HIGHLIGHT CONTENT

สาระล้วน!! วิเคราะห์หนังมาร์เวล กับประเด็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ซ่อนไว้โคตรแนบเนียน

  • 31,075
  • 05 มิ.ย. 2018

 

ไม่ใช่แค่หนัง! สิ่งที่ซ่อนไว้ใน Marvel ท่ามกลางความเป็นมิตรมีนัยยะซ่อนเร้นสะท้อนสังคมโลก

 

 

                กว่า 10 ปีที่จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลเข้ามามีอิทธิพลสำคัญในสื่อภาพยนตร์ทั่วโลก ณ เวลานี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จักเหล่าซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มนี้อีกแล้ว ด้วยภาพยนตร์กว่า 18 เรื่องที่ผ่านมา เราได้รับความบันเทิงครบทุกรูปแบบ และมาร์เวลยังคงค้นหาแนวทางใหม่ในการสร้างความประหลาดใจให้กับเราทุกครั้งในการดูภาพยนตร์อยู่เสมอ แต่ภายใต้ความบันเทิงที่เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัยนั้น ภาพยนตร์ของ Marvel ได้ซ่อนนัยยะอะไรบางอย่างที่สะท้อนสังคมโลกที่กำลังเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

 

                Iron Man 2 กับปัญหาการใช้อาวุธปืน

                Iron Man อาจจะดูเหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่คนสุดท้ายบนโลกที่ต้องการอาวุธปืน แต่ใน Iron Man 2 นี้มีนัยยะซ่อนเร้นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองอาวุธปืนในอเมริกา อย่างที่เราทราบกันหลังจากได้ชมภาพยนตร์ว่า ในภาคที่ 2 นี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากที่โทนี สตาร์กได้เปิดเผยตัวว่าเขาคือฮีโร่บุรุษเหล็ก ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีการประชุมหารือ และสภาคองเกรสได้มีการลงความเห็นให้สตาร์กส่งชุดเกราะและเทคโนโลยีให้กับกองทัพ แน่นอนว่ามหาเศรษฐีฮีโร่ผู้นี้ไม่มีทางยอม

                ทุกอย่างเกือบเลวร้ายถึงขั้นที่โทนี สตาร์กต้องทำสงครามกับอเมริกา แต่มันยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อปัญหาชีวิตรุมเร้าจนเขาเมาอย่างหนักในปาร์ตี้ และเข้าสวมเกราะพร้อมอาละวาดยิงปืนลำแสงของตัวเองไปทั่ว ทำให้ผู้พันโรดี้ต้องเข้ามาสวมชุดเกราะเพื่อหยุดยั้งโทนี หากเปรียบเทียบกับปัญหาการครอบครองอาวุธแล้ว คล้ายกับ Marvel จะพยายามสะท้อนว่าทุกคนมีสิทธิที่จะครอบครองอาวุธปืน แต่เมื่ออาวุธตกไปอยู่ในมือคนที่ผิด (ในกรณีนี้คือโทนีที่เมาอย่างหนัก) มันอาจกลายเป็นปัญหาต่อทุกคนได้

 

                Captain America: The Winter Solider กับองค์กรลับเบื้องหลังของรัฐบาล

                หนึ่งในเรื่องราวที่สร้างความน่าสนใจให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการเปิดเผยว่าในหน่วยชิลด์ ถูกองค์กรร้ายไฮดร้า แฝงตัวปฏิบัติแผนการของตัวเองมายาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมยังแทรกซึมไปถึงรัฐบาล โดยมีหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ (ในภาพยนตร์) เป็นหนึ่งในสมาชิกองค์กรไฮดร้า คนเดียวกับที่ลงมติให้โทนี สตาร์กยอมมอบชุดเกราะให้ใน Iron Man 2

                เรื่องดังกล่าวนี้สะท้อนออกมาว่า Marvel ได้นำเสนอเรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลไม่น้อยในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั่วโลก การเกี่ยวโยงคนนั้นคนนี้ว่ากระทำการอะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้นเบื้องหลังการปกครอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายส่วนตัว

 

