HIGHLIGHT CONTENT

แอนิเมชั่นไทย 'ยักษ์' 4 ตุลาคมนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

  • 16,323
  • 14 ก.ย. 2012

“มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกแห่งหน ทุกผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของหุ่นยนต์” สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล/ บ้านอิทธิฤทธิ์ / ซูเปอร์จิ๋ว/ เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส สุดภูมิใจที่ได้ร่วมกันสร้างฝันครั้งใหญ่ยิ่ง กับอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยที่มีชื่อสั้นๆ ว่า

ด้วยแรงบันดาลใจในตัวละครคลาสสิคจากมหากาพย์รามายณะ ราม, หนุมาน, ทศกัณฐ์ ฯลฯ จุดประกายไอเดีย ให้เขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ก่อนกำกับทุกภาพให้โลดแล่นเป็นการ์ตูนโดย

ประภาส ชลศรานนท์

พร้อมร่วมเดินทางสร้างสรรค์จินตนาการภาพ และเสียงให้เคลื่อนไหวอย่างมหัศจรรย์ จากหลากหลายศิลปินแห่งยุคในแขนงต่างๆ มาร่วมเนรมิตยักษ์ที่เรารัก ให้แผลงฤทธิ์บนผืนโลกใบนี้

4 ตุลาคมนี้ ถึงเวลาที่เรามั่นใจและเชื่อว่าทุกคนจะรัก “ยักษ์” เหมือนที่เรา “รัก”

แนวหนัง แอนิเมชั่น -แอ็คชั่น-ผจญภัย
ผู้สร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล/ บ้านอิทธิฤทธิ์/ ซูเปอร์จิ๋ว/ เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส
จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินการสร้าง บ้านอิทธิฤทธิ์และเวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส
กำกับภาพยนตร์ ประภาส ชลศรานนท์
ร่วมกำกับภาพยนตร์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, ประภาส ชลศรานนท์, ชัยพร พานิชรุทติวงศ์, วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ
ควบคุมการสร้าง พาณิชย์ สดสี
ที่ปรึกษา ปรัชญา ปิ่นแก้ว
ดำเนินการสร้าง กาญจนา ไทยถานันดร์
กำกับแอนิเมชั่น ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
เรื่อง ประภาส ชลศรานนท์
บทภาพยนตร์ ประภาส ชลศรานนท์, พัลลภ สินธุ์เจริญ, วิรัตน์ เฮงคงดี, ณัชพล เรืองรอง
ลำดับภาพ สมิทธิ์ ทิมสวัสดิ์
กำกับเสียงพากย์ พัลลภ สินธุ์เจริญ
บันทึกเสียง TECHNICOLOR
ฟิล์มแล็ป TECHNICOLOR
ดนตรีประกอบ จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน
ออกแบบเสียง ธีรศักดิ์ ไชยยศ
ออกแบบงานสร้างและกำกับศิลป์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
ให้ชีวิตให้เสียงโดย สันติสุข พรหมศิริ, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, ด.ญ.ชนินาภ ศิริสวัสดิ์, บริบูรณ์ จันทร์เรือง, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, แจ๊ป เดอะริชแมนทอยและนักแสดงรับเชิญ อุดม แต้พานิช
 

เรื่องราวของ “ยักษ์

หลังสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างหุ่นกระป๋องฝ่ายราม กับ หุ่นยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์จบลงแบบล้างเผ่าพันธุ์ปล่อยทิ้งให้สนามรบกลายเป็นเพียงสุสานซากเศษโลหะและเป็นขุมทรัพย์ให้กับบรรดาหุ่นค้าของเก่า และแล้วเรื่องราวมิตรภาพและการเดินทางผจญภัยของเจ้าหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูๆ ไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกันสักนิดเดียวก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอีกหลายล้านวันต่อมา เจ้าหุ่นตัวหนึ่งใหญ่ยักษ์สมร่างชื่อ “น้าเขียว” บ่งบอกตามลักษณะสีอันเป็นเอกลักษณ์ ดูน่าเกรงขาม กับ “เจ้าเผือก” หุ่นกระป๋องมินิตัวเล็กประเมินจากสภาพจากพวกค้าหุ่นยนต์เก่าบอกได้คำเดียวว่าไร้ราคา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหุ่น2ตัวต่างตื่นขึ้นมาจากการถูกขุดขึ้นพร้อมกับสภาวะหน่วยความจำเสื่อม ไม่จำอดีตไม่รู้อนาคต แถมยังมีโซ่พิเศษที่ตัดเท่าไหร่ก็ตัดไม่ขาดผูกล่ามติดกัน หนำซํ้างานนี้พอทั้งคู่ตื่นขึ้นมาก็อาละวาดซะจนเมืองขายของเก่ากระเจิดกระเจิงราบเป็นหน้ากลอง ทำให้ทั้งคู่ต้องหนีและกลายเป็นร่วมผจญภัยไปด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก ทีแรกดูเผินๆต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนเกินของกันและกัน แต่ตลอดการเดินทางกลับมีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นทำให้ทั้งคู่กลายเป็นฮีโร่โดยไม่รู้ตัว สร้างความผูกผันให้กับทั้งน้าเขียวและเจ้าเผือกก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทำให้ส่วนเกินกลายแปรเปลี่ยนเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ และจนวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจ กลับเป็นวันที่ต้องรู้ว่า... แท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขาคือใคร หน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินต่อไป ทำให้ต้องเลือกระหว่าง มิตรภาพกับหน้าที่ สิ่งใดสำคัญกว่ากัน

4 ตุลาถึงเวลาที่พวกเขาทั้ง 5 จะพา “ยักษ์” ออกเดิน

“ยักษ์” โปรเจ็คต์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ทุนสร้างกว่า100ล้านบาทที่ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล” จับมือร่วมกับ3พันธมิตรอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์ โปรดักชั่นเฮาส์ทีมผลิตแอนิเมชั่นที่ครํ่าหวอดและอยู่เบื้องหลังงานโฆษณา,มิวสิควิดีโอและภาพยนตร์ต่างๆ มานับไม่ถ้วน บ.ซูเปอร์จิ๋ว ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์วาไรตี้ขวัญใจเด็กๆและคุณพ่อคุณแม่ยืนหยัดยาวนานมากว่า 21 ปีและ บ.เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส ในการผนึกกำลังสร้างสรรค์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นสายเลือดไทยที่กลั่นจากสมองและสองมือกำกับของ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ อันดับต้นๆ ของประเทศที่คิดฝันอยากทำการ์ตูนมาค่อนชีวิต ผ่านลายเส้นดีไซน์การออกแบบอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา) การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยใช้เวลากว่า 6 ปี จนถึงวันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะร่วมกันพา “ยักษ์” ออกเดินเข้าไปอยู่ในใจคอการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างภาคภูมิใจ 4 ต.ค.นี้ทุกโรงภาพยนตร์ทั่วไทยทั้งในแบบเสียงไทยและเสียงภาษาอังกฤษ

เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ผู้สร้างแอนิเมชั่น “ยักษ์” หัวเรือใหญ่แห่งค่ายหนังใหญ่ยักษ์ “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล”

“ตั้งแต่คุณจิกมาเสนอชวนทำโปรเจ็คต์ยักษ์ด้วยกันว่าอยากหยิบรามเกียรติ์มาทำหนังโดยเอาทศกันฐ์ หนุมานมาทำเป็นหุ่นแล้วสู้กัน แน่นอนว่าเรื่องทศกันฐ์มันดีแน่ ใครๆ ก็รู้จักไม่ใช่แค่เมืองไทยด้วย เพราะเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องของเอเชีย ผมยังคิดในใจว่าการ์ตูนที่จะสร้างจะออกมาเป็นอย่างไรนี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เราร่วมกับคุณจิกประภาส ชลศรานนท์ และเวิร์คพอยท์พิคเจอร์โดยเขาได้ไปชักชวนพรรคพวกมาร่วมทุนด้วยอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์, ซูเปอร์จิ๋ว เราลงทุนไป 100 กว่าล้าน รอจนถึงวันนี้การ์ตูนเสร็จแล้ว ลองคิดในใจดูว่าเรารอมา 5-6 ปีกว่าจะได้เห็นภาพนี้ ยังจำได้วันที่คุณจิกชวนผมดูหนัง โอ้โห! คิดไม่ถึงว่าทางคุณจิกจะทำออกมาได้ดีอย่างนี้ ภาพทุกภาพสวยมากมีครบทั้งฉากบู๊ฉากรบตอนสนุกต่อสู้ผจญภัยแล้วตัวหนังก็สนุกมาก เป็นหนังการ์ตูนที่ครบรสพูดได้ว่ารู้สึกพอใจมาก อยากเชิญชวนให้คนดูทุกคนลองมาดูหนังการ์ตูนคนไทยเรื่องนี้ ว่าคนไทยเราก็มีฝีมือนะอย่างน้อยๆ ช่วยให้กำลังใจคนไทยบ้างที่ทุ่มเททำผลงานออกมาได้ขนาดนี้ เพื่อที่จะได้มีคนไทยที่ยังทำหนังการ์ตูนต่อไปได้อีก ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจและพอใจอย่างมาก คุณจิกทำได้ดีมากๆ”

“โอ๋-พาณิชย์ สดสี” หัวเรือใหญ่ “เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส” ผู้ควบคุมงานสร้างแอนิเมชั่น “ยักษ์”

“คือการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์เป็นหนังที่เป็นเรื่องราวของเพื่อน เราได้แรงบันดาลใจมาจากรามเกียรติ์ แต่ว่าไม่ใช่รามเกียรติ์เอามาสร้างใหม่นะ มันเป็นเรื่องเล่าอีกอย่างเลย มันคือศัตรูเก่าที่รบกันมาทุกเวอร์ชั่นของทุกประเทศในเอเชีย เล่าใหม่ในเวอร์ชั่นที่เป็นเพื่อนกัน ศัตรูที่ความทรงจำหายไปมาเป็นเพื่อนกัน ความทรงจำกลับคืนมาจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อคนเป็นเพื่อนกันจำได้ว่าเป็นศัตรูแล้วจะเป็นยังไง เล่าอีกแบบหนึ่งเลย เล่าแบบงานเขียนของพี่จิก เล่าโดยเพลงของพี่จิก เล่าโดยความรู้สึกที่อยากเล่าแบบพี่จิก เล่าโดยลายเส้นการ์ตูนของเอ็กซ์มีความเฉพาะตัวมาก มันน่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีมากๆ สำหรับพี่รู้สึกว่านอกจาก บทภาพยนตร์ที่สนุก การออกแบบงานสร้างที่ งดงาม แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ เนื้อหาดูแล้วมีอะไรให้คนดูในแง่ ความลึกของเรื่องราวและอารมณ์มากๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมจะสนุกสนานไปกับหนังเอนิเมชั่น”

วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ –ผู้สร้างร่วมภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์” พี่ซุป “ซูเปอร์จิ๋ว” ผู้เชื่อมั่นในพลังของการ์ตูนแอนิเมชั่น

