เจาะลึกธุรกิจในเครือบริษัทเวนย์เอ็นเตอร์ไพรซ์
รวยจริงครอบจักรวาล DC
ทำไมมันรวย...ทำไมมันรวยกว่าชาวบ้านเขา...ประโยคนี้เราคงจะไม่มอบให้ใครนอกจากมหาเศรษฐีตัวจริงแห่งจักรวาลภาพยนตร์ดีซี บรูซ เวนย์ ผู้มีเบื้องหลังเป็นฮีโร่ค้างคาว แบทแมน แต่ไม่ใช่แค่ในรุ่นพ่อหรือรุ่นแม่เท่านั้น ในรุ่นของเขาเองก็ต้องบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ถือเป็นหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาลภาพยนตร์ วันนี้เรามาเจาะลึกกันดีกว่าว่าสารพัดบริษัทที่อยู่ภายใต้เงาของบรูซนั้นมีอะไรบ้าง
แบทแมน อินคอร์ปเปอร์เรท
บริษัทนี้เป็นบริษัทที่บรูซ เวนย์ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม นอกเหนือไปจากที่เขาจะต่อสู้อยู่เบื้องหลังในนาม แบทแมน อยู่แล้วด้วย
เวนย์ ซีเคียวริตี้
บริษัทนี้จะทำงานโดยตรงเกี่ยวกับการจัดหาประกันภัยส่วนบุคคล ป้องกันการโจรกรรมข้อมูล รวมถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยให้กับบุคคลทั่วไป
สถาบันวิจัยเวนย์
สถาบันวิจัยแห่งนี้เป็นเหมือนคลังความรู้ขนาดยักษ์ใหญ่ที่รวบรวมเอาหัวกะทิเจ้าของรางวัลโนเบลมากมาย มาเพื่อคิดค้นหาเทคโนโลยีเพื่อมนุษย์ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองก็อตแธม ซึ่งสถาบันนี้เองที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีต่าง ๆ ของแบทแมน ที่เขาไว้ใช้ในภารกิจปกป้องโลกของเขา
เวนย์ แอร์โรว์สเปซ
บริษัทนี้จะดูแลเกี่ยวกับธุรกิจการบินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเวนย์ (เวนย์ แอร์ไลน์), ธุรกิจการขนส่งภาคพื้นอากาศ รวมไปถึงการคิดค้นเทคโนโลยีการบินอวกาศ โดยนอกจากจะเป็นบริษัทของบรูซ เวนย์แล้ว บริษัทแห่งนี้ยังเป็นการร่วมมือกับเมืองก็อตแธม และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งสินค้าขึ้นชื่อของบริษัทนี้ก็คือการผลิตเครื่องบินส่วนตัวที่หรูหรา และสมรรถนะดีเยี่ยม
เวนย์ เทคโนโลยี
แผนกเวนย์ เทคโนโลยี ถือเป็นแผนกที่ใหญ่ที่สุดในเวนย์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แผนกนี้แบ่งฝ่ายย่อยออกอีกเป็น โฮลต์ โฮลดิ้งอินดัสทรี, เวนย์ ไบโอเทค, เวนย์ ฟามาซูติคอล, เวนย์ อโวนิคส์ โดยงานหลังของเวนย์ เทคโนโลยีก็คือ การต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีโดยอาศัยเทคโนโลยีต่างดาวเป็นพื้นฐาน นอกจากจะทำให้เมืองก็อตแธมก้าวหน้าขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังคอยช่วยเหลือแบทแมนในการสร้างอุปกรณ์สุดไฮเทคอีกด้วย
เวนย์ ฟู้ดส์
บริษัทนี้ของอาณาจักรธุรกิจตระกูลเวนย์นั้น แท้จริงแล้วในอดีตก่อตั้งมาจากชาวไอริชในชื่อ Toole & Sons Food Merchants ก่อนจะประสบปัญหาเนื่องด้วยสงคราม จนทำให้ไม่สามารถบริหารต่อได้ เจ้าของบริษัทรุ่นที่ 3 จึงได้ทำการขายบริษัทนี้ โดยผู้ที่ซื้อมาบริหารต่อก็คือตระกูลเวนย์ นั่นเอง ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็นเวนย์ ฟู้ด ในปี 1956 ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นในการผลิตสินค้าทางการเกษตร โดยไม่มีการแทรกแซงกระบวนการเจริญเติบโตทางธรรมชาติ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมและดูแลการกินของชาวก็อตแธม
เวนย์ ชิปปิ้ง
เวนย์ ชิปปิ้ง คือบริษัทที่ควบคุมการขนส่งทั้งมวล โดยตระกูลเวนย์ ได้ควบรวมเข้ากับ PAAL Ship คอร์ปเปอร์เรชั่น ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมการขนส่งได้ทั้งหมด โดยตระกูลเวนย์ถือหุ้นในบริษัทนี้สูงถึง 57% ส่วนผู้บริหารจากทางฝั่ง PAAL ถือหุ้นอยู่ 20% ส่วนอีก 23% นั้นเป็นหุ้นสาธารณะ นอกจากความสำเร็จที่ทำให้บริษัทนี้มีมูลค่าหุ้นสูงที่สุดในปี 1988 ของตลาดหุ้นนิวยอร์กแล้ว ยังมีช่องทางให้แบทแมนสามารถจัดการกับธุรกิจค้ายาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เวนย์ ยาร์ด
เวนย์ ยาร์ดรับผิดชอบในการสร้างยานพาหนะทางการทหารเรือ รวมถึงผลิตเรือส่วนตัว นอกจากนี้แล้วยังทำการผลิตเรือรบบรรทุกอากาศยานให้กับเมืองก็อตแธมอีกด้วย โดยเป็นการร่วมมือกันของสองบริษัทได้แก่เวนย์ ยาร์ด และเวนย์ สตีลที่ดูแลธุรกิจเหล็กชั้นเยี่ยมทั้งหมด
เวนย์ อินดัสทรีส์
บริษัทอุตสาหกรรมในเครือเวนย์ เอ็นเตอร์ไพรส์แห่งนี้ เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นในการค้นคว้าและผลิตสินค้าเพื่อตลาดอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยมีแผนกในเครืออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เวนย์ ออโต้โมทีฟ ที่ดูแลเรื่องการผลิตรถยนต์และเครื่องนุ่งห่ม, เวนย์ ไมน์นิ่ง ที่เป็นธุรกิจเหมืองแร่ ทองคำ และอัญมณีบางชนิดที่ทำการขุดค้นในทวีฟแอฟริกา และรวมถึงบริษัทเวนย์ อิเล็คทริค ผู้เป็นเจ้าของสถานีผลิตพลังงานไฟฟ้าหลายแห่งด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาณาจักรธุรกิจอันแสนยิ่งใหญ่ของตระกูลเวนย์ ตอกย้ำชัดเลยว่าความรวยมหาศาลนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยจริง ๆ แถมธุรกิจหลายด้านยังมีเบื้องหลังในการช่วยเหลือแบทแมน ในภารกิจกู้โลกของเขา เรียกได้ว่าคุ้มค่าและช่วยเหลือมนุษย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไปลองดูกันว่าใน Justice League ที่เรากำลังจะได้ชมวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เวนย์ เอ็นเตอร์ไพรซ์จะมีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหน?!
Justice League
กำหนดฉาย 16 พฤศจิกายนนี้
Source: En.wikipedia.org