HIGHLIGHT CONTENT

หนังดีกระแสแรง! The Imitation Game กวาดคำชมล้นหลามจากสังคมเฟซบุค

  • 9,044
  • 29 ม.ค. 2015

หนังดีกระแสแรง!
The Imitation Game กวาดคำชมล้นหลามจากสังคมเฟซบุค

 

 

"อดสงสัยไม่ได้เหมือนกันว่า เกณฑ์พิจารณารางวัลออสการ์ปีนี้ ถ้าทำหนังชีวประวัติแล้วจะได้โอกาสในการเข้าชิง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มากกว่าเรื่องอื่นๆ รึเปล่า เพราะ The Imitation Game ก็เป็นหนังชีวประวัติเหมือนกัน หนังว่าด้วยเรื่องราวของ Prof. Alan Turin อัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของสหราขอาณาจักร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเป็นผู้ถอดรหัสเครื่องสงสาร “อินิกม่า” ของนาซี ที่ไม่มีใครสามารถแปลสารได้ หนังมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนังดูยาก แต่เปล่าเลย ผู้กำกับ Morten Tyldum กลับสามารถควบคุมประเด็น และบอกเล่าออกมาได้อย่างน่าติดตาม

The Imitation Game มีเส้นเรื่องและประเด็นที่ถูกสื่อสารออกมาเยอะทีเดียว แต่ในระยะเวลา 2 ชั่วโมงนี้ กลับเหมือนกับการเล่นเกมครอสเวิร์ดที่ไม่ง่ายจนน่าเบื่อ หรือไม่ยากจนไม่อยากทำ มันเป็นความพอดี ที่ชวนท้าทายให้แก้ปริศนาไปเรื่อยๆ และเมื่อปมประเด็นใดถูกคลายลงไปได้แล้ว ก็จะมีปริศนาใหม่เข้ามาให้ติดตามกันต่อ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ Turing และการปฎิบัติการลับนี้ได้อย่างเข้มข้น มีมิติ แต่ยังสนุกชวนติดตามได้ไม่ยาก 

สำหรับ Sherlock.. ไม่ใช่.. Benedict Cumberbatch กลับมาระเบิดพลังมากในการแสดงครั้งนี้ โดยไม่ได้ส่งพลังแบบใช้อารมณ์ฟูมฟาย แต่เป็นความ passive ที่มี layer อีกหลายชั้นในการขับเคลื่อนตัวละคร มันมีพลังมาก เรียกได้ว่าเข้าทาง เพราะเขาสามารถแบกหนังเรื่องนี้ไปได้อย่างน่าดู 

โดยรวมแล้วเราคิดว่า The Imitation Game เป็นหนังชีวประวัติบทแน่น ที่ดูไม่ยากเลย แม้อาจขาดความกลมกล่อมไปสักนิด แต่ถือว่าหนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่จะสื่อสารว่า Prof. Alan Turing คือวีรบุรุษของโลกที่เด็กยุคนี้ ควรรับรู้ เคารพ และจดจำ (A)"

 

- Aomtimator Blog

 

 


"เป็นหนังปฎิบัติการลับ ชีวประวัติที่ชอบมากเลย มันเล่าเรื่องสงครามที่ก็ไม่ตึงเครียดเป็นตาย มันเล่าชีวิตของคนที่อยู่แนวหลัง ความตึงเครียดของแนวหลังมันก็หนักเบาผกผันไปเรื่อยๆ ความกดดันผันแปรไปเรื่อยๆ ซึ่งรู้สึกว่าไม่มากไปไม่น้อยไป

จริงๆพอดูจบเราว่าหนังมันคมมากตรงที่ว่าก่อนหน้าที่มันจะมาพูดเรื่องประเด็นความแตกต่างในสังคมตอนท้าย ก่อนหน้านี้มันสร้างบรรยากาศแปลกแยกให้รู้สึกได้อยู่ตลอด แล้วมันทำให้เห็นด้วยว่าความขัดแย้งนั้นมันมาจากแค่หลักคิดมันคนละแบบ เราจะได้เห็นการกระทบกระทั่งต่างๆ ของอลัน ทูริ่งกับคนอื่นๆไปตลอดเรื่อง แล้วมันมักจะถูกค้านเสมอว่าแบบนี้มันไม่ใช่ นี่มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง นั่นมันไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งท้ายที่สุดคงไม่อาจแย้งได้อีกต่อไปว่าการมีคนอย่างอลันมันเปลี่ยนแปลงโลกได้ขนาดไหน ดังประโยคที่โจนได้พูดไว้ว่าเพราะความไม่ปกติของอลันโลกเลยมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งเราว่ามันดีตรงที่ไม่ได้ยัดเข้ามาโต้งๆ แต่มันสร้างภาวะแปลกแยกจริงๆ มองเห็นได้จริงๆ แล้วมีเหตุมีผลความคิดของตัวละครมารองรับ ไม่ใช่แค่มีคาแรคเตอร์แปลกจากคนอื่นเฉยๆ ซึ่งตอนจบมันก็พาไปให้เห็นว่าเพราะการที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง (ตามที่ได้ฮินท์เรื่องรสนิยมทิ้งไว้ในฉากห้องสอบสวน) มันมีพลังทำลายล้างขนาดไหน

พอมาคิดดูอีกที Imitation Game ทั้งในแง่การถูกใช้เปรียบเปรยในหนังและตัวชื่อหนังเองมันก็พูดประเด็นนี้ชัดเหมือนกัน การตั้งคำถามกับความคิด ความเหมือน ความแตกต่าง คน เครื่องจักร สุดท้ายแล้วมันคือการตั้งคำถามกับประเด็นนี้ทั้งนั้นเลย

แล้วพอคิดต่ออีกทีเราก็ไม่แน่ใจว่าการที่หนังเลือกเรื่องของอลัน ทูริ่งมาเล่า เพราะมันมีมิติให้เราได้เข้าไปร่วมใกล้ชิดติดตามหรือเปล่า เพราะตอนเราเด็กๆช่วงเราเป็นวัยรุ่น ร้อยทั้งร้อยเด็กไทยมันจะมีภาพจำลองบางอย่างของเพศทางเลือก ซึ่งภาพนั้นถูกมองในฐานะโมเดล ไม่ได้มองในฐานะคนที่มีจิตวิญญาณ เราจะมองใครด้วยใจเป็นกลางก็ต่อเมื่อเราได้รู้จักกับคนคนนั้น เราถึงจะมองตัวเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราว่าแม้กระทั่งอุดมคติทางการเมือง หรือทัศนคติ ความเชื่อ ศาสนาก็สามารถหยิบโมเดลนี้มาใช้ได้ การที่เราได้รู้จักใครสักคนที่อยู่พ้นวิสัยชีวิตปกติที่เราคุ้นเคย เราถึงจะเริ่มเปิดใจมองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเอาจริงๆแม้กระทั่งเครื่องคริสโตเฟอร์เองก็ยังต้องถูกบททดสอบจากคนนอกเลย 

ดังนั้นการเล่าเรื่องคนคนหนึ่งที่มีความเหวี่ยงแกว่งผกผันของอลัน อาจจะเป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องให้เราคอยติดตาม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งแล้วเอาใจช่วยเขาไป ก่อนจะพาเราไปพบชะตากรรมของตัวละคร การสร้างตัวละครตำรวจขึ้นมาอาจจะเป็นกระบอกเสียงแทนใจคนดูที่อยู่ในฐานะที่น่าจะถือว่าเป็นคนรู้จักใกล้ชิดกันได้จากการรับรู้เรื่องราวต่างๆของเขา ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นความต่างบางอย่างได้"

- Teeraphan Ngowjeenanan

 

 

"มองในแง่ความบันเทิง The Imitation Game ตอบโจทย์ความสนุกของหนังแนวดราม่า-ทริลเลอร์และแอบคอมมาดี้หน่อยๆ ด้วยซ้ำไป พูดง่ายๆ คือหนังมันดูได้เพลิดเพลินเจริญใจเอามากๆ

ในขณะเดียวกันการแสดงของเบเนดิกซ์ คัมเบอร์แบชก็เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยมิติที่ซับซ้อน เพราะนอกจากจะรับบทเป็นอัจฉริยะที่มีปัญหาในการเข้าสังคมแล้ว ประเด็นเรื่องโฮโมเซกชวลที่ตัวละครนี้เป็นอยู่นั้นเขาก็ถ่ายทอดสภาวะกดดัน แอบซ่อนความเป็นคนรักร่วมเพศได้อย่างน่าสงสาร คู่ควรแก่การได้รับรางวัล (แต่น่าเสียดายที่ปีนี้คู่แข่งขันเขาน่ากลัวเกินกว่าจะเอาชนะ)

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมิติเรื่อง "เพศ" ของตัวละครอลัน ทัวร์ริ่ง (เบเนดิกต์) และโจน (เคียร่า ไนท์ลีย์) ก็น่าสนใจในการ "อยู่ร่วมกัน" ในฐานะสามีภรรยาที่เหมือนการ "เติมเต็ม" ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม The Imitation Game ยังเดินเรื่องตามสูตรสำเร็จของหนังในแนวทางนี้ แต่ตัวผู้กำกับยังสามารถเล่าสูตรสำเร็จได้สนุกดีแม้ว่าจะมีรอยด่างเรื่องการตัดต่อ"

- Tum Chibuya Punk

ถอดรหัสลับ อัฉจริยะพลิกโลก

  • 29 January 2015
  • Adventure / ชีวิต / ระทึกขวัญ /
  • 114 นาที
15+