“ความทรงจำที่ประทับใจสมัยอดีตของผมก็คือทุกเย็นก่อนกลับบ้าน ครูจะให้นักเรียนทั้งห้องท่องอาขยาน "บัดนั้น พระยาภิเภกยักษีเห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทาทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์ยังไม่ปลงชีวังสังขา อันโมขศักดิ์อสุรา พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้" เราผูกพันกับ รามเกียรติตั้งแต่วันนั้นโตขึ้นมา ความบันเทิงที่สุดของเราก็คือ การดูการ์ตูนทอม แอนด์ เจอรี่, หน้ากากเสือ, โดราเอม่อน ฯลฯเราเป็นเด็กที่โตมากับการ์ตูนต่างชาติ เมื่อถึงวัยทำงาน21ปี ที่มีโอกาสงานสร้างสรรค์รายการซูเปอร์จิ๋ว ประสบการณ์ที่ผูกพันกันทำให้เราเกิด "Dream" มีความฝันว่า วันหนึ่งเราอยากทำแอนิเมชั่นสัญชาติไทยให้ลือลั่นสักครั้งในชีวิต ผมแทบจะตอบรับในทันทีที่ได้รับได้รับคำชวนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์"ยักษ์"เพราะศรัทธา ในทุกผลงานของพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เชื่อมือการแอนิเมชั่นของคุณเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ และเชื่อมั่นในมุมมองของสหมงคลฟิลม์ฯ หลายปีที่ผ่านมานี้ยักษ์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้ชม ถึงวันนี้ความตื่นเต้นของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อยากให้ทุกคนได้ดูได้ชมได้แรงบันดาลใจจากการชมภาพยนตร์"ยักษ์"แอนิเมชั่น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยผมเชื่อว่าทุกคนจะรัก และภูมิใจกับ "ยักษ์ "ไปด้วยกันครับ เอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ร่วมกำกับภาพยนตร์และกำกับแอนิเมชั่น “ยักษ์” ผู้ก่อตั้ง “บ้านอิทธิฤทธิ์” “เสน่ห์ของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่บท เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ผมและทีมงานอยากทำเลยและบทที่พี่จิกเขียน มันแข็งแรงพอที่จะมาทำการ์ตูน แล้วคาแร็คเตอร์ที่ผมนำไปให้พี่จิกดูมันเข้ากันได้พอดี จนเรามาช่วยกันทำให้มันออกมาสมบูรณ์มากขึ้น เอาความเป็นสากลกับความเป็นไทยมาผสมกัน ที่สำคัญผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่การ์ตูนนะ ผมเคยคุยกับพี่จิกว่าการ์ตูนเรื่องนี้มันเป็นการ์ตูนคน มันเป็นการ์ตูนคนแสดง เราจะทำการเคลื่อนไหวอิงจากคนจริงๆ หมายถึงการเคลื่อนไหวมันจะเป็นตามจริง เช่น ยักษ์วิ่ง-เดินก็เดินหนักๆ ช้าๆ จริงๆ ยักษ์เศร้าก็เศร้าจริงๆ มันจะเป็นงานที่ไม่ใช่การ์ตูนที่เด็กมาก เราจะไม่ให้การเคลื่อนไหวดูเป็นการ์ตูนเกินไป แต่ถ้าอันไหนเป็นฉากสนุกๆ เราจะทำการเป็นเคลื่อนไหวเป็นแบบการ์ตูนไว้บ้างเช่นฉากร้องเพลง แต่อะไรที่แสดงอารมณ์เยอะๆ ผมจะให้แอนิเมเตอร์อิงจากจากการเคลื่อนไหวของคนพากย์ให้ใกล้เคียงที่สุดครับ ถึงจะเป็นหุ่นแต่เราต้องทำให้คนเชื่อก่อนว่าตัวนี้มันไม่ใช่แค่อนิเมชั่นนะ มันเป็นหุ่นที่มีชีวิตจริงๆ มีการเคลื่อนไหวแบบคนจริงๆ มีอารมณ์มีความรู้สึกต่างๆ มีโกรธกัน มีงอนกัน มีสู้กัน มีความเจ็บปวด เป็นหนังที่จะเล่าถึงความรู้สึกของเพื่อนเน้นความสัมพันธ์ อารมณ์สูงมาก” ประภาส ชลศรานนท์ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยง “ยักษ์” “ทุกงานที่ผมทำมันมักจะมีตัวเราเข้าไปอยู่เหมือนเพลงของเฉลียง เหมือนเรื่องสั้น เหมือนบทละคร แอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็มีตัวเราเข้าไปอยู่ สิ่งแรกที่ผมตั้งใจให้คนดูได้ก็คือความสนุกและความตื่นใจ ความตื่นใจเวลาดูหนังนี่มันเป็นความสุขนะ และผมก็คิดว่าคนดูแต่ละวัยจะได้อะไรเพิ่มนอกจากความสนุก มีหลายความคิดที่ผมสอดแทรกไว้ในหนัง หัวใจของยักษ์คือเรื่องมิตรภาพเรื่องหน้าที่ ทำไมผมถึงอยากพูดเรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ มันทำให้เราเดินต่อในชีวิตอย่างราบรื่น คำถามมากมายที่ผมตั้งไว้ในหนังไม่ว่าจะเป็น เราเกิดมาทำไม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าที่ของเราคืออะไร หรือถ้าเราถูกกำหนดให้มีหน้าที่รบกันไปตลอด ที่แท้แล้วมันคือหน้าที่ของเราจริงๆ หรือเปล่า ? ที่ชื่อเรื่องยักษ์เพราะยักษ์ภาษาไทยมันไม่ได้แปลว่าใหญ่อย่างเดียว มันแปลว่าดุร้ายด้วย ยักษ์มันแทนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของคน พลังมหาศาลอย่างยักษ์นี่ถ้าเราคุมมันได้มันก็จะเป็นพลังที่ยอดเยี่ยม สังเกตดีๆ ในหนังยักษ์จะมีบางช่วงที่มีเหตุฉุกเฉินพลังของเขาจะออกมาเอง หรือว่าพอเขาจะช่วยเพื่อนไอ้พลังอันยิ่งใหญ่ตัวนี้ก็จะออกมา ยักษ์มันเป็นทั้งความรักและความโกรธ เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย นี่คือพลังที่แอบอยู่ในมนุษย์ทุกคน ถ้าคุมมันไม่อยู่มันก็จะออกมาคุมเราเอง”

ทำไมต้องยักษ์? พลิกรูปแบบรามเกียรติ์ในอวตารที่สิบล้านเอ็ด

ด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในตัว “ทศกัณฐ์”ราชันย์แห่งผองยักษ์ ตัวละครเอกแห่งมหากาพย์รามายณะสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชียที่ “ประภาส ชลศรานนท์”มองว่านี่คือสุดยอดงานครีเอทีฟที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ชิ้นเอกที่ปรากฏขึ้นบนผืนพิภพ พูดได้ว่ามนต์เสน่ห์ของ “ทศกัณฐ์” ยักษ์ 10 หน้า 20 แขน 20 มือและเหล่าตัวละครอันหลากหลายรวมทั้ง “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม ที่ซนยังกะเด็กแต่ถึงกระนั้นก็คือฮีโร่ที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ชนิดที่ยากจะหาใครเทียบทานโดยเฉพาะหางหนุมานที่มัดภูเขาบรรพตได้ทั้งลูกรวมไปถึงบรรดาฉากรบแห่งจินตนาการต่างๆ ในมหากาพย์รามายณะคือภาพจำที่ติดตามาตลอดชีวิตและหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องนำสิ่งที่ตนเองรักนำมาทำอะไรสักอย่าง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วโปรเจ็คต์ “ยักษ์” ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของภาพยนตร์โดยมีประภาส ชลศรานนท์รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ จากแนวคิดและไอเดียของตนเองร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับพัลลภ สินธุ์เจริญ เพียงทว่าไม่ใช่ภาพยนตร์คนแสดงแต่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ หลายคนอาจแปลกใจที่ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนระดับแถวหน้าของประเทศลุกขึ้นมากำกับหนังการ์ตูน แต่ถ้าใครที่ได้สัมผัสและรู้จักตัวตนของประภาสแล้วจะรู้ว่าเขาคิดเขาฝันที่จะทำหนังการ์ตูนมาไม่ตํ่ากว่า 10 ปี “เรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่อยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่มันยังหามือคู่ใจไม่ได้ และโดยเทคนิควิธีการในขั้นตอนการทำแอนิเมชั่น พอเราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาจริงๆ จังเลยรู้ว่า หนึ่งมันต้องใช้เงินเยอะมาก สองเราต้องไปใช้ทีมงานในต่างประเทศด้วย เพราะถ้าจะพึ่งคนเขียนคนวาดแค่ในประเทศไทยอย่างเดียวก็คงไม่พอ คือเราก็ศึกษาหาข้อมูลมาตลอดนะ แต่เรารู้ว่ายังทำไม่ได้ก็ไม่คิดอะไร ก็หันไปทำอย่างอื่นก่อนจนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ แล้วตอนนั้นเทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำแอนิเมชั่นพัฒนาไปไกล แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำการ์ตูนเริ่มจะมีความเป็นไปได้ และเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ขึ้นพร้อมกับโปรเจ็คต์ที่จะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น”

จุดกำเนิด “ยักษ์”

แน่นอนว่าในบรรดาลิ้นชักแห่งจินตนาการของนักคิดอย่างพี่จิกประภาสล้วนอัดแน่นไปด้วยสารพัดไอเดียที่ผ่านการบ่มเพาะมาในต่างวาระและถึงพร้อมที่จะถูกเรียกหยิบมาใช้เมื่อสบโอกาสและเวลา แล้วจะมีไอเดียอื่นใดเล่าที่ฝังอยู่ในใจถ้าไม่ใช่ “ยักษ์ทศกัณฐ์” “เมื่อเริ่มประชุมบท ผมบอกกับทีมงานว่ารามเกียรติ์หรือรามายณะเป็นสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชีย เป็นสุดยอดงานความคิดด้านครีเอทีฟ เป็นสุดยอดปรัชญา ประเทศไหนๆ ก็รู้จักและก็มีรามายณะเป็นของตัวเอง แล้วผมก็เริ่มส่งคนไปศึกษาเรื่องรามายณะของชาติต่างๆ พอเราไปศึกษาเรื่องว่ารามเกียรติ์มีหลายอวตารมาก แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน วิธีออกแบบไม่ต้องพูดถึงต่างกันลิบลับไม่ว่าจะมาจากอินโดนีเซีย เขมร ลาว หรือว่าทางทิเบตไม่เหมือนกัน แต่ของทุกชาติมีหนุมาน ทศกันฐ์ พระรามเหมือนกันแน่นอน ผมชักลังเล ถ้าผมทำรามเกียรติ์แล้วเรื่องราวมันผิดไปจากที่คนทั่วๆ ไปรู้ละ แล้วผมก็ไปเจอประโยคหนึ่งซึ่งสำคัญเหมือนกุญแจในการเขียนบทหนังเรื่องนี้เป็นประโยคจากพราหมณ์ตุลไสดาษมหากวีผู้เป็นคุรุในทศวรรษที่ 16 ท่านกล่าวว่า “Rama is born in countless ways, and there are tens of millions of Ramayanas…” ด้วยคอนเซ็ปท์นี้ผมตีความว่ามันเป็นการอวตารมาเกิดใหม่หลายชาติ มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกใบนี้ในชีวิตของมนุษย์เราแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ผมตั้งคำถามไว้ตรงนี้เลยมันจะต้องรบกันไปอีกตลอดกาลเหรอ? เลยเกิดความคิดว่าผมจะทำอวตารที่สิบล้านเอ็ด อวตารที่หนุมานเป็นหุ่นกระป๋องต่อสู้กับทศกัณฐ์ซึ่งเป็นหุ่นยักษ์ หุ่นกระป๋องจะต้องกระจอกและน่ารักเหมือนลิง ส่วนหุ่นยักษ์แน่นอนจะต้องตัวใหญ่และดูน่ากลัวที่สุด ผมคิดเดี๋ยวนั้นเลยว่าหนังเรื่องนี้ชื่อ ยักษ์ แล้วผมก็คิดต่อว่าถ้าหนุมานทหารเอกของพระรามรบกับอสูรทศกัณฐ์มาสิบล้านอวตารแล้ว อวตารนี้จะยังรบกันอีกไหม หรือว่าผมจะให้เขาทั้งสองเป็นเพื่อนกันดี?รามเกียรติ์พูดถึงมหาสงครามมาตลอด รามเกียรติ์ฉบับนี้เราจะหยุดสงครามกันไหม เราจะ REVERSE กลับมาใหม่ ถ้าเราให้ทั้งคู่ไม่ได้รบกัน นี่คือจุดเริ่มต้นเราก็เลยคิดตีลังกากลับมาใหม่ผูกเรื่องที่เอาแค่บางอย่างในรามเกียรติ์เช่นตัวละคร, ฉากทีเด็ดที่พวกเราจำได้เอามา REVERSE กลับใหม่ว่าถ้าอวตารคราวนี้ที่เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งไม่เหมือนกับอวตารครั้งที่แล้วละ เออมันจะเป็นยังไงนะ นี่คือต้นที่มาของความคิดที่เราจะทำเรื่องนี้” เพียงทว่าการขึ้นจอในรูปแบบแอนิเมชั่นของรามเกียรติ์ในลายมือของพี่จิกประภาสที่ครั้งหนึ่งเกือบมาในชื่อของรามเกียร์ (ฟันเฟืองของพระราม) คือการตีลังกา 360 องศา 508 ตลบคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการหยิบเอาตัวละครคลาสสิคของรามายณะมาตีความและนำเสนอในรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาเพราะครั้งนี้จะเป็นรามเกียรติ์ในโลกของหุ่นยนต์ “ที่คิดว่าเป็นหุ่นยนต์ก็เพราะเคยคิดว่าเป็นหนังคนได้มั้ย จากเรื่องที่เราต้องการนำเสนอซึ่งคิดว่าได้ แต่ที่เป็นหุ่นยนต์แต่ที่เป็นแอนิเมชั่นเพราะว่ามันรุนแรงได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ารุนแรง มันอาจจะแค่รู้สึกว่ามันน่ารักหรือมันเด๋อด๋าเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นหนังคนมันจะรุนแรงมากกว่านี้ ไม่ได้นะ ซึ่งจริงๆ มันไม่รุนแรงนะ แต่พอมันมาอยู่ในโลกของแอนิเมชั่นโลกของหุ่นยนต์ พอมันฟาดดังปั้งมันก็คือท่อนเหล็กล้ม ที่น่าสนใจคือมันมี MOVEMENT ของความเป็นแอนิเมชั่นสูง ถามว่าอะไรมาก่อนระหว่างรามเกียรติ์กับหุ่นยนต์มันมาไม่พร้อมกันบางทีหุ่นยนต์ก็มาก่อนแล้วค่อยรามเกียรติ์ก็มีแล้วอย่างเราก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่ามีคนคิดรามเกียรติ์เป็นเวอร์ชั่นต่างๆ การที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดีนะ หนุมานจะเป็นยังไง ทศกัณฐ์จะเป็นยังไง แต่เราไปอีกขั้นหนึ่งคือเราจะไม่เล่ารามเกียรติ์ที่พวกเราเคยรู้มา แต่จะเอาฉากบางฉากและเอาตัวละครมาเล่าโดยเขียนเรื่องใหม่หมดเลย เหมือนกับว่าเมื่อมันเกิดใหม่ มันก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา และเป็นเรื่องที่เราอยากเล่าที่เราอยากพูดถึงและก็ตั้งชื่อเดี๋ยวนั้นเลยว่าเรื่องนี้ชื่อ “ยักษ์” เพราะเราจะเล่าตัวนี้เป็นตัวเอกไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย พร้อมผูกเรื่องสอดแทรกปรัชญาและมุมมองในแบบประภาส ชลศรานนท์ ผ่านลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเอ็กซ์ชัยพร พานิชรุทติวงศ์แห่งบ้านอิทธิฤทธิ์ “คุยกันเริ่มแรกกับพี่จิกว่าการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เราจะทำคือเป็นเรื่องรามเกียรติ์ครับ แต่เราไม่ทำรามเกียรติ์ เราจะไปทำหุ่นยนต์ที่มีกลิ่นอายเป็นรามเกียรติ์ มันเป็นเรื่องราวของมิตรภาพหลังจากที่ทศกัณฐ์กับหนุมานสู้กัน ทั้งสองสู้กันในสงครามยิ่งใหญ่และก็เกิดระเบิดขึ้นจากรามที่ยิงศรลงมาเพื่อฆ่าทศกัณฐ์ ทำให้ทุกอย่างหายเกลี้ยง ยกเว้นหนุมานกับทศกัณฐ์ พอเวลาผ่านไปทั้งสองตื่นขึ้นมา ทั้งสองคนนี้จำไม่ได้เลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร แต่ตอนที่สู้กัน โซ่ของหนุมานไปปักที่ทศกัณฐ์ และเนื้อเหล็กของทั้งสองนั้นเป็นเหล็กสงคราม เหล็กพิเศษที่ไม่สามารถที่จะตัดได้ ทำให้ทั้งสองต้องตัวติดกันโดยมีโซ่เชื่อมโยงไว้อยู่ไปไหนไม่ได้ต้องไปด้วยกัน ทั้งสองเลยออก เดินทางหาวิธีที่จะตัดโซ่แยกออกจากกันให้ได้ ในระหว่างนั้นก็เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนขึ้นมา แต่ในระหว่างที่เดินไปหนุมานดันจำความได้ว่าตัวเองเป็นทหารเอกของราม ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดคำถามแล้วว่าจะเลือกอย่างไหนระหว่าง มิตรภาพหรือหน้าที่”

