HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW : The Big Short แฉกลโกงการเงิน ที่ผู้แพ้คือประชาชน

  • 17,103
  • 13 ม.ค. 2016

The Big Short
แฉกลโกงการเงินที่ผู้แพ้คือประชาชน
BY FEEDMYBRAIN

 

 

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีช่องโหว่ ไม่เว้นแม้แต่ระบบเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่ล้มพังครืนไม่เป็นท่าในปี 2550 เพราะช่องโหว่ที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “มาตรฐานอันตกต่ำ” ของบรรดานักการเงิน และ “การฉกฉวยโอกาส” ที่จะทำให้ตนกลายเป็น “ผู้ชนะ” หรือผู้ที่ได้กำไรมากที่สุดในสมรภูมิรบทางการเงิน ขณะที่บรรดานายธนาคารและสถาบันการเงินกำลังพาประชาชนทั้งประเทศเดินหน้าสู่เหวลึกทางเศรษฐกิจอย่างไม่รู้ตัว กลับมีคน 4 กลุ่มที่ล่วงรู้ถึงเส้นทางอันตรายนั้น และถอยหลังพร้อมมองเห็นถึง “โอกาสทางการเงิน” ในทางกลับกันที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้ชนะในสมรภูมิรบนี้อย่างแท้จริง!

The Big Short … เกมฉวยโอกาสรวย สร้างจากหนังสือขายดีของ ไมเคิล ลูอิส ว่าด้วย “วิกฤตซับไพรม์” ฝันร้ายทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2550 หรือที่บ้านเรารู้จักกันในนาม “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลระดับโลกโดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความซบเซาของ “ตลาดที่อยู่อาศัย” ของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้หุ้นตกร่วงระนาว และทำให้บรรดาธนาคารและนักลงทุนต่างสูญสิ้นเงินจำนวนมหาศาล ทว่า ดร. ไมเคิล เบอร์รี่ (คริสเตียน เบล) นักลงทุนมือดีและอดีตนักประสาทวิทยา กลับมองเห็นถึงเหตุการณ์นี้และเตรียมตัวสำหรับการพังทลายของตลาดนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว และจากทฤษฎีของเขายังทำให้ จาเร็ต เวนเน็ตต์ (ไรอัน กอสลิ่ง), มาร์ค บอม (สตีฟ คาเรลล์) พร้อมเพื่อนร่วมงานได้ค้นพบถึงสิ่งร้ายที่สุดของการมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือ “ความฟอนเฟะ” ของระบบการเงินที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของโลกนั่นเอง

 

 

“ถ้าโลกล่มสลาย เราก็แค่ตาย
แต่ถ้าการเงินล่มสลาย โชคร้ายที่เรายังต้องอยู่”

 

The Big Short เป็นผลงานการกำกับของ อดัม แม็คเคย์ มือเขียนบทสายหนังตลกอย่าง Ant-Man และ Step Brothers ที่หันมาเพิ่มความดราม่าใส่หนังของตัวเองด้วยการหยิบประเด็นเข้มข้นทางการเงินสุดๆอย่าง “วิกฤตซับไพรม์” ปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงระดับโลกมาเล่าได้อย่างสนุกและตื่นตะลึงมาก แม็คเคย์ยังคงคอนเซ็ปต์ของการรวยอารมณ์ขันในเรื่องเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ในขณะที่เขาก็เปิดฉากชำแหละระบบเศรษญกิจการเงินของอเมริกาอย่างไม่ไว้หน้าและลึกซึ้งถึงรูขุมขน แม้ว่าเรื่องที่หยิบมาเล่านั้น อาจไม่ใช่ของโปรดของใครหลายคน แต่แม็คเคย์ก็สามารถทำให้ “ของที่ยากจะกลืน” กลายเป็น “อาหารเลิศรสที่เคี้ยวง่าย” และเปี่ยมด้วยรสชาติที่จัดจ้าน แถมหน้าตายังดูดีน่ากินอีกต่างหากด้วย

 

 

แม็คเคย์อัดความมันส์ด้วยฉากตัดสลับที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
พร้อมตีแผ่ความเน่าเฟะของระบบอย่างไม่เกรงกลัว

 

หนังเปิดฉากด้วยการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา จากการทำงานเช้าชามเย็นชามของพนักงานกลายเป็นการทำงานที่แข่งขันและกระตุ้นให้สร้างรายได้มหาศาลเข้าสู่สถาบันการเงิน ซึ่งมาพร้อมกับตลาดและการลงทุนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเพื่อกู้ยืมเงินไปซื้อบ้านจำวนมากขึ้นด้วย มาถึงตรงนี้ คนดูหลายคนที่ไม่สันทัดกับเรื่องนี้ (เราเป็นหนึ่งในนั้น) อาจจะเริ่มมึนงงกับปัญหาและศัพท์ทางการเงินได้ ทว่าThe Big Short นั้นเตรียมเทคนิคในการเล่าเรื่องที่สลับซับซ้อนพวกนี้เอาไว้แล้ว โดยหนังหยิบจับนักแสดงดังๆอย่าง มาร์โก้ ร็อบบีย์ (The Wolf of Wallstreet) หรือ เซเลน่า โกเมซ นักร้องชื่อดังมาเป็น “คนสาธิตและอธิบาย” ด้วยฉากที่กลายเป็นมุกตลกร้าย จิกกัด แถมเบรคเนื้อหาที่กำลังตึงเครียดได้อย่างลงตัว ซึ่งผลที่ได้นอกจากจะฮาสุดๆแล้วยังทำให้เราเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนั้น The Big Short ยังเล่าเรื่องที่แสนยากพวกนี้ให้ง่ายด้วยการอาศัยเทคนิคการตัดสลับที่รวดเร็ว แต่ให้ผลกับอารมณ์ที่มันส์ขึ้นเป็นลำดับอย่างมาก หนังยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นด้วยการตัดสลับและเพลงที่เป็นมุกตลกร้ายสุดๆ ในทุกขณะที่ตัวละครเข้าใกล้สิ่งที่ธนาคารพยายาม “ปกปิด” และขายสิ่งจอมปลอมที่ถูกเคลือบด้วยภาษายากๆที่ฟังดูหรูให้กับประชาชนด้วย ซึ่งเทคนิคการตัดสลับเหล่านี้ยังแฝงด้วยความหมายของการเพิ่มอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายอย่างที่ทุกคนไม่ทันตั้งตัว และนั่นแหละคือสิ่งที่ “วิกฤตซับไพรม์” เป็น

 

 

บอกเลยว่า The Big Short จะไม่มีวันมันส์ได้ขนาดนี้ถ้าหากขาดนักแสดงนำสี่คนที่เชือดเฉือนบทบาทกันอย่างทุ่มสุดตัว ตั้งแต่ คริสเตียน เบล ผู้รับบท ดร.ไมเคิล เบอร์รี่ ที่สามารถถ่ายทอดตัวละครได้อย่างสมจริง ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่เราไม่เชื่อว่านี่คือ “ไมเคิล เบอร์รี่” เลย ทุกคำพูด ทุกการเคลื่อนไหวที่ คริสเตียน เบล ส่งออกมามันเรียลมาก แม้กระทั่งใบหน้าและตาที่ผิดปกติของตัวละครที่บ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกก็ยังทำได้ดีจนน่าขนลุกทีเดียว และอีกคนหนึ่งที่สามารถดึงความสนใจของคนดูได้อยู่หมัดก็คือ สตีฟ คาเรลล์ นักแสดงสายตลกที่เพิ่มความดราม่ามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นั้น แม้ด้วยนิสัยของตัวละครจะไม่ใช่คนตลก แต่ก็ไม่วายที่ สตีฟ คาเรลล์ จะส่งอารมณ์ขันมาสู่คนดูในท่วงท่าและลีลาที่เปี่ยมด้วยมุกตลกร้ายนั่นเอง

แม้ไรอัน กอสลิ่ง (รับบท จาเร็ต เวนเน็ตต์) และ แบรด พิตต์ (รับบท เบน ริคเคิร์ต) จะไม่ได้มีบทบาทมากเหมือนกันสองคนแรก แต่ทุกครั้งที่พวกเขาโผล่มา แน่นอนว่าสายตาคนดูจับจ้องไปที่พวกเขาไม่วางตาเสมอ และพวกเขาก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังในการตีแผ่ “ความโลภ” และ “ความไร้จรรยาบรรณ” ที่มีในตัวคนที่ร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจอันเน่าเฟะของประเทศในครั้งนี้นั่นเอง

 

 

หากจะหาผู้ชนะจากเหตุการณ์นี้คงยาก
แต่ถ้าหาผู้แพ้แน่นอนว่าคือ ประชาชน

 

แม้ The Big Short จะโฟกัสหลักไปยังคน 4 กลุ่มที่กำลังฉกฉวยโอกาสทางการเงิน ไต่ขึ้นเป็น “ผู้ชนะ” ในสงครามเกมตลาดหุ้นและวิกฤตซับไพรม์ครั้งนี้ แต่หนังก็ยังไม่ลืมที่จะเน้นย้ำถึงผลกระทบมหาศาลที่ทำเอาชีวิตของประชาชนในประเทศพังไปอย่างยากที่จะกลับมายืนได้ใหม่ พร้อมกับกลโกงทางการเงินต่างๆที่ทางสถาบันการเงินต่างปกปิดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดด้วย ถ้าจะบอกว่าใครคือผู้ชนะ คงยากที่จะประเมินและป่าวประกาศออกมาอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากถามว่าใครเป็นผู้แพ้ เชื่อว่าคนดูทุกคนสามารถตอบเป็นเสียงเดียวกันได้อย่างแข็งขันเลยว่า “ประชาชนคือผู้ที่พ่ายแพ้จากสงครามครั้งนี้” อย่างแน่นอน  

The Big Short ... เกมฉวยโอกาสรวย ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์