะบาง ขาดความมั่นใจ และขี้อิจฉาริษยาในคราวเดียว การเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือของแคเรลล์สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากทุกสำนัก ชวนให้นึกถึงเหล่านักแสดงที่เป็นที่พูดถึงจนคว้ารางวัลใหญ่จากการลงทุนลดน้ำหนักจนเหลือแต่กระดูก (เช่น แมทธิว แมคคอนาเฮย์ ใน Dallas Buyer’s Club, คริสเตียน เบล ใน The Machinist, ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ใน Hunger) หรือเพิ่มน้ำหนักจนล่ำบึ้ก (เช่น โรเบิร์ต เดอ นีโร ใน Raging Bull, ทอม ฮาร์ดี้ ใน Bronson, จาเรด เลโต้ ใน Chapter 27)

          คนสุดท้ายที่ควรค่าแก่การพูดถึงคือ แชนนิ่ง เททัม ที่ถึงแม้จะเคยฝึกกีฬาป้องกันตัวมาก่อน แต่เขาบอกว่าการเล่นมวยปล้ำเป็นคนละเรื่อง เพราะมันต้องใช้ความเร็ว ความต่อเนื่อง และความเกรี้ยวกราด ความเหนื่อยที่แสดงออกไปต้องไม่มีอยู่จริง นักมวยปล้ำจะใช้มันเพื่อหลอกล่อให้อีกฝ่ายตายใจเท่านั้น เททัมไม่ได้เพียงฝึกมวยปล้ำ แต่เขาตั้งใจลอกเลียนแบบมาร์คทั้งตัวและหัวใจ เขาฝึกท่าเดินและวิธีการบิดคอแบบมาร์ค และพยายามทำความเข้าใจในทุกเสี้ยวส่วนของชีวิตเขา

          อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีนักแสดงแค่สองคนนี้ที่ทุ่มเททุกอย่างให้กับ Foxcatcher เพราะ มาร์ค รัฟฟาโล และวาเนสซา เรดเกรฟ ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมาก โดยนักแสดงชายทั้งสามได้รางวัล Best Ensemble มาแล้วจากสองเวที คือ Gotham Awards และ Hollywood Film Awards

 

 

2. หนังเรื่องนี้ท้าทายวัฒนธรรมฮอลลีวู้ด

 

          เหล่านักวิจารณ์หนังจากฟากฝั่งอเมริกาหลายคนบอกว่าพวกเขาสงสัยว่า ใครกันที่เปิดไฟเขียวให้หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทำตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพราะหนังไม่ดีหรือไม่น่าสนใจ แต่ตรงกันข้าม นั่นคือมันดูเป็นเรื่องที่ทำเป็นหนังยากมาก แถมยังมีวิธีการเล่าเรื่องที่แหกขนบฮอลลีวู้ดพอสมควร

          เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ เคยเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า เขาขอยกความดีความชอบให้กับ เมแกน เอลลิสัน โปรดิวเซอร์ของหนังที่เข้าใจหนัง เข้าใจคนทำหนัง เข้าใจคนดูหนัง และทำทุกอย่างเพื่อให้หนังได้ถ่ายทำและออกฉาย ทั้งๆ ที่บทก็หนัก การแสดงก็ดาร์ค เรื่องก็รุนแรง ไม่มีฉากซึ้งๆ และเรื่องรักประโลมใจ แถมยังมีฉากที่เต็มไปด้วยความเงียบหลายต่อหลายฉาก เพื่อเพิ่มความกดดันให้กับบรรยากาศของหนัง (อ่านบทสัมภาษณ์ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ เต็มๆ ได้ที่นี่)

          แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความดาร์ค “เกินไป” นี่เองที่เป็นสิ่งที่กรรมการออสการ์อาจไม่ปลื้มเท่าไหร่ และอาจหันเหไปหาหนังที่ดาร์คน้อยกว่าแทน

 

 

3. หนังเรื่องนี้พูดถึงด้านมืดของเงิน

 

          ตัวละครหลักที่เป็นตัวการของทุกความขัดแย้งในหนังคือเศรษฐีอารมณ์ร้าย จอห์น ดูปองต์ (สตีฟ แคเรลล์) ผู้ซึ่งนับถือเงินเป็นเช่นพระเจ้า เขาใช้เงินซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่ลงทุนกับทริปสำรวจนกพันธุ์แปลกๆ ในแปซิฟิกตอนใต้, ลงทุนสร้างโรงยิมราคาโหดหินที่มีอุปกรณ์ฝึกซ้อมครบครัน ไปจนถึงซื้อใจนักกีฬามวยปล้ำในทีม

          ดูปองต์ทำกระทั่งจ้างคนมาถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับที่มมวยปล้ำของเขาที่มีการสัมภาษณ์มาร์คและเดฟ โดยให้พวกเขาพูดถึงดูปองต์ในฐานะโค้ชที่เป็นทุกอย่างของพวกเขา ดูปองต์มักจะกล่าวปาฐกถากับสมาชิกในทีมที่ดูเหมือนจะเคารพเขา แต่ใช่หรือไม่ว่าในทางหนึ่ง พวกเขาก็เคารพเงินของดูปองต์ด้วย

          เอาเข้าจริง การทำทีมมวยปล้ำแล้วตั้งตัวเองเป็นโค้ชของดูปองต์ อาจไม่ต่างอะไรกับเศรษฐียุคเก่าที่มีคอกม้า และจ้างนักขี่ม้าให้ควบม้างามๆ ไปแข่งในสนาม ที่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็เป็นไปเพื่อหน้าตาและความรู้สึกว่าตัวเองได้ควบคุมผู้อื่นเท่านั้นเอง