มาตรฐานของ “ยักษ์” นำไปสู่ แอนิเมชั่น 6 ปีที่มาพร้อมหลากหลายองค์ประกอบ ที่จะทำให้ “ยักษ์” เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นแห่งปรากฎการณ์

ไม่เพียงแค่ชื่อแต่พูดได้ว่าแอนิเมชั่นสายเลือดไทยทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาทเรื่องนี้จะเป็นที่เห็นพ้องต้องกันทั้งจาก“คนต้นคิด”อย่าง“จิก-ประภาส”ไปจนถึงคนที่ต้องถ่ายทอดจินตนาการให้กลายเป็นภาพอย่าง“เอ็กซ์-ชัยพร”แน่นอนว่ารวมไปถึงผู้สร้างอย่าง “สหมงคลฟิล์มฯ” “บ้านอิทธิฤทธิ์” “ซูเปอร์จิ๋ว” และ “เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส” ตลอดจนทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการเนรมิตให้เกิดเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นฟอร์มใหญ่ “ยักษ์” ว่าจุดหมายปลายทางของฝันครั้งนี้ที่ทุกคนจะออกมาเร่ขายร่วมกันอย่างน้อยๆ คงกินเวลาถึง 5-6 ปีและจุดหมายปลายทางคงไม่ได้ใกล้แค่เอื้อมเป็นแน่แท้ จากบทภาพยนตร์ทำให้ทีมแอนิเมเตอร์ต้องเนรมิตฉากเหตุการณ์ในเรื่องที่มีไม่ตํ่ากว่า 10 ฉาก ซึ่งล้วนแล้วเป็นฉากใหญ่อลังการที่ใช้เวลาอย่างน้อย 6-10 เดือนแทบทั้งสิ้น บางฉากมีตัวการ์ตูนที่ต้องถูกวาดขึ้นมานับร้อยๆ พันๆ ตัวเพื่อร่วมในฉากดังกล่าว โดยการผจญภัยเพื่อมุ่งหน้าตัดโซ่ของเจ้าเผือกและน้าเขียวเองจะต้องพานพบหุ่นสารพัดผ่านเมืองต่างๆ ที่ทุกตัวละครล้วนแตกต่างกันหลากหลายไปตามบทบาทอารมณ์ของเรื่องราวทั้งผจญภัย สนุกสนาน ระเบิดเสียงหัวเราะ ซาบซึ้งไปจนถึงสมรภูมิรบของมหาสงครามระหว่างหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศของการดำเนินเรื่องในรูปแบบของมิวสิคคัลที่ตัวละครบอกเล่าเรื่องราวผ่านบทพูดที่สอดแทรกด้วยบทเพลงที่สร้างอารมณ์ให้กับตัวภาพยนตร์ตามความตั้งใจของผู้กำกับซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเพลงเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นผู้ชายที่ชื่อประภาส ชลศรานนท์ขนาดไหน “อย่างมิวสิคคัลสำหรับแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์ก็มีความจำเป็นนะมันทำให้อิ่มหรือแม้แต่งานของผมเองหลายชิ้น ก็มักใส่ความเป็นมิวสิคคัลเข้าไปอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วมันคล้ายๆ กับเป็นความชอบส่วนตัวด้วย แต่การทำมิวสิคคัลนี่ก็ถือว่าเพิ่มขั้นตอนในการทำการ์ตูนขึ้นไปอีกนะ ซึ่งความเป็นเพลงตรงนี้มันจะช่วยทำให้แอนิเมชั่นยักษ์มีความเป็นกวีอยู่นิดหนึ่ง บางทีมันลดโทนของความหนักลงมาด้วย แล้วเวลาเราเล่าอะไรด้วยเพลง ถ้าจังหวะดีนะ มันจะทำให้รู้สึกมาก เป็นความตั้งใจของเราที่วางไว้ที่มีตั้งแต่อยู่ในบทเริ่มแรกเลย ว่าจะต้องมีเพลงตรงนี้ๆ หรือมีฉากที่เป็นมิวสิคคัลนะ” แต่ถึงกระนั้นหากภาพเคลื่อนไหวที่ผ่านขั้นตอนกระบวนการทำออกมาอย่างเสร็จสมบูรณ์ไม่สอดคล้องสนับสนุนภาพรวมของเรื่องราวหรือตรงตามแนวทางความตั้งใจผู้ให้กำเนิดยักษ์ก็พร้อมที่จะยกหรือหั่นฉากดังกล่าวออกจากภาพยนตร์ทันทีถึงแม้ว่าทีมแอนิเมเตอร์จะใช้เวลา 4 เดือน 6 เดือน หรือ 10 เดือนสำหรับฉากดังกล่าวก็ตาม นั่นคือไม่ดีรื้อทำใหม่วาดใหม่ตามมาตรฐานของประภาส ชลศรานนท์ “ต้องบอกว่าพี่จิกเองแกมีมาตรฐานสูงมากๆขนาดลองอะไรไปเยอะแล้วและคิดว่ามันดีแล้ว แต่พอวันหนึ่งแกคิดอะไรได้ใหม่ขึ้นมาอีก แกเปลี่ยนแกรื้อแกทิ้งดื้อๆ จะบอกว่าแกมีความต้องการที่ชัดเจนลองก็ส่วนลอง พอได้สิ่งๆ นั้นมาแล้วมันไม่ใช่แกยอมทิ้งเวลาเป็นปีเพื่อสร้างใหม่ที่แกคิดว่ามันใช่ที่สุดในความคิดของแก แกไม่ยอมเอาสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ไว้ในหนังเลย ซึ่งจะบอกว่ามันก็ยากและมันยากในหลายๆ อันจะบอกว่ามันทิ้งอะไรไปเยอะ ไอ้ที่ทิ้งดีนะไม่ใช่ไม่ดี ก็ดีแต่ไม่ตรงกับสิ่งที่แกคิด เราเห็นในความพยายามของแกคือต้องคนพลังเยอะมาก ต้องไม่เสียดายด้วย ยกตัวอย่างมีอยู่ฉากหนึ่งมิวสิคคัลเลย เป็นฉากร้องเพลงประมาณว่าหุ่นยักษ์ถูกขุดขึ้นมา ชาวเมืองร้องเพลงกัน เป็นฉากที่ทำโพรเสสนาน ร้องเพลงคอมโพสต์เพลงทำมา เขียนแอนิเมทตัดต่อเสร็จดีมากเลย เป็นใครใครก็ชอบ แต่ในหนังไม่มีนะ แกทิ้งแกว่าไม่ใช่มันเยอะไปมารื่นเริงอะไรตอนนี้ ซีนนั้นถ้าดูเป็นตอนๆ ดีมากเลย สนุกด้วย แต่ถ้ามาอยู่ในหนังในความคิดของพี่จิกแกคิดว่าเยอะไป มันทำให้เรื่องอืด แล้วแค่ฉากนี้ฉากเดียวนะเขียนกันอยู่หกเจ็ดเดือนนะ ไม่ใช่น้อยๆ มันเป็นซีนยาว เป็นแบบ CROWD SCENE เขียนเมืองทั้งเมือง คนเขียนแอนิเมชั่นทั้งเมืองตัวประกอบโมเดลเป็นร้อย โอ้โหมันน่าเสียดาย เราคิดว่าถ้าเป็นหนังคนคงประมาณซีนสงครามหรือซีนร้องเพลงที่คนทั้งเมืองลุกขึ้นมาเต้นนะ แล้วกล้องเลื้อยไปเลื้อยมาและโปรดักชั่นใหญ่มาก ในที่สุดไม่เอา” พาณิชย์ สดสี ผู้ควบคุมงานสร้างแอนิเมชั่นยักษ์ที่ผ่านการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะมันสมองระดับหัวกะทิคู่กับจิกประภาสมากว่า 2 ทศวรรษในส่วนของรายการทั้งหมดในนามของบ.เวิร์คพอยท์เอนเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งรู้แนวคิดสไตล์และวิธีการทำงานตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้ให้กำเนิดยักษ์ได้เป็นอย่างดีขยายความให้ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีกในเหตุผลที่ตอกยํ้าถึงความอลังการงานสร้างของโปรเจ็คต์ฟอร์มยักษ์สมชื่อ เมื่อ 1 ในความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นของการผลิตแอนิมชั่นยักษ์มาพร้อมโจทย์ที่ว่า“ยักษ์จะเป็นแอนิเมชั่นสัญชาติไทยเรื่องแรกที่ผลิตขึ้นมาทีเดียว2เวอร์ชั่น2ภาษานั่นคือเสียงไทยและเสียงภาษาอังกฤษ” “ปกติเราทำหนังเราก็มีภาษาไทยอยู่แล้ว แต่สำหรับการ์ตูนยักษ์เราตั้งใจว่าต้องทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วยก็เพื่อหวังขายต่างประเทศด้วย โดยในประเทศไทยก็มีฉายให้ชมทั้งสองเวอร์ชั่นทั้งไทยและภาษาอังกฤษ เวอร์ชั่นไทยก็ดูกันไป ชาวต่างชาติหรือคนไทยที่ดูหนังที่เป็นเสียงภาษาอังกฤษก็จะได้ชมด้วย หรือบางคนดูไทยแล้วอยากดูภาษาอังกฤษอีกก็ได้ โดยในส่วนของการพากย์ภาษาไทยก็ว่ากันไปตามคาแร็คเตอร์ของตัวนั้นๆ เสียงก็ให้ตรงกับลักษณะคาแร็คเตอร์อันนี้ของเวอร์ชั่นไทยโดยมีคุณพัลลภ สินธุ์เจริญมากำกับนักพากย์ที่เราได้คัดเลือกมามีคุณหนุ่ม-สันติสุข, คุณหอย-เกียรติศักดิ์, คุณแจ๊ป-เดอะริชแมนทอย, มีตั๊ก-บริบูรณ์, มีโน้ส-อุดม, มีพี่เหมี่ยว-ปวันรัตน์ มีใครต่อใครเต็มไปหมดเลย ทีนี้พอมาพากย์ภาษาอังกฤษก็ได้คุณทอดด์ ทองดีซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เข้าอกเข้าใจภาษาไทยเป็นอย่างดีและมีพื้นฐานทางด้านดนตรีด้วยมารับหน้าที่ในส่วนของการควบคุมดูแลการพากย์ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเพราะตัวคาแร็คเตอร์ในเรื่องมีหลายตัวและเขาต้องคัดหาชาวต่างชาติที่มีเสียงสอดคล้องตรงกับคาแรคเตอร์อย่างเช่น หุ่นกระป๋องเผือกคุณทอดด์เขามองว่าคนนี้จะเป็นคน AGGRESSIVE หน่อยๆ ก็น่าจะมีสำเนียงนิวยอร์ค หรืออย่างน้าเขียวหุ่นยักษ์ของเราซอฟท์ๆ จะออกเป็นพวกคนแอลเอ คนแอลเอจะชิลชิลหน่อย ส่วนช่างที่ขายนํ้ามันเครื่องพวกนี้จะเป็นคนใช้แรงงานจะสำเนียงเม็กซิกัน บางหุ่นเป็นตัวคาแร็คเตอร์ที่ขายเครื่องดื่มในบาร์คนนี้สำเนียงสก็อตแลนด์นะ พวกสก็อตทำเหล้าสุราขาย หุ่นบางตัวแอดเวนเจอร์หน่อยเป็นนักปีนเขาเป็นคนออสเตรเลีย ภาคภาษาอังกฤษจะมีคาแร็คเตอร์เสียงที่มันมีลักษณะนิสัยของคาแร็คเตอร์ตัวนั้นๆ เป็นคนจริงๆ อย่างนี้”

