HIGHLIGHT CONTENT

UNHCR จัดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 6 ฉลองวันผู้ลี้ภัยโลก

  • 3,155
  • 16 มิ.ย. 2016

UNHCR จัดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 6 ฉลองวันผู้ลี้ภัยโลก
เตรียมหนังหาดูยาก5 เรื่องเพื่อส่งต่อความเข้าใจและความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย

 

 

(UNHCR-ประเทศไทย)จัดสัมภาษณ์พิเศษโดยมีคุณอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)ประเทศไทย พร้อมด้วย คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ผู้กำกับซิทคอมชื่อดัง ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันผู้ลี้ภัยโลก20มิถุนายน 2559 รวมถึงการจัดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 6 

    คุณอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือระหว่าง UNHCR กับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ตลอดจนทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทาง UNHCR จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายนขึ้นในแต่ละปี โดยในปีนี้สถานการณ์วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยโลกได้ทวีความรุนแรงขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทาง UNHCR ต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยในปีนี้เราได้รับเกียรติจากพระอาจารย์ ว.วชิระเมธี และ คุณปู ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก ร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยผ่านคลิปประชาสัมพันธ์ซึ่งจะเปิดตัวพร้อมเหล่าคนดังทั่วโลกกว่า 70 ท่านในวันที่ 9 มิถุนายน 2559ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งแรกของภาคธรรมะและบันเทิงเพื่อเน้นย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือนอกจากนี้UNHCR ยังได้มีการรณรงค์ในทุกภาคส่วนในสังคมร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ทาง www.unhcr.or.th/supportrefugees โดยรายชื่อที่ได้ทาง UNHCR จะนำเสนอแก่ที่ประชุม General Assembly High-level Meeting on Addressing Large Movements of Refugees and Migrants ในวันที่ 19 กันยายน ที่อาคารสำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาติ นครนิวยอร์ค

กิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งกิจกรรมในการเฉลิมฉลองวันผู้ลี้ภัยโลกที่กรุงเทพนั้นได้แก่เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 6 หรือthe 6thRefugee Film Festival 2016 ระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2559 ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอนเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและกลุ่มคนในความห่วงใยของUNHCR โดยเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยได้จัดทุกปีในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา เพื่อนำหนังที่น่าสนใจและไม่เคยเข้าฉายในประเทศไทย มาให้คอหนังคนไทยได้ชมกัน ซึ่งตัวเทศกาลมีผู้สนใจเข้าชมไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปีสำหรับภาพยนตร์และสารคดี 5 เรื่องที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายปีนี้เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องราวในหลากหลายประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของผู้ลี้ภัย โดยหนึ่งในภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องที่ได้รับการคัดสรรมาให้ชมนั้น ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในหนังฉายเปิดเทศกาลBerlin International Film Festival ครั้งที่ 65 ขณะที่เรื่องอื่นๆ ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลจากสถาบัน American Academy Awards

“เรื่องของผู้ลี้ภัยกลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจในปีที่ผ่านมา พวกเราทราบกันดีว่า ขณะนี้ปัญหาผู้ลี้ภัยกำลังกลายเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2ซึ่งเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเอาชีวิตรอด ความสูญเสีย รวมถึงความหวัง และโอกาสในการลุกขึ้นยืนอีกครั้งเพื่อชีวิตใหม่ในอนาคตนั้นได้ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มผ่านหนังทั้ง 5 เรื่องที่เราได้คัดสรรมาให้ทุกคนได้รับชนกันในเทศกาลหนังผู้ลี้ภัยปีนี้ สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของเราสามารถติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อจองบัตรร่วมชมภาพยนตร์ได้ที่ Facebook/UNHCR Thailand โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ” คุณอรุณี กล่าว
คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ผู้กำกับซิทคอมชื่อดัง กล่าวว่า ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในครั้งนี้หลายเรื่องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลจาหลายเวที เช่น เรื่อง Salam Neighborสารคดีจากเทศกาล The American Film Institute’s Annual Documentary Film Festivalที่สองผู้กำกับชาวสหรัฐอเมริกา Zach Ingrasci และ Chris Templeได้รับอนุญาตจากสหประชาชาติให้เข้าไปทดลองใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยซาทารี(Zataari)ประเทศจอร์แดน ซึ่งห่างจากการเขตการสู้รบของซีเรียไม่ถึง 12 กิโลเมตรและถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความหวังของผู้ลี้ภัยในพื้นที่ออกมาให้เราได้ชมกัน 

คุณปิยะกานต์กล่าวต่อไปว่า“ภาพยนตร์เป็นสื่อที่จะสามารถถ่ายทอดหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆออกมาให้ผู้รับชมเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยในครั้งนี้สร้างมาจากเรื่องจริง และเป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่หลายๆคนมักจะคิดว่าเขาเหล่านี้คือภาระ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดหรือถิ่นฐานของตัวเองมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยากลำบาก หากไม่เพราะเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องรอคอยความหวัง ความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งมุกยังเชื่อว่าประโยชน์จากภาพยนตร์ที่นำเข้ามาฉายในครั้งนี้ จะสามารถให้แง่คิดที่หลากหลายและเปลี่ยนทัศนคติของพวกเราให้มองผู้ลี้ภัยเป็นดั่งเพื่อนมนุษย์ของเราที่ต้องการโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุข”   คุณปิยะกานต์ กล่าวในตอนท้าย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) เป็นหน่วยงานอยู่ในสังกัดของสหประชาชาติ (United Nations)  ทำงานในระดับนานาชาติ ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยที่ถูกริดรอนศักดิ์ศรี โดยใน พ.ศ.2518 UNHCR ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยคำเชิญของรัฐบาลขณะนั้น เพื่อช่วยดูแลผู้อพยพจากอินโดจีนที่มีจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน จนกระทั่งพวกเขาสามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัยปัจจุบัน UNHCR ในประเทศไทย ยังคงมีภารกิจดูแลผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวน 9 แห่งใน 4 จังหวัดชายแดนไทย-พม่า ความรับผิดชอบของ UNHCR ครอบคลุมเรื่องการให้ความคุ้มครอง การฝึกอาชีพ ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัย 
การดำเนินงานของ UNHCR ได้รับการสนับสนุนจากผู้อนุเคราะห์มาโดยตลอด ซึ่งรายได้จากการบริจาค ได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการตามแนวทางและวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ลี้ภัยอย่างแท้จริง