HIGHLIGHT CONTENT

เยี่ยมแค่ไหนต้องอ่าน!! เจาะลึกงานสร้างวิชวลเอฟเฟ็กต์กว่า 2000 ชอตใน Warcraft

  • 57,960
  • 30 พฤษภาคม 2016

เยี่ยมแค่ไหนต้องอ่าน!! เจาะลึกงานสร้าง
วิชวลเอฟเฟ็กต์กว่า 2000 ชอตใน Warcraft

 

 

ทางทีมผู้สร้างย้อนกลับไปในอดีตเพื่อเล่าถึงจุดกำเนิดของ Warcraft จากนั้นก็ก้าวกระโดดก้าวใหญ่ไปข้างหน้าด้วยการใช้สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิค และเทคโนโลยีโมชั่นแค็ปเจอร์ เพื่อเล่าเรื่องในแบบที่น่าเชื่อที่สุด ด้วยการนำตัว บิลล์ เวสเทนโฮเฟอร์ วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ เจ้าของรางวัลออสการ์ มาร่วมงานในโปรเจ็กต์นี้ ไม่ใช่แค่เพียงว่าพวกเขาได้ร่วมงานกับหนึ่งในมือดีที่สุดของวงการเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เล่นเกมส์ที่อุทิศตนอย่างมากด้วย 

เวสเทนโฮเฟอร์เล่าถึงการแนะนำตัวของเขา “ตอนที่ผมนั่งอยู่กับดันแคนและสต๊วร์ต คำถามแรกก็คือ ‘ผมมีความคุ้นเคยกับโลกของ Warcraft สักแค่ไหน’ ผมเริ่มหัวเราะ เพราะนี่เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่การเสพติดการเล่นวิดีโอเกมส์ของผมเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาในแบบที่ยิ่งใหญ่เสียด้วย!” ไม่ใช่แค่เขามีความชำนาญในเกมส์นี้เท่านั้น แต่อันที่จริง เขายังสามารถเล่นได้ในระดับสูงที่สุด ทำให้เขากลายเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคอย่างไม่เป็นทางการไปด้วย 

“การเป็นแฟนของเกมส์ และได้สร้างภาพยนตร์จากสิ่งที่ผมชื่นชอบมาก และยังได้ทำงานกับดันแคน ซึ่งก็เป็นผู้เล่นและแฟนของเกมส์นี้ เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราอยากสร้างหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างไร” เวสเทนโฮเฟอร์กล่าว “มีหลายที่มากที่การตัดสินใจของเราอาจมุ่งไป  และเราพยายามที่จะทำมันออกมาให้สมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ถ้าคุณลองมองดูชอตต่างๆ อย่างพินิจพิจารณา คุณจะเห็นว่าเลย์เอ้าต์ของแผ่นดินและภูมิภาคนี้ มันตรงกับป่าเอลวินน์ทุกอย่าง ทั้งเรดริดจ์และเวสต์ฟอลล์ต่างก็ออกมาเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น ภูเขาระหว่างสตอร์มวินด์ และไอร่อนฟอร์กก็มีความถูกต้อง เราพยายามทำให้มันจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ผู้คนที่ไม่รู้จักเกมส์นี้ จะได้เห็นโลกที่เต็มไปด้วยรายละเอียด และคนที่รู้จัก จะต้องสนุกไปกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราใส่เข้าไป”

 

 

แน่นอนว่า การสำรวจและสร้างเสื้อผ้าขนาดใหญ่ อาวุธ และวิวทิวทัศน์ของเกมส์นี้ เป็นปัจจัยสำคัญของงานของพวกเขา เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจำองค์ประกอบที่ใหญ่ขึ้นของ Warcraft ขณะที่ทำให้มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสถานที่หรือสถานการณ์ที่มีอยู่จริง แต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับโจนส์, เวสเทนโฮเฟอร์ และทีมงานของเขา ก็คือพวกออร์ค จากชอตวิชวลเอฟเฟ็กต์จำนวนมากกว่า 2,000 ชอต มีอยู่เกือบ 1,300 ชอตที่เกี่ยวข้องกับนักรบหุ่นล่ำเหล่านี้ 

เรื่องราวของ Warcraft คือการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับออร์ค โดยแต่ละด้านต่างก็มีตัวดีและตัวร้าย ตั้งแต่เริ่มแรก ทางทีมผู้สร้างรู้ดีว่า สิ่งมีชีวิตที่มีส่วนสูง 7-8 ฟุต หนัก 500 ปอนด์ จะต้องถูกสร้างด้วยระบบดิจิตอล แต่พวกเขาก็อยากให้คนดูได้เห็นการแสดงจากพวกออร์คเหมือนกับพวกมนุษย์ การจะทำเช่นนั้นได้ มนุษย์และออร์คต้องถ่ายทำด้วยกัน นั่นหมายถึงความท้าทายในการผลักดันเทคโนโลยีโมชั่นแค็ปเจอร์ไปสู่ระดับใหม่ 