รวมสุดยอดฝีมือร่วมสร้าง “ยักษ์”

สิ่งพิเศษอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่รวมสุดยอดบุคคลในวงการบันเทิงมากฝีมือจากแขนงต่างๆ มาร่วมกันสร้างฝันครั้งใหญ่นี้ให้สำเร็จ สาเหตุหนึ่งที่งานครั้งนี้มีบุคคลมากมายเข้ามาร่วมงานก็เพราะพี่จิกประภาส เป็นบุคคลต้นแบบที่ศิลปินหลายคนให้ความเคารพนับถือ เมื่อทุกคนทราบข่าวว่าพี่จิกกำลังจะมีงานชิ้นใหม่จึงพร้อมใจกันเข้ามาช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งพาณิชย์ สดสี โปรดิวเซอร์ของเรื่องนี้ได้เผยไว้ว่า “หากใครได้ทำงานกับพี่จิก ผมจะบอกทุกคนเลยว่า มันจะหนักแต่มันสุข แล้วพี่จิกก็เป็นต้นแบบของใครต่อใครมานานมาก พอพี่จิกแกทำอะไร คนที่รู้จักกันอยู่หรือว่าชอบพี่จิก เขาก็จะเข้ามาช่วย ก็จะเป็นการรวบรวมหมู่มวลคนที่รู้จักชอบพอกัน ที่เคารพนับถือพี่จิกมาร่วมงานกันเยอะมากเลยก็เดี๋ยวจะได้เห็นกันในลิสต์ของผู้คนที่มาร่วมทำงานกันก็น่าจะสร้างอะไรให้คนดูสนุกสนานได้เยอะนะครับ” ตัวอย่างของบุคคลพิเศษที่มาร่วมงานครั้งนี้ตั้งแต่ในส่วนของเพลงประกอบภาพยนตร์ “เกิดมาเป็นเพื่อนเธอ” เรียกได้ว่าเป็นการผนึกกำลังของไอดอลยุคนี้อย่างแท้จริง เพราะได้ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข มารับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง-ทำนอง พร้อมกับได้กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ขวัญใจชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Room39 มาเป็นผู้ถ่ายทอดเสียงเพลงสุดไพเราะ และได้ “นิ้วกลม” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียน-ครีเอทีฟผู้กำกับโฆษณาสุดฮอตมารับหน้าที่กำกับมิวสิควิดีโอ ซึ่งพี่จิก-ประภาสได้เผยถึงการร่วมงานกับศิลปินทั้งสามว่า “ผมเลือก แสตมป์ มาแต่งเนื้อร้องและทำนองเพราะชอบภาษาการแต่งเพลงของเขาที่เรียบง่ายและนุ่มลึก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเลือกวง Room39 มาเป็นผู้ร้องเพลง เพราะนอกจากเป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ วงนี้ยังเป็นวงดนตรีแบบกลุ่มเพื่อน ตรงตามคอนเซ็ปท์ของเรื่องที่ว่าด้วยมิตรภาพ แถมเป็นแก๊งผู้ชายสองคนผู้หญิงหนึ่งตรงกับแคแร็คเตอร์หลักในเรื่องได้อย่างพอดี ส่วน เอ๋-นิ้วกลม ผมชอบแนวคิดของเขาในหนังสือ และชอบไอเดียทำโฆษณาที่มีความคิดเข้าถึงคนรุ่นใหม่ งานของเขาคนดูเอาหัวใจไปสัมผัสได้นะ พอชวนมาดุหนังเขาตีความเรื่องมิตรภาพใจความหลักของหนังเรื่องนี้ออกมาได้โดยไม่ต้องเกริ่นบอกเลย” นอกจากแสตมป์จะมาเป็นผู้แต่งเพลงประกอบแล้วเขายังมีอีกหนึ่งบทบาทก็คือการร้องเพลงประกอบเรื่องราวในภาพยนตร์ เป็นเหมือนผู้เล่าเรื่องบรรยายฉากต่างๆ อีกด้วย ซึ่งแสตมป์ก็ได้เผยถึงความรู้สึกในการทำงานครั้งนี้ว่า “ก็ตั้งแต่ทราบว่าพี่จิกจะทำหนังแอนิเมชั่น ก็รู้สึกว่า เอาแล้วล่ะเมืองไทยคงจะมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นเจ๋งๆ จ๊าบๆ แล้วล่ะ พอพี่จิกโทรมาชวนแต่งเพลงธีม และร้องเพลงก็รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มากเลย เพราะงานของพี่จิกเป็นงานสากล คือทำแล้วไม่ได้ทำดูแค่เมืองไทย เรียกว่าทำแล้วเอาให้ถึงตาย (หัวเราะ) พี่จิกทำอะไรก็ตามจะต้องระดับโลก งานของผมอย่างแรกคือแต่งเพลงที่เป็นตัวสรุปเนื้อหาของหนัง ก็เลยคิดว่าถ้าเราเอาเรื่องของภพชาติมาแต่งเป็นเพลงน่ารักๆ มันก็จะมีทั้งความเป็นไทย และมันก็ดูเท่ห์ดีด้วยนะที่ได้พูดในหนังการ์ตูนแอนิเมชั่น นอกจาก Room39 ซึ่งมาร้องเพลงให้แล้วนะครับ เพลงนี้ก็เป็นเกียรติกับผมมากเลยที่ได้ มีผู้กำกับในความฝันของผมคนนึงเลยคือพี่นิ้วกลมนักเขียนชื่อดังแห่งยุคมาช่วยทำมิวสิควีดีโอให้ มันเลยมีทั้งความเป็นนิ้วกลม มีความเป็น Room39 แล้วก็มีความเป็นแสตมป์อยู่ในนั้นก็น่าจะเจ๋งดีนะครับ ส่วนอีกงานที่ผมทำก็คือร้องเพลงประกอบฉากในหนังซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เป็นการร้องที่เหมือนมิวสิคคัลเหมือนสกอร์หนัง เราเป็นคนเล่าเรื่อง ซึ่งมีทั้งเพลงที่สื่ออารมณ์มิตรภาพหรือบอกใบ้อะไรจะเกิดขึ้น อาจเป็นเนื้อเพลงเดียวกันแต่ร้องในต่างวาระ และนำมาซึ่งความหมายที่ต่างกัน” ในภาคดนตรีประกอบของภาพยนตร์ ได้ผู้ควบคุมวงดนตรีคุณพระช่วยออร์เคสตรา จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน (ซึ่งฝากฝีมือแต่งเพลงและดนตรีประกอบภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องรวมทั้งสิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก) นักดนตรีคู่ใจของประภาส ชลศรานนท์มาเป็นผู้ประพันธ์เพลง “สไตล์เพลงโดยรวมของหนังเรื่องนี้เรียกว่ามีทุกแนวเลยครับ ตั้งแต่ป๊อปจนไปถึงแบบมิวสิคคัล มีการร้องแล้วก็มีพูดกันในเพลง ขึ้นอยู่กับฉากนั้นๆ เช่นฉากที่จะเน้นความยิ่งใหญ่ความอลังการก็จะมีนักร้องประสานเสียงมาช่วยร้อง ผมก็อยากจะฝากนะครับก็เป็นหนังที่ดีจริงๆ เทียบฝีมือต่างชาติได้เลย ผมได้เห็นภาพของหนังแล้วมันทำให้ผมมีความสุขกับการสร้างเสียงเพลงมากเลยครับ รู้สึกดีใจและภูมิใจว่า ที่เราได้มีส่วนเข้ามาทำได้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้” นอกจากนี้ในเรื่องของการลำดับภาพยังได้ สมิทธิ์ ทิมสวัสดิ์ มือตัดต่อฝีมือเยี่ยมระดับฮอลลีวู้ด (THE GREEN MILE,STREET FIGHTER:The Legendof Chun Li) มาเป็นผู้ร่วมสร้างความสมบูรณ์ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย

ออกแบบดีไซน์-ให้เสียงให้ชีวิตหลากหลายคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน “ยักษ์”