 

 

4. หนังเรื่องนี้ตีแผ่ธรรมชาติของเพศชาย

 

          อย่างที่รู้ๆ กันว่าเหล่านักวิจารณ์ชอบเปิดประเด็นว่าหนังฮอลลีวู้ดมีแต่ตัวละครหลักเป็นผู้ชาย ส่วนตัวละครผู้หญิงเป็นแค่ตัวประกอบและมักถูกสร้างให้เป็นภาพแทนความอ่อนแอ แต่ไม่ใช่กับ Foxcatcher เพราะถึงตัวละครหลักทั้งสามตัวจะเป็นผู้ชายในวงการมวยปล้ำ แต่หนังไม่ได้นำเสนอภาพความแข็งแรงน่าเกรงขาม กลับกลายเป็นตีแผ่ความอ่อนแอของผู้ชายเสียอย่างนั้น

          ตัวละครหลักของ Foxcatcher ทั้งสามตัวมีปัญหาชีวิตที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นต่างเกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นในตัวเอง จอห์น ดูปองต์ (สตีฟ แคเรลล์) ที่ตั้งตัวเองเป็นโค้ชของทีมมวยปล้ำ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงในสังคมชนชั้นสูงของตัวเอง และที่สำคัญกว่าคือเขาทำทุกอย่างเพื่อให้แม่ผู้เสพติดการควบคุมของเขาพอใจ, มาร์ค ชูลท์ส (แชนนิ่ง เททัม) นักมวยปล้ำคนน้องที่ยึดดูปองต์เป็นดั่งพ่อทูนหัวและยอมทำตามดูปองต์ทุกอย่างเพื่อให้เขาพอใจและยอมรับในความสามารถของตน ทั้งสองเป็นตัวอย่างของผู้ชายที่ประสบวิกฤติตัวตนจนมาถึงทางตัน ในขณะที่ เดฟ ชูลท์ส (มาร์ค รัฟฟาโล) นักมวยปล้ำคนพี่กลับตรงกันข้าม นั่นคือมีจิตใจที่มั่นคง พร้อมจะเป็นที่พึ่งให้กับมาร์คและครอบครัว

          ประเด็นความสัมพันธ์พ่อลูกแบบนี้เป็นที่ชื่นชอบของเวทีออสการ์มานานแล้ว เห็นได้จากหนังออสการ์ดังๆ อย่าง Godfather ทั้งสองภาค, The Departed, The Last Emperor และ Million Dollar Baby เป็นต้น

 

 

5. หนังเรื่องนี้วิพากษ์สังคมอเมริกันที่กระหายฮีโร่

 

          ต่อให้เราไม่นับบรรดาหนังซุปเปอร์ฮีโร่อเมริกันที่มีอยู่เกลื่อนตลาด (ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์แบทแมน ซุปเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือหนังของค่ายมาร์เวล) แต่กระนั้นก็ยังมีหนังอเมริกันที่มีตัวเอกเป็นคนธรรมดาที่มีลักษณะของฮีโร่อยู่นับไม่ถ้วน เห็นได้ชัดตั้งแต่บรรดาหนังฮอลลีวู้ดที่สร้างท่ามกลางหมอกควันแห่งความกลัวหลังเหตุการณ์ 9/11 อย่าง World Trade Center ที่เล่าเรื่องตำรวจสองคนที่เข้าไปช่วยชีวิตคนในตึกเวิร์ลด์เทรดก่อนจะถูกเศษซากปรักหักพังถล่มทับพวกเขา, United 93 ที่ผู้โดยสารและลูกเรือร่วมกันต่อต้านปฏิบัติการก่อการร้ายบนเครื่องบินจนพลาดเป้าไม่ชนเพนตากอน และไม่นานที่ผ่านมากับ Zero Dark Thirty ที่เล่าเหตุการณ์การสังหาร โอซามา บิน ลาเดน โดยหน่วยซีลส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ

          ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เหล่าฮีโร่กลุ่มหลังที่เราพูดถึงนี้เป็นเป็นคนธรรมดาสามัญที่มีชีวิตอยู่จริง และเหตุการณ์ในหนังก็เป็นเหตุการณ์จริง ซึ่งทำให้คนอเมริกันที่ได้ดูหนังมีความรู้สึกเชื่อมโยงทางอารมณ์กับตัวละคร บุคคลเหล่านี้เป็นภาพแทนของ “คนบนหิ้ง” ที่สังคมอเมริกันอันเปราะบางต้องการยึดเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย อย่างเช่นตัวละครหลักสองในสามตัวของ Foxcatcher ทั้ง มาร์ค และ เดฟ ชูลท์ส ที่เป็นนักมวยปล้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิคในปี 1984

          น่าคิดว่ากรรมการออสการ์ซึ่งเป็นคนอเมริกันที่ “ให้ใจ” กับฮีโร่เหล่านี้อยู่แล้วจะเลือกโหวตให้กับหนังดราม่าหนักๆ ที่เล่าเรื่องที่พวกเขาเชื่อ หรือหนังที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้อิงเรื่องจริงอันละเอียดอ่อนของสังคมอเมริกัน อย่าง Birdman หรือ The Imitation Game (แต่ถ้าใช้เหตุผลนี้วัด Selma กับ The Theory of Everything ก็มีลุ้น)

 

Foxcatcher เข้าฉายแล้ววันนี้
ในโรงภาพยนตร์เครือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

ปล้ำแค่ตาย

  • 08 January 2015
  • Adventure / ชีวิต /
  • 134 นาที
15+