HIGHLIGHT CONTENT

รีวิว : Rogue One a Star wars story สะใจทุกอณู ภาคแยกเติมเต็มจักรวาลหลัก

  • 26,085
  • 16 ธ.ค. 2016

รีวิว : Rogue One a Star wars story  สะใจทุกอณู 
ภาคแยกเติมเต็มจักรวาลหลัก 

 

 จักรวาลอันกว้างใหญ่กับเรื่องเล่าที่เป็นตำนาน หากยังจำกันได้ เมื่อ 39 ปีที่แล้ว Star Wars  A New Hope ออกฉายสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนหนังในยุค 70s จนอีกหลายภาคต่อมากลายเป็นวัฒนธรรมหลักของโลกภาพยนตร์ ‘จอร์จ ลูคัส’ ทำให้ภาพของสงครามอวกาศในยุคนั้นไม่ใช่แค่จินตนาการอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องของยานอวกาศสู้รบ แต่ Star Wars ยังมีปรัชญา การเมือง สายสัมพันธ์ และตำนานของอัศวินเจได ทำให้มันมีการกล่าวขานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความทรงจำจากยุค 70s ถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน 

 

ถ้าแฟนหนังจำกันได้ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ  Star wars  จะมีโฮโลแกรมไตเติ้ลเล่าเกริ่นเรื่องราว โดยหนึ่งในบรรทัดเริ่มต้นได้กล่าวถึง กลุ่มต่อต้านที่เข้าไปขโมยแปลนดาวมรณะ อาวุธอันทรงพลังของฝ่ายจักรวรรดิ ก่อนที่จะตัดเข้าสู่เรื่องราวใน  A New Hope  ทำให้เราไม่รู้ว่าภารกิจในบรรทัดที่กล่าวถึงนั้นเป็นไปยังไง Rogue One a Star wars story จึงกลายเป็นหนังภาคแยกของสตาร์วอร์ส ที่มาเติมเต็มเนื้อเรื่องจุดนั้นให้แน่นมากขึ้น

 

 

Rogue One เล่าเรื่องราวของ จิน เออโซ หญิงสาวผู้พลัดพรากจากครอบครัว หลังจากพ่อของเธอถูกฝ่ายจักรวรรดิจับตัวไปเพื่อพัฒนาอาวุธอันทรงพลัง ‘เดธสตาร์’ ที่สามารถทำลายล้างดาวทั้งดวง หลังจากนั้นเมื่อจิน เติบโตขึ้นเธอได้รับข้อความจากพ่อ ถึงแผนการบางอย่างที่จะสามารถหยุดยั้งการทำลายล้างของเดธสตาร์ได้และเธอมีหน้าที่จะสานต่อให้สำเร็จ โดยมีกองกบฎ และ เพื่อนอุดมการณ์เข้าร่วมภารกิจนี้ 

 

Rogue One มีการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากหนังสตาร์วอร์สหลัก คือไม่มีอัศวินเจได ไม่มีพลังด้านมืด ด้านสว่าง แต่ยังคงธีมอวกาศด้วยรูปแบบยานรบ กองกำลังสตรอมทรูปเปอร์  ตัวละครที่มีส่วนเชื่อมกับจักรวาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจักรวรรดิ หรือการกลับมาของดาร์ธเวเดอร์ และการเปิดเส้นเรื่องใหม่ที่เหมือนถูกแยกออกมาจากจักรวาลหนังหลัก คือ จิน เออโซ ตัวละครนำที่ไม่เคยปรากฎในภาคไหนมาก่อน เธอไม่ได้นำพาปริศนามาแบบ เรย์ ใน Star Wars 7 จุดกำเนิดของเธอชัดเจน ทำให้เราไม่ต้องครุ่นคิดว่า ตัวละครนำนี้มีปูมหลังหรือมีปริศนาอะไรซ่อนอยู่ ตรงนี้เองทำให้เราเดินทางไปกับตัวละครได้แบบสนุกโดยไม่ต้องคิดมาก ปล่อยความมันส์ไปกับมันอย่างเดียว 

 

 

เทคนิคของ Rogue One แม้จะเป็นหนังใหม่ที่สร้างในยุค CG เฟื่องฟู แต่อย่าลืมว่าหนังเดิมนั้นมีกลิ่นอายของความเป็นหนังสงครามอวกาศยุค 70s ค่อนข้างสูง การจะสร้างมันออกมาให้แนบเนียนกับความรู้สึกว่ามันอยู่ในยุคสมัยเดียวกันจึงเป็นจุดที่ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่ง โร้ควัน ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ด้วยการทำสีภาพให้เป็นโทนเดียวกันกับหนังสตาร์วอร์ส 1977 ภาพหลายมุมที่เคยถูกนำเสนอแบบสตาร์วอร์ส ถูกนำมาใช้อีกครั้ง รวมถึงการใช้ดนตรีประกอบที่คงธีมหลักไว้บางส่วนและแตกทำนองออกทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจในการพยายามเชื่อมความรู้สึกคนดูระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่เข้าด้วยกัน ไม่ให้อารมณ์เบื่อกับความจำเจของจักรวาลหลักมากเกินไป 

 

 

จุดไคลแม็กซ์ของ Rogue One a Star wars story คือพาร์ทครึ่งหลังที่เริ่มเข้าสู่บทแอ็คชั่นสนั่นจักรวาลอย่างจริงจัง การใส่เต็มของเอฟเฟ็กต์ ดนตรีประกอบ ตัวละครที่เริ่มพาเราดำเนินไปสู่ความลุ้นระทึกในทุกนาที ทำให้อารมณ์ของคนดูถึงขั้นสุดราวกับระเบิดที่ถูกตั้งไว้ในเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับในช่วงหลังๆหนังฮอลลีวู้ด เราแทบจะไม่เห็นฉากสงครามสะใจแบบนี้มากสักเท่าไหร่ ถือว่าครึ่งหลังของโร้ควันทำหน้าที่จุดนี้ได้ดีมาก ในขณะที่ช่วงแรกจะเน้นการเดินทางเพื่อเสาะหามากกว่าการบู๊ล้างผลาญ สำหรับความสะใจอีกอย่างหนึ่งคือในระบบ IMAX มีเสียงกระหึ่มและขนาดภาพที่ใหญ่มาก ทำให้ได้อารมณ์ความมันส์คูณสองขึ้นไปอีก 

แม้  Rogue One a Star wars story  จะเล่าเรื่องแยกออกมา แต่ส่วนหัวและส่วนท้ายของRogue One สามารถเชื่อมกับรอยของ Star Wars ได้อย่างดีเยี่ยม ถ้าเป็นแฟนสตาร์วอร์สที่เคยดู A New Hope อาจจะต้องร้อง ‘ว้าว’ กับจุดเชื่อมโยงที่ได้เห็น 

 

 

 

สตาร์ วอร์ส อุบัติการณ์แห่งพลัง

  • 17 December 2015
  • Adventure / แอ็คชัน / ผจญภัย / แฟนตาซี / วิทยาศาสตร์ /
  • 136 นาที
15+

ข่าวที่เกี่ยวข้อง