น้าเขียว” หรือ ทศกัณฐ์ ให้เสียงให้ชีวิตโดย สันติสุข พรหมศิริ หุ่นยักษ์ใจดี ใสซื่อ มองเห็นโลกมีแต่ความสวยงาม ช่างแตกต่างจากรูปลักษณ์ในอีกร่างที่ซ่อนอยู่ข้างใน นั่นคือ ทศกัณฐ์ ยักษ์ 10 หน้า 20 แขน 20 มือที่น่าเกรงขาม เอ็กซ์-ชัยพร “ตัวละครนี้ผมออกแบบให้ช่วงบนใหญ่ และขาเล็ก เวลาเขาเป็นทศกัณฐ์ก็จะดูผงาด ดูยิ่งใหญ่ แต่เป็นน้าเขียวก็จะแสดงออกแบบหลังค่อม หงอๆ งอตัว ดังนั้นมันก็จะเป็นทั้งตัวเอ๋อได้ด้วย ตัวน่ากลัวก็ได้ ผมออกแบบยักษ์รวมๆ มาจากหลายอย่างครับ หน้าท้องจะออกแบบมาจากท้องแมลงครับ เป็นปล้องๆ ข้อดีคือ มันสามารถงอได้เหมือนหุ่นยนต์จริงๆ” พี่จิก-ประภาส “ทศกัณฐ์คือพญายักษ์ที่ดุร้ายเก่งที่สุด ฆ่าไม่ตาย แก่นหลักของรามายณะคือทศกัณฐ์ฆ่าไม่ตาย เราเอาคำว่าฆ่าไม่ตายมาใช้ด้วย ผมตีความตรงนี้ว่ามันคือไม่มีอะไรทำลายมันได้นอกจากตัวของมันเอง แล้วตัวทศกัณฐ์เขาเป็นจอมราชายักษ์มาก่อน พอฟื้นขึ้นมาก็เกิดความจำเสื่อมก็จะกลายเป็นเอ๋อๆ เนื่องจากเป็นหุ่นรบตัวใหญ่เสียงที่ต้องออกมาแล้วมันต้องใหญ่มีอำนาจแล้วคนที่จะสามารถพากย์เป็นตัวร้ายได้และในขณะเดียวกันที่พากย์ให้อารมณ์แบบใสซื่อแบบบุญชูได้ในตัวเดียวกันในเมืองไทยมันมีไม่กี่คนต้องบอกว่ามีคนเดียวคือหนุ่มสันติสุขนี่แหละ แล้วตัวหนุ่มเองเขาเป็นนักแสดงที่ไม่ได้มาพากย์อย่างเดียวนะเขาแสดงเลยโดยที่ยังไม่เห็นการ์ตูนเคลื่อนไหวเลยเห็นแต่ภาพนิ่งแต่เขาต้องแสดงออกมาแล้วต้องบอกว่ามันจะมีตัวเขาอยู่ในหนังเยอะมากสิ่งที่เขาแสดงเราเอามาให้แอนิเมเตอร์ดูนะแล้วจับอารมณ์ของเขาจากการเคลื่อนไหว จากการเล่นจากการแสดงเราถ่ายวิดีโอไว้หมดเลยเห็นถึงอารมณ์จากดวงตาแววตาของเขาเลยนะ” หนุ่ม-สันติสุข “ทศกัณฐ์หรือยักษ์เขียวเป็นตัวละครที่มีหลากหลายอารมณ์แล้วมี2แคแร็คเตอร์ด้วย ตัวตนตอนที่ความจำเสื่อมเป็นน้าเขียวก็คือยักษ์ใสซื่อ อาโนเนะไม่รู้เรื่อง ใจดี ค่อนข้างจะซื่อบื้อด้วยนิดๆ เหมือนเด็กแบบเอาแต่ใจตัวเองและอีกด้านที่เป็นยักษ์ทศกัณฐ์โหดเหี้ยมดุร้ายและไม่ได้มีหน้าเดียวมีสิบหน้าตัวคาแร็คเตอร์นี้จะมี 2 ด้านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เลยต้องทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนเดียวกันด้วยคือไม่ใช่ 2 ตัวไม่ใช่ตัวดีตัวร้าย แต่อันนี้ตัวดีตัวร้ายอยู่ในตัวเดียวกัน แล้วมีอารมณ์ที่หลุดออกมา บางทีเป็นดีๆ อยู่ก็หลุดร้ายขึ้นมา หรือกำลังร้ายอยู่หลุดดีออกมา ในเรื่องค่อนข้างที่จะออกแอ็คชั่นเยอะ ใส่สีหน้าออกไป และเขาถึงจะไปวาดไปทำอะไรให้มันร้อยเปอร์เซ็นต์อีกทีหนึ่ง เล่นแล้วต้องจินตนาการออกไปต้องเล่นใส่เสียง ก็จะมีหลายตอนในเรื่องที่บางทีมันยากมาก สำหรับบางฉากดูแล้วก็มีนํ้าตาซึมเหมือนกัน คิดว่าตัวละครที่คนดูจะรักมากที่สุดก็คือน้าเขียวนี่เอง” เผือก หรือ หนุมาน ให้เสียงให้ชีวิตโดย เกียรติศักดิ์ อุดมนาค หุ่นกระป๋อง จิ๋วจอมแสบ ฉลาดแกมโกง ซ่าไม่แคร์ไซส์ แท้จริงแล้วคือ หนุมาน ทหารเอกแห่งราม แม้จะตัวเล็กแต่หุ่นยักษ์ทุกตัวในสงครามล้วนครั่นคร้าม เอ็กซ์-ชัยพร หนุมาน “ออกแบบยากสุด แก้หลายรอบ ตอนแรกออกแบบมาแล้วมันไม่มีความเป็นฮีโร่ เรากำลังคิดว่าจะทำยังไงต่อดี พอดีว่าพี่จิกก็เอาเสียงพากย์ของเสนาหอยมา ปุ๊บลงตัวเลย เลยเอาทรงผมเดดร็อคของเสนาหอยมาทำให้แตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่น ขณะที่หุ่นยนต์ทั้งโลกถูกบังคับด้วยรามและมีเสาเดียว หนุมานจะแปลกกว่าตรงที่มีสามเขาหักลงมาข้างหนึ่ง คิ้วตอนแรกดูแล้วไม่เป็นฮีโร่ ผมเลยลองหยิบลายจากหัวโขนหนุมานมาลองดัดแปลงดู เป็นกึ่งๆลายไทยนิดๆ เหมือนเป็นเหล็กที่โดนตัดออกมาเป็นลายไทย เออมันได้นะ มีความเป็นฮีโร่ เวลาโกรธหรือเวลาสู้จริงๆ เวลาที่ต้องแสดงอารมณ์จริงๆ มีคิ้วที่มันหักๆ อย่างนี้มันจะเพิ่มอารมณ์ให้ได้มากกว่า คิ้วตัวนี้ออกแบบยากสุดครับ” พี่จิก-ประภาส “คาแรคเตอร์หนุมานเก่งมากไวมากเอาผลงานไม่สนใจวิธีการ ถ้าใครศึกษารามเกียรติ์อย่างดีจะรู้ว่าหนุมานจะทำเกินคำสั่งบ่อย เขาสุดขั้วพี่มองว่าเขามีความก้าวร้าวอยู่ในตัว ขี้เล่นแน่นอน เพราะเจ้าชู้มาก อย่างหอยไม่ได้มาเป็นแค่เนื้อแท้ของหนุมานในเรื่องในเฉพาะรูปลักษณ์เท่านั้นนะแต่หอยยังเป็นหนุมานในแง่ของจิตวิญญาณเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์จากบุคคลิกไวซนมีลูกตอดต่อเนื่องตลอดเวลาคือเป็นหนุมานในโทนคอมมิดี้ แล้วพอเราบอกทุกคนว่าเป็นหอยนะทุกคนรู้สึกใช่เลย” หอย เกียรติศักดิ์ “จำได้ว่าทีมงานเอากล้องมาตั้ง 3 ตัวและให้ผมอ่านบทและก็เล่นไปเลย เล่นจริงแล้วก็โต้ตอบกับพี่หนุ่ม สันติสุขที่เป็นยักษ์ จริงๆ ระหว่างที่พากย์เสียงกันไปก็ต้องโต้ตอบกันไป แล้วผมก็ต้องทำท่าทำทางด้วย มารู้ว่ากล้อง 3 ตัวจะคอยจับภาพโคลสอัพที่ปาก ที่ตัว และที่แขนต่างๆ ก็เพื่อให้แอนิเมเตอร์เขาจับไปเขียน ผมก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง แต่พอเห็นภาพที่เขาเขียนออกมาเฮ้ยมันเหมือนตัวผมจริงๆ นะ ไม่น่าเชื่อก็ขอบคุณมากนะครับ ผมก็จะบอกลูกบอกหลานว่าตัวนี้มันคือผมจริงๆ ต้องยกประโยชน์ให้พี่จิกที่เลือกผมมาเล่นเป็นตัวนี้ เพราะเผือกหรือหนุมานค่อนข้างมีนิสัยคล้ายๆ ผมเหมือนกัน โวยวาย ไม่อยู่นิ่ง และก็ได้ใช้เสียงอย่างอิสระ พี่จิกปล่อยให้ผมเติมนั่นเล่นมุกนี้คือให้เราเล่นไปก่อน เอาไม่เอาอีกเรื่อง แล้วเราเป็นคนขยันอยู่แล้วยิงไปก่อน แต่ส่วนใหญ่เอานะ ก็เอาเกือบทุกอันที่เราเสนอไป” สนิมน้อย ให้เสียงให้ชีวิตโดย น้องออมสิน-ด.ญ.ชนินาภ ศิริสวัสดิ์ หุ่นกระป๋องเด็กผู้หญิง ลูกมือในคณะโชว์ปาหี่ของกุม สนิมเป็นหุ่นเด็กขี้อาย คล้ายๆจะเป็นภูมิแพ้ เวลาจามมักมีนํ้าสนิมไหลออกจากจมูกตลอดเวลา จนกลายเป็นปมด้อยที่ไม่มีใครอยากเล่นด้วย เป็นตัวการ์ตูนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับการ์ตูนยักษ์โดยเฉพาะ ไม่ได้มีตัวตนอยู่ในรามเกียรติ์ เอ็กซ์-ชัยพร “น้องสนิมตัวนี้ออกแบบเป็นตัวการ์ตูนที่น่ารัก แต่ไม่มีเพื่อนและก็ขี้แพ้นิดๆครับออกแบบหลายรอบเหมือนกันตอนแรกไม่มีปานที่หน้า แต่พอไม่มีมันดูเป็นปกติเกินไป เลยเพิ่มปานขึ้นมา เพราะสนิมมันกินตัวเองนิดหน่อย มีขี้มูกนิดๆ เป็นคราบเพราะว่าชอบจาม ตัวสนิมออกแบบยากเหมือนกัน เพราะว่าหุ่นยนต์ที่เป็นผู้หญิงด้วยน่ารักด้วยทำยาก ก็เลยมากำหนดด้วยตา ด้วยโครง ด้วยสีให้มันสีเบาลงมานิดนึงเป็นชมพูส้ม ถ้าชมพูเกินไปก็หวานไปจะดูไม่สู้ชีวิตก็เลยใส่สีส้มให้หมดเลย สนิมเป็นเด็กที่จามใส่อะไรที่เป็นเหล็กแล้วจะเป็นสนิมทันที แต่ถ้าจามใส่หุ่นที่ทำจากเหล็กพิเศษอย่างยักษ์จะไม่เป็นสนิม” พี่จิก-ประภาส “เราเคยคิดว่าจะเอานางเอกมาพากย์นะให้พากย์เสียงเด็กแต่สุดท้ายเราคิดว่าไม่น่าจะดีอย่างตัวน้องสนิมน้อยเราก็คัดเด็กมานั่งอ่านให้ฟังเลยเด็กส่วนใหญ่เสียงน่ารักอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่หาเด็กสมัยนี้ยาก เพราะธรรมชาติเด็กที่ถูกคัดมามาพากย์มีสองแบบคือเด็กโนเนมซึ่งส่วนใหญ่ขี้อายแสดงไม่ได้ รู้ว่าทำงานยากแน่ๆ แข็งไม่มีประสบการณ์ ส่วนเด็กที่มีประสบการณ์เล่นออกมาเป็นนางเอกหมด จนเจอน้องออมสินคนเดียวที่โผล่มาเล่นแล้วกล้าและเสียงเขาธรรมชาติ เขาเก่งเลยนะ และสามารถทำงานได้แบบมืออาชีพมากคือเวลาทำงานกับเด็กเอฟเฟ็คต์สลิงจะเหนื่อยมากแต่เรื่องนี้น้องออมสินเหมือนมืออาชีพเลยเวลาเข้าฉากกับหอยก็เล่นกันได้หัวเราะกัน เป็นเด็กที่มีวินัยมากพอเริ่มดีดนิ้วปั๊บเข้าฉากปั๊บธรรมชาติมาเลยร้องไห้หัวเราะได้หมดเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์สูงมาก” น้องออมสิน “ตอนเข้ามาพากย์ครั้งแรกสุดเรียนอยู่ชั้นป.2 ค่ะอายุประมาณ 7-8 ขวบค่ะ ปัจจุบันอยู่ม.1 อายุ 13 ค่ะ ประมาณห้าหกปีค่ะ ตื่นเต้นทุกครั้งที่พากย์เพราะทุกครั้งเราได้ทำอะไรใหม่ๆ ตลอดยังตื่นเต้นและดีใจอยู่ การพากย์ยากมากเหมือนเป็นการแสดงละครเลยแต่ไม่เอาภาพค่ะ เราต้องมีการแสดงท่าทางและก็ต้องมีการพูดโดยใช้ความรู้สึกค่ะ ก็คือเหมือนเราแสดงจริงๆ เลย ออกท่าทางจริงๆ เลย เวลาจะดึงก็ดึงจริง จะผลักก็ผลักจริงๆ เลยค่ะจะต้องเค้นอารมณ์ให้ถึงความรู้สึกกับอารมณ์นั้นๆ จริงๆ สนิมเป็นหุ่นกระป๋องเด็ก ถ้าเป็นคนก็น่าจะเป็นเด็กผู้หญิงประมาณหกเจ็ดขวบค่ะ เป็นผู้หญิงที่แก่นๆ กระโต๊กกระต๊ากเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวแสบๆ แก่นๆ และก็ไม่ค่อยฟังใครค่ะ ดื้อซนๆ ค่ะ ส่วนเสน่ห์ก็คือจริงๆ ถ้าสนิมไม่ได้เป็นสนิมจะมีเพื่อนเยอะมากเพราะว่าสนิมเองเป็นเด็กที่มีจิตใจดีค่ะแล้วก็รักเพื่อนค่ะ” กุม หรือ กุมภกรรณ ให้เสียงให้ชีวิตโดย ตั๊ก-บริบูรณ์ จันทร์เรือง หุ่นยักษ์ผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้ทศกัณฐ์ หัวหน้าคณะโชว์ปาหี่ขายของ กุมเป็นหุ่นที่ไม่สมประกอบทั้งร่างกายและความคิด เล่นปาหี่หาเงินเพื่อซื้ออาวุธสงครามสะสมไว้เรื่อยๆ ชอบฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะเข้าร่วมรบกับกองทัพทศกัณฐ์ แม้จะไม่เคยเห็นทศกัณฐ์ตัวจริงเลย เอ็กซ์-ชัยพร กุมภกรรณ “หุ่นยนต์ยักษ์ทำอาชีพปาหี่ขายของที่แขนมันจะมีวิทยุคาสเซ็ทเทปอยู่ครับ ไม่รู้ว่าเด็กสมัยนี้เห็นหรือเปล่า บ่งบอกให้รู้ว่ามันเป็นของเก่า มันจะใส่เทปและก็ฟังเพลงของมันตลอดเหมือนคนไม่ปกติ ชอบสะสมอาวุธ เป็นคนศรัทธาทศกัณฐ์มาก ถึงขั้นสักรูปทศกัณฐ์ที่หน้าอก เหมือนเราชื่นชมใครเราก็สักยันต์เลย แต่รอยสักของโลกหุ่นยนต์จะไม่เหมือนของคนสักของหุ่นจะเอาเหล็กมาแล้วก็ยิงตะปูติด ตัวกุมข้างหลังจะสักยันต์เก้ายอดด้วยเป็นลายเลขเก้าเหมือนคนที่สักยันต์ทั้งตัว ผมตั้งใจใส่กลิ่นอายความเป็นไทยลงไปด้วย แต่ที่ไม่ทำรอยสักลงไปในเหล็กเลยเพราะมันจะดูน่ากลัวไป ผมกับพี่จิกคิดตรงกันว่ากุมต้องเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย พูดแล้วนํ้าลายจะไหล ผมก็เลยออกแบบให้น็อตที่กรามปากมันหลุดอันหนึ่ง มันจะหลุดแล้วมันก็ดูดนํ้าลายมันขึ้นมา แขนขามันก็ไม่เท่ากัน ใหญ่ข้างเล็กข้างข้าง แต่ออกมามันก็น่ารักดีนะ (หัวเราะ)” พี่จิก- ประภาส “เพราะว่ากุมเป็นตัวละครที่มีสีสันมากเป็นตัวเติมสีของเรื่องเลย แล้วก็มีหลายคนที่มาแคสท์บางคนเล่นดีแต่นํ้าเสียงแก่ไปก็มีบางคนคาแร็คเตอร์ใช่หนุ่มแน่นฉกรรจ์แต่เล่นแล้วไม่บ้าพอ แต่อย่างตั๊กเขาเป็นคนบ้าแบบว่าถวายหัวนะ ถ้าเขารักใครเขาทำอะไรให้ใครเขาก็จะทำอย่างนั้นนะสังเกตว่าตัวละครตัวนี้ก็จะเป็นเหมือนตั๊กตรงที่หลงใหลและชื่นชมทศกัณฐ์อย่างหัวปักหัวปำ พร้อมทำทุกอย่าง ตั๊กเขาเหมือนคนบ้าที่ทุกคนอยากอยู่ใกล้ๆ เขาไม่ใช่คนบ้าที่แบบว่าคนกลัวแล้วเดินหนีหายนะ แต่แค่เห็นเขาทำอะไรเราก็ยิ้มแล้ว” ตั๊ก -บริบูรณ์ “ตัวละครที่ไม่ธรรมดา มีสีสันมาก เป็นยักษ์ที่ตัวใหญ่สีแดงและก็มีขาที่พิการ เวลาจะพูดทีต้องคอยสูดนํ้าลายเข้าปากด้วย เสียงมันจะแหบๆ ตอนที่ผมมาพากย์เขาห้ามเลยนะห้ามดื่มนํ้า คือห้ามทุกอย่างเลย ต้องการให้เสียงมันแหบๆ จริงๆ ประสบการณ์ที่ได้จากการมาพากย์ เยอะมากๆ พากย์เรื่องนี้จบนะเชื่อไหมครับผมบ้าหนักกว่าเก่า (หัวเราะ) ต้องคอยแสดงท่าทางต่างๆ บินกระพือปีก มุดดินด้วย หัวเราะอยู่คนเดียว ยิงปืนผมก็ยิงอยู่คนเดียวอยู่ในห้องคนเดียว เหมือนกับว่าพากย์หนังอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญาครับ (หัวเราะ) แต่ก็ได้อรรถรสในการพากย์ให้มันสมจริงสมจังก็ เราต้องเป็นตัวละครตัวนั้นด้วยครับ ฉากมิวสิคัลยากครับ ขอบอกเลยนะว่าพากย์มันก็ยากอยู่แล้ว แต่ผมก็สามารถผ่านได้ แต่ที่มาหนักก็วันแรกเลยครับ ให้ผมร้องเพลงก่อนเลย เชื่อไหมครับสิบโมงครึ่งยันบ่ายสองยังไม่จบสามบรรทัดเลย (หัวเราะ) จะเป็นฉากโชว์ปาหี่ขายของ ของกุมภกรรณ มันต้องร้องให้ตรงล็อคให้ตรงจังหวะให้ตรงเมโลดี้มันยากและมันต้องใช้พลังงานมากครับ” สดายุ ให้เสียงให้ชีวิตโดย เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ คุณป้าขี้ประชด เครื่องบินรบสมัยสงครามที่แม้จะพร้อมบินให้ใครก็ได้ที่เป็นคนไขลานขยับปีกและใบพัดให้เธอ แต่ขณะเดียวกันเธอก็พร้อมที่จะเหน็บแนมให้คนที่มาขี่เธออย่างเจ็บๆ คันๆ ตลอดเวลาตามนิสัย เอ็กซ์-ชัยพร “นกสดายุ เราออกแบบไว้แต่แรกว่าตัวนกสดายุต้องเป็นนกดำ เพราะวางโครงสร้างสีทั้งหมดไว้ มีครบทุกสีแล้ว ทศกัณฐ์สีเขียว หนุมานสีม่วง กุมกรรณสีแดงน้องสนิมเป็นสีส้มชมพู ขาดอีกสีเลยใช้สีดำ และพอได้พี่เหมี่ยว มาตรงเป๊ะพอดี ผมเลยออกแบบทรงผมเป็นหน้าม้านิดๆ นกสดายุ ตัวนี้เป็นหุ่นยนต์ที่เหลือมาจากสงครามครั้งก่อนถูกขายต่อๆ มาอยู่ที่ยุคนี้ เป็นอาวุธสงครามของรักของหวงที่กุมภกรรณสะสมไว้ มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งก็คือจะเป็นหุ่นมีใบพัดบินได้ แต่ต้องไขลาน ไขลานปุ๊บก็จะขยับได้ บินได้ ซึ่งจุดรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้ออกแบบเพื่อรองรับเนื้อเรื่องไว้ตั้งแต่แรกครับ” พี่จิก-ประภาส “เหมี่ยวนี่พอเราบอกว่าเราจะมีสดายุ คาแร็คเตอร์เป็นนกตัวหนึ่งเฮ้ยเราเอาเป็นนกออกสีดำๆ ไหม แล้วเราก็หัวเราะกัน ผมบอกไปเลยว่าเดี๋ยวเอาเหมี่ยวมาพากย์เพราะรู้มือกันอยู่ เหมี่ยวนี้เล่นละครกับผมมาตั้งแต่สมัยเทวดาตกสวรรค์ก็เกือบสามสิบปีแล้ว และเราก็รู้ว่าเหมี่ยวเป็นนักแสดงคอมมิดี้นะ ใช้คำว่าเป็นนักแสดงคอมมิดี้ที่เข้าใจบทมาก เขาเล่นลึกเขาเล่นกระแนะกระแหนเก่งมากและตัวละครตัวนี้เป๊ะเลย คือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมากระแนะกระแหนคนตลอดเวลา” เหมี่ยว- ปวันรัตน์ เป็นนกโบราณที่อยู่ในโกดังแล้วสนิมเขรอะ บินก็ไม่ไหว ขี้บ่น ขี้โมโห และก็ขี้ประชด ผมมันก็จะหยิกแต่เป็นเหล็ก เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวละครเราจะเป็นนกแก่ จนกระทั่งพี่จิกเรียกตัวให้มาพากย์เป็นนกยักษ์สดายุบอกว่าเป็นความตั้งใจของพี่จิกเลยว่าตัวนี้ต้องเป็นเรา ตอนแรกไม่เชื่อค่ะ เพราะตาเขาจะโปนๆ หูตาเหลือกตลอด เวลาพากย์พี่จิกบอกว่าพูดแบบเหมี่ยวเลยประชดๆ ประชดหลายๆ แบบด้วยนะ ประชด โมโห ประชดเบื่อ ประชดเร่งรีบ แล้วปรากฏว่าไอ้ที่พากย์ๆ ไปมันตัวเองทั้งนั้นเลย มันเป็นอารมณ์จริงๆ ที่เรารู้สึกกับเรื่องและก็เหตุการณ์ที่อยู่ในการ์ตูน ก๊อก ให้เสียงให้ชีวิตโดย แจ๊ป เดอะริชแมนทอย ก๊อก เถ้าแก่ร้านขายอะไหล่ใหญ่ที่สุดในเซียงกง เจ้าของสัมปทานขุดซากหุ่นจากสุสานสงครามแต่เพียงผู้เดียวเจ้าเล่ห์ ยอมทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผลกำไรสูงสุด ถือคติ ทุกอย่างต่อรองกันได้เสมอ ขออย่างเดียว อย่ามาทำให้เสียฟอร์ม เอ็กซ์-ชัยพร “ก๊อก ตัวนี้ออกแบบไม่ยากมากครับเพราะว่าคาแร็คเตอร์ชัดเจนว่าต้องเป็นพ่อค้าที่ขายของเก่ง พูดมาก มีเล่ห์เหลี่ยม การออกแบบของผมจะเน้นไปที่ดวงตาโตๆ ลึกๆ แขนขาเล็กๆ ลีบๆ ดูเป็นคนขายของ และพอได้คุณแจ๊ปเดอะ ริชแมนทอย เข้ามาพากย์เสียงผมก็ใช้ลักษณะโครงหน้าของเขาเข้าไปรวมด้วย หัวของตัวนี้จะแปลกจากตัวอื่นตรงที่มีหัวที่เรียวยาวยื่นไปด้านหลัง ให้มีจุดเด่นและที่พิเศษกว่าตัวละครอื่นก็คือ ตัวนี้จะเป็นหุ่นตัวเดียวที่มีไฝ เพราะผมเอามาจากโหวเฮ้งของคนที่พูดเก่ง ก็เลยเติมไฝไปแถวๆ ปาก และเจ้าก๊อกก็จะชอบเปลี่ยนอะไหล่ไฝของเขาชอบเอาตัวหุ่นแมลงมาติดเป็นไฝ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนขี้งกครับ” พี่จิก- ประภาส “แจ๊ปเดอะริชแมนทอยอันนี้เราเห็นเขาในคอนเสิร์ตมันจะออกแบบมันส์ๆ หน่อย ไอ้เด็กคนนี้น่าสนใจก็เลยเชิญมาเขาก็สนใจ เวลาที่เขาพากย์ก็เหมือนเวลาที่เขาเล่นคอนเสิร์ต ก็มีความสนุกสนานตลอดเวลาสไตล์ของเขา คือด้วยคาแร็คเตอร์ของก๊อกเขาจะเป็นอย่างนี้ไง คนที่คุมคนเยอะๆเหมือนคนที่ขายของก็เป็นคนอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วหน้าตาของแจ๊บเขามีเอกลักษณ์ ผมว่าเอามาออกแบบเป็นตัวการ์ตูนได้สนุก” แจ๊ป เดอะริชแมนทอย “เจ้าก๊อกก็เป็นพ่อค้าที่ค่อนข้างจะเจ้าเล่ห์-เหลี่ยมจัด และเป็นคนขุดเจ้ายักษ์และเผือกขึ้นมา ตัวก๊อกมีรูปร่างประหลาดมีไฝอยู่แถวๆ ปากนี่แหละ แล้วชอบเอาตัวหุ่นแมลงมาเปลี่ยนเป็นไฝก็แปลกดีครับ เหมือนคนเราเปลี่ยนฟันปลอม แต่นี่เปลี่ยนไฝ เป็นพ่อค้าก็เลยค่อนข้างจะโชว์กร่าง เขาเป็นตัวละครที่มีสีสันตัวหนึ่งครับ เป็นตัวดำเนินเรื่องเชื่อมโยงก่อให้เกิดเรื่องตั้งแต่ต้นครับ นี่เป็นครั้งแรกในการพากย์แอนิเมชั่นนะครับถือว่ายากครับ ยากมาก (หัวเราะ) เพราะว่าจริงๆ แล้วภาพที่มองไว้ตอนที่พี่จิกมาชวนนึกว่ามีภาพการ์ตูนแล้วให้เราไปนั่งพากย์ไปเรื่อยๆ ครับ แก้ไขกันได้อะไรอย่างนี้ แต่พอมาถึงจริงๆ ไม่มีภาพอะไรเลยครับ มีบทให้เราจินตนาการภาพหรือเหตุการณ์ในฉากนั้นๆ โดยที่เราเองต้องพากย์เสียงไปพร้อมกับการแสดงไปก่อน ซึ่งก็จะเหมือนว่าเราคุยกันเองกับคนปกติ แสดงจริงๆ แต่ต้องจินตนาการเอง แต่ก็จะต้องทำให้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติด้วยครับ เสียงพากย์ก็จะออกมาจากอารมณ์ของตัวเองที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ตรงนั้นครับ เพื่อให้ได้เนื้อเสียงธรรมซึ่งยากมากครับ แต่ว่าก็พอไหวครับ ก็สู้กันพอไหว (หัวเราะ)” นักไต่เขา ให้เสียงให้ชีวิตโดย โน้ส-อุดม แต้พานิช นักไต่เขาผู้ไต่ตกๆ เป็นประจำ ทั้งร่างกายเต็มไปด้วยอุปกรณ์เพื่อการปีนเขา มีความใฝ่ฝันในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ นั่นคือปีนขึ้นไปหาดวงอาทิตย์ บางทีเขาก็เรียกตัวเองว่านักไต่ฝัน เอ็กซ์-ชัยพร นักไต่เขา “ตัวนี้เป็นตัวละครพิเศษครับ ตัวนี้เราได้พี่โน้ส อุดม แต้พานิช มาพากย์ ตอนแรกออกแบบแล้วมีจมูกใหญ่ๆ แต่หุ่นยนต์พอจมูกใหญ่แล้วมันเหมือนเกินไป เลยพยายามออกแบบให้ไม่มีจมูกแต่ดูรู้ว่าเป็นโน้ส ยากครับแต่ท้าทาย จุดเด่นสำคัญอันหนึ่งก็คือคางใหญ่ พอดีโน้สเขาพากย์แบบคนใต้ก็เลยยิ่งเข้ากับคางใหญ่” พี่จิก-ประภาส “นักไต่เขา คนที่มีเป้าหมายในชีวิต คิดอะไรไม่เยอะมาก ทำไปเรื่อยๆเขามาให้สติอะไรบางอย่าง แต่ว่าสติไม่ได้มาเร็ว รวมทั้งวิธีการที่เขามุ่งมั่นที่จะไปปีนเขาโดยที่มีคนถามเขาว่าปีนทำไม เขาก็จะตอบว่าก็จะปีนไงเราตั้งชื่อเขาว่าบรู๊คส์เพราะมีความประทับใจมาจากหนังเรื่อง THE SHAWSHANK REDEMTION คือเขาจะไปขูดอะไรไว้ ใช้ชื่อเดียวกันคือ BROOKS WAS HERE เผอิญมันมีประเด็นว่าเขาชอบปีนเขาแล้วก็ไปขูดสลักเอาไว้เพื่อที่จะให้ยักษ์รู้ว่าเขาได้ขึ้นมาปีนบนเสานี่แล้วนะจะเขียนคำว่าอะไรที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ก็ BROOKS WAS HERE ก็เลยคิดว่าเราควรเชิญคนสำคัญๆ ที่เป็น celeb มาเล่นเป็นตัวนี้ เราก็เลยเชิญโน้ส เพราะต้องการความหมายอะไรบางอย่าง โน้สตอบยินดีทันทีเพราะโน้สเขาก็คิดคล้ายๆ กับตัวนี้เหมือนกัน ตัวการ์ตูนหน้าเราก็เอามาจากโน้สแต่เดิมมีจมูกอยู่ แต่จมูกมันไม่เหมาะกับหุ่น เพราะมีแล้วมันดูเป็นคนมากเกินไป พูดได้ว่าตัวนี้สร้างขึ้นมาสำหรับโน้สโดยเฉพาะ เป็นคนเดียวเลย” โน้ส- อุดม “ตัวบรู๊คส์เป็นตัวละครเล็กๆ ตัวหนึ่งนะครับแต่ว่าเขาจะมาบอกสารอะไรบางอย่างในเรื่อง เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่ทำให้ตัวละครหลักทั้งสองตัวนั้นได้เรียนรู้อะไรบางอย่างนะครับ เป็นคำพูดเล็กๆ สั้นๆ แต่ค่อนข้างทรงพลังและมีผลต่อเรื่องทำให้ตัวละครฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ ทางทีมงานบอกผมว่าตัวบรู๊คสร้างมาจากผม ก็ดูแล้วหน้าคล้ายๆ เหมือนกันนะ (หัวเราะ) ดีใจมากที่พี่จิกแกนึกถึงเรา รู้สึกเป็นเกียรติ ทีนี้ผมก็ลองพากย์ให้พี่จิกดูหลายแบบให้แกเลือกดูว่าชอบแบบไหน ทั้งแบบคนแก่มีอายุ แบบคนใต้ แบบนักเลงปากซอย (หัวเราะ)”

สิ่งละอันพันละน้อยหลอมรวมเป็นแอนิเมชั่นชวนยิ้ม “ยักษ์”

ที่มา
  • ก่อนจะใช้ชื่อว่าบ้านอิทธิฤทธิ์ บริษัทนี้เคยเกือบจะได้ใช้ชื่อว่า “ฤาษี”
  • พี่จิก-ประภาส และ เอ็กซ์ ชัยพร มีความชอบในลายเส้นของ รงค์ (ณรงค์ ประภาสะโนบล) นักเขียนการ์ตูน ในหนังสือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน เหมือนกันโดยไม่ตั้งใจ
  • จุดเริ่มต้นของการนำรามเกียรติ์มาสร้างเป็นแอนิเมชั่นเกิดจาก ขั้นตอนการประชุมทีมงาน เพื่อวางเรื่อง แต่มีคนๆ หนึ่งเขียนชื่อลงไปในกระดาษผิดจากรามเกียรติ์เป็นรามเกียร์ เลยได้ไอเดียว่าถ้าเป็นโลกของหุ่นยนต์ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
  • ชื่อเรื่อง “ยักษ์” พี่จิก-ประภาสไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย เพราะพอได้ไอเดียว่าเป็นรามเกียรติ์แล้ว ตัวละครแรกที่ตั้งใจใช้เป็นตัวเอกก็คือ ทศกัณฐ์เพราะเป็นตัวละครที่พี่จิกชอบมากที่สุด จนถึงกับเอามาตั้งเป็นชื่อรายการเกมทศกัณฐ์ จนโด่งดังมาแล้ว เหตุที่ชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจ และทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบให้มี 10 หน้า 20 แขน 20 มือ
ตัวละคร
  • ต้นแบบของตัวละครในเรื่องยักษ์ จากหุ่นยนต์ที่เอ็กซ์ ชัยพร ออกแบบไตเติลให้เวิร์คพอยท์เมื่อ 8 ปีก่อน ในตอนจบของรายการเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เดินมาแล้วแปลงแขนเป็นอาวุธสงคราม มันเอากองขยะมาประกอบจนเขียนคำว่าเวิร์คพอยท์ ไตเติ้ลนี้ใช้เพียงไม่กี่ครั้ง ประภาส ก็ให้ถอดออกเพราะจะเก็บไว้ทำแอนิเมชั่นต่อ
  • หนุมานคือตัวละครที่ออกแบบยากที่สุด มีการปรับแก้หลายครั้ง กว่าจะได้หน้าตาที่ดูเป็นฮีโร่มากขึ้น
  • ตัวละครบางตัวมีการดึงลักษณะเด่นของดาราผู้พากย์เสียงมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปลักษณ์ตัวละครด้วย เช่น หนุมานจะแตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่น ตรงที่หุ่นตัวอื่นจะมีเสาอากาศไว้รับคำสั่งจากรามเพียงเสาเดียว แต่หนุมานจะมีสามเสาดูคล้ายทรงเดดร็อคทรงผมของเสนาหอย, นกสดายุ ออกแบบโดยอิงจาก เหมี่ยว ปวันรัตน์ จากสีผิว และทรงผมม้า ก๊อกหุ่นขายของเก่าก็ออกแบบมาจากแจ๊ปเดอะริชแมนทอย
  • ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ได้ใส่รายละเอียดความเป็นไทยแฝงลงไปด้วยเช่น คิ้วของตัวละครเป็นคิ้วหยักๆ ได้ต้นแบบมาจากหัวโขน ตัวละครอย่างกุมภกรรณมีรอยสักรูปทศกัณฐ์ที่หน้าอก แต่รอยสักของโลกหุ่นยนต์ จะไม่เหมือนกับของคนสักของหุ่นจะเอาเหล็กมาแล้วก็ยิงตะปูติด
  • หน้าท้องของตัวละครทศกัณฐ์ออกแบบมาจากท้องแมลง นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ข้อดีคือ มันสามารถงอเหมือนหุ่นจริงๆ
  • ตัวละครหลักในเรื่องนี้ตัวที่ไม่ได้อ้างอิงมาจากรามเกียรติ์ คือ น้องสนิม
  • น้องสนิมเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทำกันหลายรอบ เพราะตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์ แถมเป็นผู้หญิงต้องออกแบบให้น่ารักนั้นทำได้ยาก ก่อนหน้านี้น้องสนิมเคยมีหน้าตาที่ดูน่ากลัวมากหน้าเป็นสนิมไปหมด
  • ตัวละคร บรู๊คส์ นักไต่เขา เป็นตัวละครที่ตั้งใจออกแบบให้เหมือนโน้ส-อุดม โดนตอนแรกทีมงานจะใส่จมูกอันเป็นเอกลักษณ์ลงไปแต่ไม่เข้ากับหน้าหุ่นยนต์เลยเอาออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ออกมาคล้ายมากอยู่ดี
  • ส่วนชื่อบรู๊คส์นั้น พี่จิก-ประภาส ตั้งชื่อนี้ เพราะมีความประทับใจมาจากตัวละครบรู๊คส์ในหนังเรื่อง The Shawshank Redemption
  • คาแร็คเตอร์หาเสียงยากสุดคือตัวน้าเขียวหรือทศกัณฐ์ เพราะว่ายักษ์ต้องมีทั้งความน่ากลัว เสียงต้องใหญ่ แต่พอติงต๊องก็เสียงต้องน่าสงสารด้วย จนสุดท้ายมาลงตัวที่หนุ่ม สันติสุข
  • จริงๆ แล้วคาแร็คเตอร์ทั้งหมดในเรื่อง มีอีกเป็นพันตัวเวลาที่ตัวละครเดินทางไปแต่ละเมืองเราก็จะเห็นดีไซน์ของหุ่นที่ไม่เหมือนกัน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีสัญลักษณ์บางอย่าง เช่นเมืองที่เป็นเชียงกง เมืองนี้ก็จะเป็นเมืองที่เป็นสนิมๆ ไม่ค่อยสมบูรณ์ และก็พอเข้าไปโรงไฟฟ้าก็จะเป็นอีกเมืองหนึ่งก็จะเป็นอีกสีหนึ่ง
ฉาก
  • ฉากที่ใช้เวลาทำนานที่สุดจะเป็นฉากมหาสงคราม ที่ใช้เวลานานเพราะว่าเป็นฉากแรกทีมงานเริ่มลองทดลองทำ ใช้เวลาประมาณครึ่งปีสำหรับฉากแค่สี่นาที (ในตอนแรกฉากนี้มีความยาวถึง 14 นาที)
  • ฉากเชียงกง เป็นตลาดที่ใช้ขายอะไหล่ให้หุ่นยนต์ตัวอื่นได้มาซื้อเปลี่ยน ฉากนี้มีต้นแบบมาจากตลาดเซียงกง จริงๆ ที่ขายอะไหล่รถยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆ ในบ้านเรา
  • การออกแบบอาร์ตไดเร็คชั่นในเรื่องนี้มีความเป็นไทยสูง อย่างบรรยากาศท้องฟ้าในเรื่อง เอ็กซ์ ชัยพรตั้งใจออกแบบให้มีสีสันที่เหมือนการใส่บาตรตอนเช้า
  • ฉากยักษ์ตื่น เป็นฉากที่มีความสนุกสนานอลม่าน เหตุการณ์ป่วนๆ เกิดขึ้นหลังจากที่ทศกัณฐ์และหนุมานตื่นขึ้นจากการหลับมานาน แต่ความยากของ แอนิเมเตอร์ในฉากนี้คือต้องทำชาวเมืองนับร้อยและ แต่ละตัวต่างกันหมดทั้งหน้าตาและการเคลื่อนไหว แถมยังมีบ้านเรือนเป็นฉากมากมายอีกด้วย
  • ฉากปาหี่ของกุมภกรรณ การจัดแสงต่างๆ ได้ไอเดียมาจากงานคอนเสิร์ตของจริงความยากของฉากนี้นอกจากจะมีตัวละครนับร้อย ทำให้จัดแสงไฟได้ยาก และตัวละครทุกตัวต้องมีชีวิตของตัวเองไมได้ขยับตัวเหมือนๆ กัน
  • ฉากฟาร์มแม่เหล็ก ฉากนี้ใช้การออกแบบง่ายๆ แต่ทรงพลัง โดยออกแบบให้เป็นแม่เหล็กเกือกม้า ใหญ่ๆ อันเดียวเพื่อสื่อความหมาย แม่เหล็กนี้ไว้ใช้เปลี่ยนเหล็กให้กลายเป็นแม่เหล็ก และใช้ผลิตกระแสไฟไฟฟ้าให้กับเมืองหุ่นยนต์ เมื่อหุ่นยนต์ที่เข้าใกล้แม่เหล็กก็จะถูกดูดเข้าไป ฉากนี้เป็นฉากที่น่าตื่นเต้นน่ารอชมอีกฉาก
  • ฉากตัดโซ่ ในเรื่องนี้จะเห็นสถานการณ์ที่เผือกและเขียวพยายามจะตัดโซ่ออกจากกันหลายครั้งคนดูจะได้สนุกไปกับสถานการณ์หลากหลาย เบื้องหลังการสร้างนั้นยากมาก ฉากนี้มีประมาณหกถึงเจ็ดฉากในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที แต่ฉากหนึ่งใช้เวลาเฉลี่ยแล้วประมาณ 4-6 เดือน
  • “โซ่” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในเรื่องนี้เป็นจุดที่ยากมากเช่นกันเพราะต้องใช้ การสร้างงานซิมูเลชัน (การเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์) มาทำให้โซ่เคลื่อนไหวได้สมจริง เป็นจุดที่ยากมาก ที่สุดจุดหนึ่งในเรื่อง เพราะตอนแรกยังไม่มีเทคโนโลยีการเขียนสคริปท์ให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ต้องใช้แอนิเมเตอร์ค่อยๆ ขยับ จนเกือบทำแอนิเมเตอร์ถอดใจลาออกกันหลายคน จุดที่ยากที่สุดคือต้องทำให้โซ่ไปพันเสาให้ได้ในฉากฟาร์มแม่เหล็ก
รามเกียรติ์ ในแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์นี้เป็นการนำรามเกียรติ์มาเล่าในรูปแบบใหม่ มีการอิงจากเรื่องต้นฉบับและมีจุดที่มาแต่งเติมความคิดสร้างสีสันหลายจุด มีทั้งจุดที่เหมือนและแตกต่างได้แก่
  • หางของหนุมานที่ยืดออกมาเป็นโซ่ได้ยาวๆ อิงมาจากฤทธิ์เดชของหนุมานที่สามารถยืดหางยาวจนพันรอบภูเขาได้
  • กุมภกรรณ ในแง่ของวรรณคดีแล้วมีกายสีเขียว มีศักดิ์เป็นน้องแท้ๆ ของทศกัณฐ์ มีอาวุธร้ายประจำกาย คือ หอกโมกขศักดิ์ แต่ในเรื่องนี้จะมีร่างกายสีแดง เป็นพ่อค้าปาหี่ซึ่งหลงใหลทศกัณฐ์ และแน่นอนในเรื่องนี้มีปืนโมกขศักดิ์ เป็นอาวุธประจำกายเช่นกัน
  • สดายุ ตามเรื่องรามเกียรติ์ คือ พระยาสดายุ เป็นพญานก กายสีเขียว เป็นเพื่อนกับท้าวทศรถ วันหนึ่งสดายุ พบทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาเหาะมา นางสีดาเรียกให้ช่วย สดายุ จึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์ แต่ในเรื่องนี้สดายุเป็นเครื่องบินรบสมัยสงคราม เป็นเครื่องบินของกองทัพทศกัณฐ์ ในฉากแรกเราจะเห็นบินกันเป็นฝูงๆ แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงกลางเรื่อง นกสดายุเครื่องบินรบเก่าที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวก็ออกมาแสดงความสนุก
ยักษ์ในต่างแดน
  • ทีมงานส่วนใหญ่ของแอนิเมชั่นยักษ์ตั้งแต่ผู้สร้าง, ผกก., คนเขียนบท, นักแสดง, คนทำดนตรีประกอบ, มือตัดต่อ, ศิลปิน, รวมไปถึงทีมแอนิเมเตอร์ตลอดจนทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งหมด ฯลฯ ยกเว้นทอดด์ ทองดีที่รับผิดชอบในการควบคุมกำกับการพากษ์เวอร์ชั่นเสียงภาษาอังกฤษ พบว่าทีมงานทุกคนล้วนถือสัญชาติไทยแลมีบัตรประชาชนเป็นคนไทยแทบทั้งสิ้น
  • การเดินทางของยักษ์ในต่างแดนเริ่มต้นขึ้นก่อนที่ตัวหนังฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นโดยมีการนำภาพบางส่วนจากภาพยนตร์ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ที่ผ่านมารวมไปถึงดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าตำรับของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นอย่างประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา
  • เจ้าของลายเส้นการ์ตูนยักษ์อย่างเอ็กซ์-ชัยพรถึงกลับปลื้มสุดๆ เมื่อมีชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังได้กล่าวแสดงความชื่นชมผลงานหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกประทับใจกับการเคลื่อนไหวของตัวยักษ์ พร้อมกับแสดงท่าทีสนใจอยากร่วมงานด้วย
  • อีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นล่าสุดสดๆ ร้อนๆ และถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีจากการเปิดเผยล่าสุดจากเสี่ยเจียงหัวเรือใหญ่ของสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล ว่าแอนิเมชั่นยักษ์ได้มีการตอบรับเซ็นต์สัญญาซื้อขายไปบ้างแล้วจากบางประเทศที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์อย่าง รัสเซีย, เกาหลี ในขณะที่ญี่ปุ่นและอเมริกาเองกำลังอยู่ในระหว่างเจรจาและมีทีท่าสนใจไม่ใช่น้อย
  • สร้างความแปลกใจและตื่นตะลึงไปมิใช่น้อยเมื่อหลายๆ ชาติที่มีโอกาสได้ชม “ยักษ์”รู้ว่านี่คือผลงานแอนิเมชั่นสัญชาติไทยที่ทำโดยฝีมือคนไทย

