HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW : The Imitation Game สงครามของชีวิตประจำวัน

  • 13,889
  • 27 ม.ค. 2015

The Imitation Game
สงครามของชีวิตประจำวัน

โดย There is a Light That Never Goes Out

 

*** บทวิจารณ์นี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ***

 

จากตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game หลายคนที่ได้ดูอาจคิดว่า นี่มันหนังสงครามประเภทตัวร้ายเป็นนาซีพระเอกเป็นฮีโร่อีกแล้วหรอ ไม่เบื่อกันบ้างหรือยังไง จะทำให้ซ้ำทางเรื่องที่มีอยู่แล้วทำไม คัมเบอร์แบทช์จะเล่นได้หรอ (ขอบอกไว้ ณ ที่นี้ว่าเขานี่แหละคือสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง!) ฯลฯ แต่เดี๋ยว อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังสงคราม ตัวร้ายไม่ใช่นาซีหรือฮิตเลอร์ แล้วสุดยอดนักคณิตศาสตร์นาม "อลัน ทูริ่ง" ก็ห่างไกลจากคำว่าวีรบุรุษหลายล้านปีแสง ...อย่างน้อยเขาก็มองตัวเองอย่างนั้น
 

 

หนังเรื่องนี้ว่าด้วย ชีวิตที่ "แปลกแยก" ของ อลัน ทูริ่ง (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์) ผู้คิดค้นเครื่องจักรสำหรับถอดรหัส "เครื่องเข้ารหัสอีนิกม่า" ของเยอรมัน (เจ้าเครื่องจักรตัวนี้นี่แหละที่ในเวลาถัดมาเหล่านักเรียนคอมพิวเตอร์ทั่วโลกรู้จักกันดีในนาม Turing's Machine หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน) โดยตัดสลับกันระหว่างสองช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของเขา นั่นคืออลันในช่วงวัยรุ่นตอนต้นระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนชายล้วน กับช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่เขาในฐานะอาจารย์คณิตศาสตร์ที่เคมบริดจ์ได้ถูกชักชวนมาอยู่ในทีม "ปฏิบัติการลับ" ของกองทัพอังกฤษ ณ สถานีวิทยุเบรทช์ลีย์ ในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของอังกฤษ

 

- น้ำเสียงแหบแห้งแบบติดอ่างเล็กน้อย
แต่เปี่ยมไปด้วยความมั่นอกมั่นใจของคัมเบอร์แบทช์
นี่แหละคือพระเอกของเรื่อง -

 

ใครที่ชอบหนังที่มีการเล่าเรื่องตามสูตรสำเร็จ (ที่ดี) คงจะเพลิดเพลินกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เพราะหนังตัดต่อแบบมีจังหวะจะโคน ใช้ดนตรีประกอบที่ชวนตื่นเต้นและหลอกหลอน (โดยตัวพ่ออย่าง อเล็กซองเดร เดสปลาต์) เดินเรื่องสนุกและต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิคแบบซีรีส์สืบสวน หนังมีกระทั่งฉากสอบสวนสองต่อสองในห้องกระจก และใช้บทพูดเดี่ยวของอลันในฉากนั้นเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะน้ำเสียงแหบแห้งแบบติดอ่างเล็กน้อย แต่เปี่ยมไปด้วยความมั่นอกมั่นใจของคัมเบอร์แบทช์นี่แหละคือพระเอกของเรื่อง! และที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้ไม่วางท่าเป็นหนังอาร์ตดูยากเหมือนในตัวอย่าง อยากบอกอะไรก็บอก อยากพูดอะไรก็พูด ทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังและตัวละครได้ไม่ยาก ตรงกับความต้องการของผู้กำกับที่อยากให้เราเข้าใจเบื้องลึกของตัวละครตัวนี้ทั้งในแง่ของการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่ลึกลับพอๆ กับเครื่องอีนิกม่าที่เขาต้องทำทุกทางเพื่อที่จะเอาชนะมันให้ได้

 

 

หนังพุ่งประเด็นไปที่ตัวตนอันซับซ้อนของ อลัน ทูริ่ง นักคณิตศาสตร์ผู้กล้าประกาศกร้าวต่อหน้านายทหารชั้นผู้ใหญ่ว่าตัวเองคือนักคณิตศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก แถมยังใจกล้าหน้าด้านส่งจดหมายหา ท่านเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้น เพื่อขออำนาจการคุมทีมลับในการถอดรหัสเครื่องอีนิกม่า และเมื่อได้อำนาจแล้วก็ไล่คนในทีมออกสองคนทันทีแบบไม่รู้สึกอะไร ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความทะเยอทะยานอย่างสุดโต่งของเขาที่ส่อแววมาตั้งแต่เด็ก เด็กชายอลันเก่งกว่าเพื่อนๆ ในชั้น สนใจศาสตร์การถอดรหัสมาตั้งแต่เด็ก มองว่าเพื่อนร่วมชั้นนั้นโง่กว่าตัวเอง แถมยังเป็นเหยื่อของพวกขี้แกล้ง การที่อลันเติบโตมาในสังคมชายเป็นใหญ่ในขณะนั้นทำให้เขาเก็บกดมาตั้งแต่เด็กจนโต เขารู้สึกว่าความคิดที่ตัวเองเก็บซ่อนไว้นั้นจะทำให้คนอื่นต้องหวาดกลัวเขา เขารู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนแปลก และคนแปลกแบบเขาจะไม่มีทางได้รับการยอมรับจากสังคม

 

- อลันรู้สึกว่าความคิดที่เขาเก็บซ่อนไว้นั้นจะทำให้คนอื่นต้องหวาดกลัวเขา
เขารู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนแปลก
และคนแปลกแบบเขาจะไม่มีทางได้รับการยอมรับจากสังคม -

 

ปัญหาใหญ่อยู่ที่อลันมีความฝัน แต่ความฝันนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะทำคนเดียว เขาจึงต้องการความร่วมมือจากคนรอบข้างที่เขาไม่พร้อมจะสื่อสารด้วย ครึ่งแรกของหนังเต็มไปด้วยความขัดแย้งในจิตใจของอลันที่ต้องเลือกระหว่างการไม่สุงสิงกับใครอย่างที่เขาเป็นมาตลอด หรือการยอมเข้าหาคนอื่นในทีมบ้างเพื่อแลกกับความเชื่อใจและไว้ใจในเนื้องาน คนที่ทำให้อลันยอมเลือกอย่างหลังคือหญิงสาวนาม "โจน คลาร์ก" (เคียร่า ไนท์ลีย์) ที่ผ่านการทดสอบเพื่อเข้าร่วมทีม เขาและโจนมีความรู้สึกที่ดีต่อกันเป็นพิเศษจนอลันขอเธอแต่งงาน แต่เรื่องจริงนั้นยากแสนยาก เพราะอลันมีเรื่องที่เขาปิดบังอยู่ นั่นคือ "เขาเป็นเกย์"

 


 

นี่แหละคือหลักใหญ่ใจความที่ทำให้ "หนังที่มีพื้นหลังเป็นสงคราม" เรื่องนี้แตกต่างอย่างยิ่งกับหนังเรื่องอื่นๆ ในท้องตลาด เพราะไม่ได้เล่าเรื่องคนที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามอย่างฮิตเลอร์ใน Downfall, ทหารที่ได้เรียนรู้ความสำคัญของพวกพ้องในกองทัพอย่าง Saving Private Ryan หรือล่าสุดอย่าง American Sniper, คนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจโดยตรงจากสงครามอย่างพลทหารใน The Thin Red Line หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากอดีตอันเลวร้ายอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวใน The Reader, The Railway Man, Everything is Illuminated และล่าสุดใน Ida (หนังโปแลนด์ที่เข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของปีนี้) แต่หนังเรื่องนี้เลือกเล่าเรื่องของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมและไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากสงครามครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่เชื่อมโยงเขากับสงครามโลกมีแค่การที่เขาเกิดและมีชีวิตอยู่ในช่วงนี้เท่านั้น เครื่องถอดรหัสอีนิกม่าของเขาจะทำให้คนตายไปกี่คนหรือช่วยชีวิตคนได้กี่คนเขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจแค่ว่าเขาทำงานสำเร็จไหม และเครื่องถอดรหัสที่เขารักนักรักหนาทำงานได้ไหม (เขาตั้งชื่อเจ้าเครื่องนี้ว่า "คริสโตเฟอร์" ตามชื่อเพื่อนสนิทที่เขารักในตอนเด็ก และแสดงอาการเสียสติสุดขีดคลั่งเมื่อมีคนจะมายุ่งย่ามหรือทำลาย "คริสโตเฟอร์" ของเขา การแสดงของคัมเบอร์แบทช์ในฉากเหล่านี้ดีงามและสะเทือนใจมาก เพราะเขามองเจ้าเครื่องนี้เป็นตัวแทนเพื่อนรักและความรักครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตเขา) เขาไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นฝ่ายไหน หรือใครจะเป็นสายลับให้ใคร (อลันถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับสองหน้าให้พวกรัสเซียด้วย แต่เขาก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะค้นหาความจริง) ในบทหนังมีกระทั่งฉากที่คัมเบอร์แบทช์บอกกุญแจสำคัญของหนังมาโต้งๆ เลยว่า "เราไม่ได้แข่งกับนาซี แต่เราแข่งกับเวลา" เหมือนจะบอกว่าสงครามไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเขาเลยจริงๆ

 

 

สรุปกันให้เห็นภาพคือ ประเด็นหลักในชีวิตเขามีแค่สองอย่าง หนึ่งคือการงานและความฝัน สองคือการที่เขาเป็นคนรักเพศเดียวกัน ทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้เกี่ยวพันกับสงครามเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นปัญหาที่เกิดใน "ชีวิตประจำวัน" อยู่แล้วสำหรับ "คนแปลก" อย่างเขา ชีวิตประจำวันในสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่มีที่ว่างให้คนที่พวกเขามองว่า "แปลก" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้แปลกแยก แต่แค่ "แตกต่าง" หรือ "คิดต่าง" อย่างอลันที่คิดไม่เหมือนใคร ไม่ได้ชอบผู้หญิง และกล้าท้าทายความอนุรักษ์นิยมล้าหลัง (จนต้องได้รับจุดจบอย่างที่เห็นในหนังเพราะไม่สามารถประนีประนอมกับสังคมแบบนี้ได้) หรือโจนที่กล้าเดินเข้าห้องทดสอบในตอนแรก กล้ายืนหยัดในความสามารถของตัวเอง และกล้าทิ้งครอบครัวเพื่อย้ายมาอยู่ในเบรทช์ลีย์ท่ามกลางชายหนุ่มและนายทหารเป็นร้อยๆ (ถึงแม้ในตอนท้ายเธอจะยอมแพ้เพื่อแลกกับการใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้ต่อไป) หรือกระทั่งเครื่องคริสโตเฟอร์เองที่ในตอนแรกไม่เคยได้รับการยอมรับจากพวกคนหัวเก่าในกองทัพ แถมยังโดนดูถูกอีกต่างหากว่าเป็นแค่เครื่องจักรโกโรโกโสที่ใช้การไม่ได้ (แต่ใครกันจะกล้าปฏิเสธความฉลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคศตวรรษที่ 21)
 

- ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่มีที่ว่างให้คนที่พวกเขามองว่า "แปลก"
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาแค่ "แตกต่าง" หรือ "คิดต่าง" -

 

แต่ถึงสงครามโลกจะไม่ได้มีผลต่อจิตใจของเขา แต่เขากลับถูกชีวิตประจำวัน (ในสังคมแบบนี้) กัดกินหัวใจของตนจนผุกร่อนยากจะไถ่ถอน ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนสมัยไหน คนแบบอลันยังคงต้องต่อสู้กับความแปลกแยกอยู่ตลอดเวลา จะรอดหรือไม่ต้องดูกันไปแบบวันต่อวัน มันคือสงครามในจิตใจที่ไม่เคยพักรบ มีแต่จะปะทุคุคั่งขึ้นไปเรื่อยๆ ว่ากันอย่างง่าย หนังคงกำลังบอกเราว่า ในขณะที่โลกของคนส่วนใหญ่แตกสลายเพราะสงครามโลก โลกของบางคนกลับแตกสลายได้เพียงเพราะสงครามที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง

ถอดรหัสลับ อัฉจริยะพลิกโลก

  • 29 January 2015
  • Adventure / ชีวิต / ระทึกขวัญ /
  • 114 นาที
15+