                Thor: Ragnarok กับการต่อต้านการล่าอาณานิคม

                Thor: Ragnarok คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่หน้าหนังดูบ้าบอที่สุดเท่าที่มาร์เวลเคยสร้างมา แต่ภายใต้ความตลกเบาสมองที่ชวนให้หัวเราะแทบทุกนาทีนั้น ซ่อนนัยยะที่สำคัญเอาไว้นั่นคือ การต่อต้านการล่าอาณานิคม อย่างที่ทราบกันว่า เฮล่า พี่สาวคนโต ในอดีตนั้นเคยรบเคียงคางบิดา โอดิน ในการล่าดาวดวงต่าง ๆ จนแอสการ์ดสามารถยิ่งใหญ่ดั่งเช่นทุกวันนี้ สะท้อนถึงความรุนแรงของลัทธิล่าอาณานิคมที่เข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ เพื่อขยายขอบเขตอำนาจของตัวเอง

                เฮล่า คือวายร้ายหลักที่ทรงอำนาจที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ชัดเจนแล้วว่านี่คือการแสดงออกเพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคม การจะทำลายลัทธินี้ให้หมดสิ้นไปก็ต้องทำลายให้แหลกถึงแก่น ดังเช่นที่ธอร์ยอมเสียสละทำลายแอสการ์ด แหล่งพลังงานของเฮล่า นับเป็นการซ่อนนัยยะภายใต้ความบันเทิงที่แนบเนียนไม่น้อยเลย

 

                Spider Man: Homecoming กับปัญหาเศรษฐกิจ

                แฟน ๆ ต่างตื่นเต้นกับการกลับมาของฮีโร่ขวัญใจมหาชนอย่างสไปเดอร์แมน สาเหตุหนึ่งที่ฮีโร่พลังแมงมุมคนนี้ติดอยู่ในใจของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย อาจเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่ใกล้เคียงชีวิตของคนทั่วไปมากที่สุด นั่นคือปัญหาเชิงเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องพบเจอ ปัญหาปากท้องที่ทุกคนต้องประสบ ใน Spider Man: Homecoming สะท้อนผ่านสองตัวละครทั้งตัวปีเตอร์ พาร์คเกอร์เอง และวัลเจอร์ วายร้ายของเรื่อง

                ทั้งสองตัวละครต้องประสบกับพิษเศรษฐกิจ พวกเขาเป็นตัวละครในภาพยนตร์ฮีโร่ที่ไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า ออกปกป้องโลกโดยไม่ต้องกังวลปัญหาปากท้อง เพียงแค่ทั้งคู่เลือกที่จะแสดงออกสะท้อนปัญหาออกมาแตกต่างกัน สไปเดอร์แมนเลือกที่จะปกป้องผู้คนในฐานะเพื่อนบ้านที่แสนดี ในขณะที่วัลเจอร์นั้นเลือกแสวงหาโอกาสในการเอาครอบครัวและตัวเองให้รอด โดยไม่เกี่ยงวิธีการ สะท้อนผลกระทบการปัญหาเศรษฐกิจในทุกวันนี้ได้อย่างชัดเจน

 

                Iron Man 3 กับปัญหาการก่อการร้าย

                ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในบรรดาซีรีย์ของ Iron Man ภาคที่ 3 เล่าเรื่องราวที่ขยายสเกลไปถึงระดับการก่อการร้าย พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวได้อย่างเผ็ดร้อน เริ่มต้นจากการเปิดตัว แมนดาริน วายร้ายที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้นำการก่อการร้ายที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงหุ่นเชิดของนายทุนในการสร้างอุปสงค์ในการค้าอาวุธ หรือเทคโนโลยีของอัลดริช คิลเลียน การทดลองขยายขีดจำกัดของมนุษย์เพื่อต่อสู้ และใช้พวกเขาเป็นระเบิดฆ่าตัวตายในการทำลายล้าง

                แทบไม่แตกต่างจากสงครามในตะวันออกกลาง สะท้อนภาพการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอเมริกา วิพากษ์ว่าสงครามทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงภาพลวงหลอกที่ทางการสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะเพิ่มความต้องการในการค้าขายอาวุธ ท้ายที่สุด Iron Man 3 จบลงที่โทนี สตาร์กตัดสินใจระเบิดชุดเกราะทั้งหมดของตัวเองทิ้ง สะท้อนว่าหากต้องการจะหยุดปัญหาความรุนแรง หรือชนวนของสงครามก็ควรเริ่มต้นที่ตัวเองเสียก่อน