ประวัติผู้สร้าง

ประภาส ชลศรานนท์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ ,ผู้คิดเรื่อง, ผู้เขียนบทภาพยนตร์ (Director, Creator, Screen Writer) จิก-ประภาส ชลศรานนท์ นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ ปัญญา นิรันดร์กุล นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้ง และนักแต่งเพลง ให้กับวงเฉลียง วงดนตรีที่ได้รับการยอมรับกันว่า เป็นการบุกเบิกแนวเพลงใหม่ๆ ให้กับวงการเพลงไทย เขามีผลงานเพลงที่แต่งไว้และยังได้รับการกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้มากมาย เช่น ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน พี่ชายที่แสนดี นิทานหิ่งห้อย เจ้าภาพจงเจริญ ฯลฯ และยังเป็นนักแต่งเพลงประจำรายการคุณพระช่วย ด้านงานเขียนมีผลงานเรื่องสั้นนับสิบเรื่องและหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ก่อตั้ง นิตยสารไปยาลใหญ่ และมีผลงานรวมเล่มจากการเขียนบทความ ในคอลัมน์ คุยกับประภาส ใน หนังสือพิมพ์มติชน เขาได้รับรางวัลด้านสื่อสารมวลชนมากมาย เช่น รางวัลบทละครยอดเยี่ยมโทรทัศน์ทองคำจาก รางวัลละครยอดเยี่ยม เอเชียน เทเลวิชั่น อวอร์ดส์, รางวัลแมกซีเลี่ยนอวอร์ด ของ ประเทศโปแลนด์, รางวัลเพลงยอดเยี่ยม สีสันอวอร์ด ถึงสามครั้ง, รางวัล B.A.D. Awards (Bangkok Art Director) รางวัลนักอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2548 เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ : ผู้ร่วมกำกับภาพยนตร์ –ผู้กำกับแอนิเมชั่น (Co-Director , Animation-Director) ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด เขาเป็นนักแอนิเมชั่นระดับหัวแถวผู้เคยคว้ารางวัลจากต่างประเทศมากมาย เช่นรางวัลชนะเลิศ SIGGRAPH 1998 การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมไปถึงรางวัลชนะเลิศจาก World Animation Celebration สองปีซ้อน (1999-2000) จากงานทั้งแบบ 2D และ 3D จากความรักในแอนิเมชั่นทำให้เขาทำงานในสายนี้มาต่อเนื่องร่วม 20ปี มีผลงานที่เป็นที่รู้จักมากมายเช่น ไตเติ้ลของเวิร์คพอยท์เกือบทุกตัว และงานด้านภาพยนตร์ก็เป็น CG SUPERVISOR ให้ภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ, สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก, 30+ โสด ON SALE และปัจจุบันเขายังทำหน้าที่หัวหน้าหลักสูตรปริญญาโท คณะศิลปะ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และ เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาเพื่อสร้างนักแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ๆ มาประดับวงการอีกด้วย ตัวอย่างภาพยนตร์ ยักษ์ http://www.youtube.com/watch?v=rZyuReZa9dw MV ‘เกิดมาเป็นเพื่อนเธอ’ โดย นิ้วกลม http://youtu.be/40vsqsd6TGQ Audio เพลง ‘เกิดมาเป็นเพื่อนเธอ’ http://www.youtube.com/watch?v=UdlCWAUDvAE ทีเซอร์ยักษ์ http://www.youtube.com/watch?v=TABKqUt2kVc