ถึงตอนนี้ แทนที่จะถ่ายทำนักแสดงผู้รับบทเป็นออร์คในโรงถ่ายที่มีแบ็คกราวน์เป็นสีเทา ตัวละครซีจีไอจะต้องถูกถ่ายทำในแบบที่มีกล้องหลายตัวถูกติดเอาไว้ในฉากที่ใช้คนแสดง เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงที่รับบทเป็นออร์ค เมื่อพวกเขาร่วมแสดงกับนักแสดงที่เป็นคนในเวลาจริง นั่นหมายถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับบ็อคเก็ท ซึ่งจะพรางกล้องเอาไว้ภายในฉาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำให้พวกเขาได้เห็นพื้นที่การแสดงชัดเจน และทุกจุดมาร์กดิจิตอลบนชุดบอดี้สูทของนักแสดงผู้รับบทเป็นออร์คด้วย

เวสเทนโฮเฟอร์อธิบายว่า “เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อหาวิธีที่จะสามารถถ่ายทำตัวละครทั้งหมดนี้ในที่เดียวกัน ดังนั้นเราจึงให้ โทบี้ ในชุดโมชั่นแค็ปเจอร์ แสดงเป็นดูโรทัน อยู่ข้างๆ เทรวิส ที่แสดงเป็นโลธาร์ มีกล้องมากพอที่พวกเขาจะมองเห็นโทบี้ คำนวณทุกอย่างในเวลาจริง หาว่าออร์คจะต้องยืนอยู่ตรงไหน และแสดงให้เห็นในช่องมองภาพของกล้อง เป็นตัวแทนว่าดูโรทันจะต้องดูเป็นยังไง”

 

 


“ในอีกนัยหนึ่ง เราสามารถมองเห็นดูโรทันเวอร์ชั่นดิจิตอลยืนอยู่ข้างๆ โลธาร์ และนักแสดงก็จะได้ปฏิกริยาตอบกลับในทันที่ว่าการแสดงของพวกเขาใช้ได้ผลดี” เวสเทนโฮเฟอร์อธิบายต่อ “แล้วคนควบคุมกล้องก็มองเห็นด้วยว่าสิ่งมีชีวิตที่สูง 7 ฟุตตัวนี้จะเข้ากับเฟรมภาพข้างๆ ตัวโลธาร์ การได้รับฟีดแบ็คกลับมาถือเป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อคุณรับบทเป็นตัวละครที่หนักถึง 500 ปอนด์ คุณไม่ได้เคลื่อนไหวแบบเดียวกับคนหรอกนะ คุณเคลื่อนไหวด้วยน้ำหนักและรูปลักษณ์ใหญ่มโหฬาร เราสามารถมองออกได้ทันทีว่านักแสดงไม่ใช่ตัวละครตัวนั้น”

เพื่อให้เข้ามาช่วยภารกิจสุดทะเยอทะยานนี้ เวสเทนโฮเฟอร์ได้ดึงสองบริษัทให้เข้ามาทำงานด้วย นั่นก็คือ ไจแอ้นท์ สตูดิโอส์ และแอนนิเมทริกซ์ ฟิล์ม ดีไซน์ ผู้ผลักดันระบบของพวกเขาไปสู่ขีดจำกัด เขากล่าวว่า “กับฉากป่าเอลวินที่ใช้คนแสดง มีการติดตั้งกล้องตามแผน 125 ตัว หลายตัวติดอยู่ในต้นไม้ อยู่หลังก้อนหิน หรือติดเอาไว้กับเครน ทุกที่ที่เราซ่อนมันได้ และทาสีพรางมันเอาไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจับภาพออร์คได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ตรงไหนของเฟรม มันน่าทึ่งมาก ผมรู้ว่ากระบวนการทำงานเป็นยังไง แต่ความท้าทายทางเทคนิคมันมากเกินกว่าที่เราคาดหวังเอาไว้” 

เมื่อพวกเขาค้นพบสิ่งกีดขวางเลนส์กล้อง ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์จัดแสง อุปกรณ์ประกอบฉาก ควัน ใบไม้บนต้นไม้ ที่อาจขัดขวางความสามารถของกล้องที่จะบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้อง เวสเทนโฮเฟอร์เล่าถึงความท้าทายในการถ่ายทำภายในอาคารโครงไม้ว่า “ความร้อนของช่วงกลางวันจะทำให้ตัวอาคารขยายตัวออกไปสองสามมิลลิเมตร แค่เรื่องนั้นเรื่องเดียวก็ทำให้กล้องหลุดได้แล้ว ดังนั้น กล้องต้องแยกออกจากตัวกำแพงด้วยเครน” 

 

 

กำเนิดศึกสองพิภพ

  • 26 May 2016
  • Adventure / ผจญภัย / แฟนตาซี /
  • 123 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง