HIGHLIGHT CONTENT

เผยสาเหตุ ทำไม FANTASTIC FOUR ต้องรีบู๊ตใหม่ กับโทนของหนังที่เปลี่ยนไป

  • 37,606
  • 29 ก.ค. 2015

เผยสาเหตุ ทำไม FANTASTIC FOUR ต้องรีบู๊ตใหม่
กับโทนของหนังที่เปลี่ยนไป

 

 

ก่อนจะเป็น FANTASTIC FOUR  ฉบับรีบู๊ตใหม่ในปีนี้ ขอย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้ ในปี 2007 นักทำหนังหน้าใหม่จากลอสแองเจลีส จอช แทรงค์ ได้สร้างหนังสั้นธีม“Star Wars” ความยาว 85 วินาทีซึ่งมีชื่อว่า“Stabbing at Leia’s” คลิปนี้แพร่หลายกลายเป็นคลิปไวรัลและสร้างกระแสในอินเตอร์เน็ต ทำให้มีผู้เข้าชมนับล้านๆ ครั้งในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ความชาญฉลาดและสมจริงในคลิปนี้ดึงดูดความสนใจของผู้บริหาร Twentieth Century Fox ในไม่ช้าทางสตูดิโอก็จ้างให้แทรงค์ทำหนังยาวเรื่องแรก“Chronicle” กลายเป็นหนังทำเงินทั่วโลกและได้รับเสียงชมจากนักวิจารณ์“Chronicle” มีโทนและรูปแบบคล้ายเรียลลิตี้ซึ่งจะส่งผลต่อ FANTASTIC FOUR ในเวลาต่อมา

ในเวลานั้น Fox อยู่ระหว่างการพัฒนา The Fantastic Four ฉบับสร้างใหม่ด้วยความที่มีแนวคิดคล้ายกับใน "Chronicle" หนังของแทรงค์ที่ได้แรงบันดาลใจจากซูเปอร์ฮีโร่ และตัวผู้กำกับรายนี้ก็ชื่นชอบคอมิกฉบับคลาสสิกของ Marvel อยู่แล้ว ผู้บริหารของทางสตูดิโอจึงตระหนักว่าได้คนที่เหมาะสมที่สุดในการนำมุมมองใหม่อันน่าตื่นเต้นมาให้ซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มแรกของMarvel แล้ว

 

 

แทรงค์เป็นคนรุ่นที่เติบโตมากับหนังสือคอมิกและหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือคอมิกซึ่งมีโทนหม่นมืดชวนค้นหา สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้แนวทางของเขาใน FANTASTIC FOUR ฉบับใหม่นี้ “สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ต้องกลัวว่าเป็นการล้มล้างแนวทางแบบเดิมๆ หรือท้าทายต่อสิ่งที่มันควรจะเป็น” ลำดับแรก เขาต้องการแสดงให้เห็นที่มาของทั้งสี่ในวัยเด็กก่อนเข้ามาร่วมทีม ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเขาพยายามทำให้โทนหนังมีความสมจริง เน้นอารมณ์ และเข้าถึงได้ “พลังของพวกเขาสอดคล้องกับในหนังสือคอมิก แต่แทนที่จะมองว่าเป็นพลังวิเศษ มันกลับเป็นความท้าทายที่ทำให้แต่ละคนกลายเป็นตัวปัญหาหากต้องการกลับเข้าสู่สังคม” แทรงค์อธิบาย

เรื่องราวเกิดขึ้นก่อนซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มนี้จะได้รับการยกย่องไปทั่วโลก พวกเขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบชุดรัดรูป และยังไม่ได้ใช้ฉายาที่คุ้นเคยกันอย่าง มิสเตอร์แฟนแทสติก สาวล่องหน มนุษย์เพลิง และเดอะธิงค์ เมื่อแทรงค์มาร่วมทีมแล้ว 20th Century Fox ก็ได้เชิญไซมอน คินเบิร์กมาเขียนบทและอำนวยการสร้าง หลังจากอำนวยการสร้าง “X-Men: First Class” “X-Men: Days of Future Past” คินเบิร์กซึ่งเป็นแฟนหนังสือคอมิกมาตลอดชีวิตจึงเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการทำงานร่วมกับแทรงค์ใน FANTASTIC FOUR

 

 

คินเบิร์กเข้าร่วมทีมสร้างหนังซึ่งรับผิดชอบการดัดแปลงผลงานหลักของ Marvel เรื่องอื่นๆ ในความดูแลของ 20th Century Fox ด้วยอันได้แก่ ผู้อำนวยการสร้าง ฮัตช์ พาร์กเกอร์ ซึ่งอำนวยการสร้างทั้ง “X-Men: Days of Future Past” และ “The Wolverine”, เกรกอรี กู๊ดแมน ผู้อำนวยการสร้าง “X-Men: First Class” และแมทธิว วอห์น ผู้เขียนบทและผู้กำกับของ “X-Men: First Class”

คินเบิร์กวางโครงเรื่องโดยรวมว่าตัวละครเหล่านี้ควรอยู่ที่จุดไหนในอีก 10, 20 และ30 ปีข้างหน้า “งานนี้บังคับให้ผมต้องตั้งคำถามอย่างเช่นว่าพวกเขาจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรและจะกลายเป็นอะไร ตัวละครทั้งสี่ไม่ได้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ในตอนจบของเรื่องนี้ พวกเขายังไม่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน พวกเขายังไม่วางใจกับพลังที่ตนเองมีเลยด้วยซ้ำ พวกเขาไม่มีชื่อเรียกเฉพาะหรือเครื่องแต่งกายพิเศษ เรื่องราวความเป็นมานี้นำเสนอรายละเอียดปลีกย่อย ตัวละคร และความเป็นมนุษย์มากกว่า”

 

 

แม้ว่า FANTASTIC FOUR ได้รับการปรับให้มีความร่วมสมัยในแง่โทน การคัดเลือกนักแสดง และการออกแบบ แต่ก็ยังมีลักษณะเด่นหลายอย่างเหมือนในหนังสือ โดยหนังแสดงให้เห็นสัญลักษณ์ต่างๆ ของ Fantastic Four แต่องค์ประกอบหลักที่เก็บไว้จาก“ The Fantastic Four ”ฉบับดั้งเดิมของเคอร์บีและลีคือแนวคิดที่ว่าคนเหล่านี้เป็นเหมือนครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่ง” คินเบิร์กระบุ “เหตุผลที่คอมิกเรื่องนี้อยู่มาได้นานหลายปีก็เพราะความเป็นครอบครัวในเรื่อง นี่เป็นแก่นซึ่งเรานำมาจากหนังสือคอมิกต้นฉบับ รวมถึงความสนุกสนาน การผจญภัย และการมองโลกในแง่ดีด้วย”