 

                Black Panther กับปัญหาชาวแอฟริกาพลัดถิ่น

                Black Panther สร้างปรากฎการณ์กลายเป็นภาพยนตร์เดี่ยวของฮีโร่ที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล นอกจากนั้นแล้วยังเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมและความเท่าเทียมอย่างชัดเจน เหนือจากนั้นคือปัญหาชาวแอฟริกาพลัดถิ่น หลายคนที่เคยจากบ้านมา จะด้วยหน้าที่หรือการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าก็ตาม ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นได้หากเราไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนมายาวนานคือ การหลงลืมวัฒนธรรมและจิตวิญญาณบ้านเกิด

                สะท้อนออกมาชัดเจนในฉากการก้าวเข้าไปในโลกของวิญญาณของทั้ง ที’ชัลล่า และ คิลมองเกอร์ ในขณะที่ราชาเสือดำก้าวเข้าไปแล้วพบกับบรรดาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คิลมองเกอร์กลับพบแค่เพียงพ่อของเขาที่เป็นเหมือนสิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งสุดท้าย อีกทั้งการประกาศสงครามของคิลมองเกอร์เพื่อต่อต้านชาววาคานด้าทั้งมวล สะท้อนความไร้รากของเขาที่ไม่ยึดติดในการอยู่ฝ่ายเดียวกับเชื้อสายแอฟริกันของตนเองแม้แต่น้อย

 

                Captain America: Civil War กับปัญหาความหวาดระแวงหลังเหตุการณ์ 9/11

                การปะทะกันของเหล่าฮีโร่ใน Civil War กลายเป็นเรื่องราวใหญ่ที่และสร้างปรากฎการณ์ในแบบที่ภาพยนตร์เรื่องไหนไม่เคยทำมาก่อน ชนวนปัญหาเกิดขึ้นจากสนธิสัญญาโซโคเวีย ก่อนจะปะทุการเป็นข้อบังคับควบคุมเหล่าฮีโร่จากเหตุการณ์อุบัติเหตุตึกระเบิดด้วยฝีมือของวันด้า แม็กซิมอฟ เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ก่อการร้ายตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ หรือ 9/11 แล้วแทบไม่ต่างกัน

                เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ หันหน้าเข้ามาหารือกันเพื่อหามาตรการป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หนึ่งในนั้นคือความพยายามควบคุมและเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของพลเมือง ด้วยเหตุผลความปลอดภัยส่วนรวม แน่นอนว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สะท้อนความคิดผ่านสองตัวละครหลักคือทั้งกัปตันอเมริกา และไอออนแมน

 

                ภายใต้ความบันเทิงแฝงไปด้วยนัยยะที่สะท้อนสังคมอย่างชัดเจน และทั้งหมดล้วนไม่ใช่ประเด็นที่บางเบา นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์มาร์เวลสามารถเข้าถึงผู้คนได้แทบทั่วทุกมุมโลก เพราะเลือกที่จะใช้ประเด็นที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องราวปัญหาใกล้ตัวที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ Ant Man ที่เล่าเรื่องราวชีวิตหลังออกจากถูกจองจำของผู้ต้องหา กับปัญหาการปรับตัวที่พวกเขาต้องเผชิญ ว่าจะเลือกทำตัวตามกฎหมายแล้วต้องต่อสู้อย่างยากลำบาก หรือเลือกจะไปใช้วิธีที่ง่ายกว่าและคุ้นเคยกว่า ต้องมาดูกันว่าใน Ant Man and the Wasp ที่เรากำลังจะได้ชมกันนี้จะสะท้อนออกมาในรูปแบบไหน 5 กรกฎาคมนี้ที่ Major Cineplex

 

Source: Looper

จอมเวทย์มหากาฬ

  • 26 October 2016
  • Adventure / แอ็คชัน / วิทยาศาสตร์ /
  • 115 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง