HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW : Still Alice เมื่อหนังสั่นสะเทือนหัวใจ

  • 9,988
  • 12 ก.พ. 2015

Still Alice เมื่อหนังสั่นสะเทือนหัวใจ

โดย There is a Light That Never Goes Out

 

Still Alice น่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับหัวใจของผู้ชมได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะการแสดงขั้นที่เรียกได้ว่างดงามที่สุดในชีวิตของนักแสดงหญิงตัวแม่นาม จูลีแอนน์ มัวร์ แต่เป็นเพราะความมหัศจรรย์ของหนังเองด้วย หนังเรื่องนี้ได้สร้างหลายห้วงเวลาพิเศษขึ้นมาโดยปราศจากความโฉ่งฉ่าง การตะโกนโหวกเหวกโวยวาย หรือการร้องไห้ฟูมฟาย การเล่าเรื่องของหนังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ไม่ได้อิงปรัชญาความรักโรแมนติกแบบไม่มีเงื่อนไข แต่พูดถึงความรักในแบบที่มันเป็น อาจพูดได้ว่านี่คือหนังที่เปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

 

 

จูลีแอนน์ มัวร์ คือสิ่งที่ดีที่สุดในหนังอย่างปราศจากข้อสงสัย การแสดงของเธอลึกซึ้งและละเอียดอ่อนอย่างที่เป็นมาตลอด และยิ่งละเอียดอ่อนมากขึ้นในเรื่องนี้ ด้วยบทและพล็อตที่ส่งให้เธอได้ปล่อยพลังทำลายล้างอย่างเต็มที่จนเราน้ำตาซึม เธอทุ่มสุดตัวกับบท ดร. อลิซ ฮาวแลนด์ ศาสตราจารย์แขนงวิชาภาษาศาสตร์วัย 50 ปี ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค เธอมีงานเขียนและหนังสือวิชาการที่ตีพิมพ์แล้วมากมาย และยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรยังมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่เนืองๆ เธอมีครอบครัวที่อบอุ่นอันประกอบด้วย จอห์น (อเล็ค บัลด์วิน) สามีนักวิชาการสายวิทยาศาสตร์ที่น่ารักเป็นกันเอง, แอนนา (เคท บอสวอร์ธ) ลูกสาวคนโตที่เป็นนักกฎหมายและกำลังจะตั้งท้อง, ทอม (ฮันเตอร์ แพร์ริช) ลูกชายคนกลางที่กำลังเรียนหมอ และ ลิเดีย (คริสเตน สจ๊วร์ต) ลูกสาวคนเล็กที่ใจฝักใฝ่ทางศิลปะการละครแต่ไม่ยอมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตามที่อลิซแนะนำ แต่ทุกอย่างที่กำลังดำเนินไปอย่างสวยงามตามครรลองได้พังทลายลงด้วยโรคร้ายที่มีชื่อว่า ‘อัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว’

 

 

สิ่งที่ทำให้จูลีแอนน์ที่เล่นดีมากเกินคนอยู่แล้วถูกยกระดับขึ้นไปอีกคือบทที่เล่าผ่านสายตาของอลิซเอง ทำให้เธอมีอิสระที่จะอธิบายและแสดงออกถึงความรู้สึกภายในได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ด้วยบทพูดของเธอแต่ด้วยอารมณ์ความรู้สึกภายในอันอ่อนโยนที่เธอบรรจงปั้นขึ้นมาเพื่อส่งอลิซในแบบของเธอออกมาสื่อสารกับคนดู จูลีแอนน์ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของอลิซตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างสะเทือนใจและน่าประทับใจ เราเห็นความมั่นใจในตัวเองของอลิซที่ค่อยๆ ลดฮวบลงและความอับอายที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังจากอาการของโรคเริ่มแสดงตัว เราเห็นความทรมานของคนเก่งคนหนึ่งที่กำลังจะสูญเสียความสามารถที่ตัวเองสร้างมาตลอดชีวิต และเราเห็นความเป็นมนุษย์ที่กลัวการสูญเสียความทรงจำอันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์และสิ่งของ การแสดงของจูลีแอนน์ในครั้งนี้สั่นสะเทือนยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ควรเอาออสการ์ไปเสียทีหลังจากพลาดมา 3 ครั้งจาก Boogie Nights เมื่อปี 1997, The Hours ปี 2002 และ Far from Heaven ในปีเดียวกัน ถือว่าเป็น Lifetime Achievement ไปด้วยเลยยิ่งดี ยิ่งถ้าดูฉากที่เธอปลุกสามีขึ้นมาฟังเธอพูดเรื่องที่ว่าเธออาจจะเป็นอัลไซเมอร์ และฉากที่เธอเดินหาห้องน้ำที่บ้านริมทะเล ยิ่งชัดเจนว่าเธอสามารถแสดงความเปราะบางของอลิซได้อย่างไม่มีที่ติ จนพูดได้เลยว่าไม่มีใครเหมาะกับรางวัลนี้เท่าเธออีกแล้วในปีนี้

 

 

อันที่จริงตัวละครอลิซนี้คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับตัวละคร ‘สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง’ ในหนังชิงออสการ์อย่าง The Theory of Everything ที่รับบทโดย เอ็ดดี้ เรดเมย์น นั่นคือทั้งสองคือตัวละครประเภทคนเก่งประสบโรค แต่ด้วยความที่ Theory เล่าจากมุมมองของ เจน ฮอว์กิ้ง ผู้เป็นภรรยาในหนังสือที่เธอเขียน หนังเลยไม่ได้โฟกัสที่ความรู้สึกภายในของสตีเฟ่นมากเท่าที่ควร ทำให้หนังห่างเหินออกจากคนดูในระดับหนึ่ง และกลายเป็นแค่หนังรักโรแมนติกดาษๆ ไปเสียอย่างนั้น ทำให้เราอดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ใครกันที่ทรมานกว่าระหว่างสตีเฟ่นที่ความสามารถของสมองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แค่ร่างกายใช้ไม่ได้เหมือนเดิม (ไม่นับว่าในภายหลังเขาได้รถเข็นอัจฉริยะและเครื่องมือต่างๆ มาช่วยเหลืออีก) กับอลิซที่ร่างกายยังใช้การได้ดี (ไม่นับว่าในตอนท้ายที่สุดหลังจากเรื่องจบลงแล้วอลิซอาจจำไม่ได้แม้แต่วิธี การกลืน) แต่ความสามารถของสมองถดถอยลง โดยที่เธอมีสติรู้ตัวตลอดเวลาถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และรู้ดีว่ามันจะแย่ลงเรื่อยๆ หนังทำให้เห็นภาพว่าการที่อลิซเริ่มกลายเป็นผักหลังจากเวลาผ่านไปนั้นเจ็บปวดเพียงใด โดยเฉพาะในฉากเล็กๆ ที่มีพลังงานสูงมาก อย่างฉากที่ลูกสาวทั้งสองทะเลาะกันบนโต๊ะอาหาร และฉากที่เธอบอกสามีว่า “มีคนบอกว่าฉัน ‘เคย’ เป็นอาจารย์ที่ดี” ที่สื่อกลายๆ ว่าตอนนี้เธอไม่ได้เป็นอาจารย์แล้ว และคงไม่มีวันได้กลับไปเป็นอีก

 

 

คริสเตน สจ๊วร์ต เป็นอีกหนึ่งความงดามของหนังเรื่องนี้ การแสดงของเธอในครั้งนี้เลอค่ามากถึงมากที่สุด ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งที่เธอเล่นหนังอินดี้ปี 2010 อย่าง The Runaways ในบท ‘โจน เจ็ตต์’ นักดนตรีสาวสุดเท่เจ้าของเพลง Cherry Bomb ที่เธอแสดงได้อย่างโดดเด่นและดีงามจนกลบรัศมีดาราสาวร่วมรุ่นตัวเด่นในเรื่องเดียวกันอย่าง ดาโกต้า แฟนนิ่ง ไปอย่างไม่น่าเชื่อ ในครั้งนี้คริสเตนไม่ทำให้เราผิดหวังด้วยการแสดงที่ละเอียดอ่อนสุดๆ และการที่เธอไม่ตระหนกที่ต้องเข้าฉากกับนักแสดงรุ่นแม่ตัวท็อปของวงการ เธอเล่นได้อย่างมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติมาก โดยเฉพาะฉากท้ายๆ ที่เธอต้องแสดงอารมณ์ขั้นเทพกับ อเล็ค บัลด์วิน ผู้รับบทเป็นพ่อที่ดูแล้วสั่นสะเทือนมากอย่างคาดไม่ถึง ทั้งในแง่ของการตัดสินใจของตัวละครและการแสดงของคริสเตนเองที่พลังงานสูง สะท้านจอมากจนอเล็คถึงกับจอด เพราะมันแสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้หลับหูหลับตาเชิดชูสถาบันครอบครัว และไม่ได้ผูกติดกับอุดมการณ์ใดๆ แต่หนังพูดเรื่องความเป็นมนุษย์ล้วนๆ พูดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของคนล้วนๆ

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ดีมากๆ ของ Still Alice คือการเลือกทางที่ถูกต้องของผู้กำกับทั้งสอง ได้แก่ ริชาร์ด แกลทเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ นั่น คือหนังเรื่องนี้สามารถเป็นหนังดราม่าน้ำตาแตกสุดขีดความฟูมฟายได้ง่ายๆ เพราะผู้กำกับทั้งสองมาจากสายหนังทีวี และในช่วงครึ่งแรกหนังก็ใช้เทคนิคการถ่ายภาพ การตัดต่อ และเพลงประกอบแบบหนังทีวีอยู่มากพอสมควร แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองก็ไม่ได้เลือกทางนั้นจนจบเรื่อง แต่พยายามตบเรื่องกลับมาอยู่บนความนิ่งสงบ ทำให้หนังดูจริงยิ่งกว่าจริง เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของศิลปะภาพยนตร์ นั่นคือทำให้คนดูดูแล้วสะท้อนใจและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตได้ หนังตั้งคำถามปลายเปิดไว้มากมาย แถมยังเป็นคำถามที่ต่อให้ใกล้ตายก็อาจจะยังตอบไม่ได้ มันเป็นคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของมนุษย์อย่างเช่นว่า หากเราเป็นอลิซหรือคนในครอบครัวของเธอเราจะทำอย่างไร จะตัดสินใจแบบไหน ถ้าให้เลือกระหว่างอัลไซเมอร์กับมะเร็งจะเลือกอะไร ถ้าปราศจากความคิดความทรงจำแล้วเรายังจะเป็นมนุษย์อยู่ไหม อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความฝันกับครอบครัว อะไรเป็นสิ่งที่บอกว่าเรายังมีตัวตนระหว่างสติปัญญา ความรู้สึก หรืออำนาจในการตัดสินใจ (ฉากหนึ่งในหนังพูดถึงประเด็นนี้ไว้ได้เจ็บปวดมากว่าจะเป็นอย่างไรหากอาการของโรคได้ทำให้การตัดสินใจที่จะพยุงความเป็นธรรมให้กับตัวเองของอลิซเป็นโมฆะ) และความรักและความหวังสำคัญแค่ไหน และมันช่วยอะไรได้ไหมเมื่อมาถึงวันที่มืดมิดที่สุด เกือบทุกคำถามที่ว่านี้หนังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับคนดู เว้นแต่คำถามสุดท้ายที่ฉากจบของหนังได้ทิ้งคำใบ้ไว้ให้เราแล้ว

อลิซ....ไม่ลืม

  • 12 February 2015
  • Adventure / ชีวิต /
  • 101 นาที
15+