HIGHLIGHT CONTENT

REVIEW : Foxcatcher ปล้ำให้ตายก็เท่านั้น

  • 9,845
  • 21 ม.ค. 2015

Foxcatcher ปล้ำให้ตายก็เท่านั้น
โดย There is a Light That Never Goes Out

 

เมื่ออ่านเรื่องย่อของ Foxcatcher ครั้งแรกหลายคนอาจรู้สึกว่านี่คงเป็นหนังชีวประวัติธรรมดา หรือหนังกีฬาที่มีกันเกร่อ แต่เมื่อเห็นชื่อผู้กำกับแล้วบอกได้เลยว่าไม่มีใครที่ไม่เปลี่ยนความคิด เพราะหนังเรื่องนี้เป็นฝีมือกำกับของ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ ผู้กำกับ Capote และ Moneyball ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนดูหนัง หนังของเบนเน็ตต์ไม่ใช่หนังกีฬาสนุกๆ เปี่ยมแรงบันดาลใจ แต่ตรงกันข้าม เขาขุดลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ที่ทะเยอะทะยานและอยากเอาชนะ ซึ่งจริงๆ แล้วเราทุกคนต่างก็มีมุมมืดแบบนั้นอยู่ในตัว

 

 

Foxcatcher เป็นตัวอย่างสงครามจิตวิทยาในรูปแบบภาพยนตร์ แต่หนังไม่ได้เน้นแค่บทภาพยนตร์ การขุดลงไปในจิตใจตัวละคร หรือทักษะการกำกับที่เลิศล้ำเท่านั้น แต่ในแง่ของความเป็นภาพยนตร์ก็เรียกได้ว่าหนัง "เนี้ยบมาก" และ "ละเอียดมาก" ดูแล้วรู้ทันทีว่าคิดมาเยอะ ชัดเจนมากทุกทิศทางที่หนังดำเนินไปว่า ผู้กำกับได้เลือกวิธีการมาดีแล้ว ที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือทักษะการแสดงของนักแสดงนำทั้งสามคนที่ถือว่าเทพมาก เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตของทั้งสามคนเลยทีเดียว

 

- หนัง "เนี้ยบมาก" และ "ละเอียดมาก" ดูแล้วรู้ทันทีว่าคิดมาเยอะ
ชัดเจนมากทุกทิศทางที่หนังดำเนินไป -

 

หนังเล่าเรื่องราวหลังจากผ่านจุดสูงสุดในชีวิตของนักกีฬามวยปล้ำพี่น้องสองคนที่สอยเหรียญทองโอลิมปิกปี 1984 มาได้ทั้งคู่ มาร์ค ชูลท์ส คนน้อง รับบทโดย แชนนิ่ง เททัม นักแสดงหนุ่มกล้ามโตที่ขุนหุ่นให้แน่นขึ้นอีก และ เดฟ ชูลท์ส คนพี่ รับบทโดย มาร์ค รัฟฟาโล นักแสดงหนุ่มสุดเซอร์ที่ขุนตัวเองจนบวมบานแทบจะจำกันไม่ได้ ทั้งสองคนกำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกปี 1988 ในฐานะตัวแทนสหรัฐอเมริกา เดฟได้รับการทาบทามไปเป็นโค้ชที่เมืองอื่น ในขณะที่มาร์คได้รับการทาบทามจาก จอห์น อี. ดูปองท์ ที่รับบทโดยนักแสดงตลกชื่อดัง สตีฟ คาเรลล์ มหาเศรษฐีจากตระกูลผู้ดีเก่าที่ผันตัวเองจากนักปักษีวิทยามาเป็นโค้ชมวยปล้ำ ดูปองท์ตั้งชื่อทีมมวยปล้ำตามชื่อคอกม้าของครอบครัวว่า Foxcatcher โดยหวังใจว่าจะพาทีมไปชิงเหรียญทองในโอลิมปิกที่ 1988 ที่โซลให้จงได้ มาร์คย้ายมาอยู่ในอาณาจักรของดูปองท์ผู้หลงตัวเองและชื่นชมเขาในฐานะพ่อทูนหัวผู้มีพระคุณ (ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าคำบรรยายภาษาไทยในบางตอนอาจทำให้มาร์คดูนอบน้อมกับดูปองท์มากกว่าที่ควรจะเป็น) เขาพยายามทำให้ดูปองท์พอใจและภูมิใจในตัวเขา จนในท้ายที่สุดความพยายามนั้นได้กลับมาทำลายตัวเขาเอง

 

 

สิ่งที่ดีมากๆ ของหนังมีอยู่สองประเด็น นั่นคือ บทภาพยนตร์ที่ลึกซึ้งและไม่ประนีประนอมอะไรกับใครทั้งนั้น และการแสดงที่ทุ่มทั้งตัวและหัวใจของนักแสดงทั้งสาม ได้แก่ สตีฟ คาเรลล์แชนนิ่ง เททัม และ มาร์ค รัฟฟาโล หากจะว่ากันละเอียดๆ เกี่ยวกับบทภาพยนตร์ดั้งเดิมชิ้นนี้ ในฐานะคนดูหนังผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนต้องรู้สึกได้ถึงความโหดและเฉียบขาดของบทที่นำเสนอสภาวะทางจิตใจของตัวละครทั้งสามได้อย่างถึงแก่น ผู้เขียนบทรู้ว่าจะต้องใช้วิธีการไหนเพื่อหลอกล่อให้นักแสดงขยี้การแสดงที่ดีออกมาได้ ตัวอย่างวิธีการที่ดีคือฉากมวยปล้ำหลายต่อหลายฉากที่เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อที่บิดตัวและส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ถูกบดขยี้โดยร่างกายอีกร่างหนึ่ง และฉากบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ปะทุคุคั่งระหว่างสองตัวละครที่เคร่งเครียดมากๆ หนังเต็มไปด้วยฉากประเภทนี้ที่เอาเข้าจริงก็เป็นทั้งจุดดีและจุดด้อย จุดดีก็คือมันทำให้หนังดราม่าสุดทางอย่างที่ควรจะเป็น แต่จุดด้อยคือมันทำให้หนัง "แข็ง" และ "ขาดชีวิตชีวา"

แต่แน่นอนว่านั่นไม่ได้ทำให้ความเนี้ยบของหนังลดลง ยิ่งบวกกับพลังการแสดงที่เนี้ยบยิ่งกว่าเนี้ยบแล้วยิ่งน่าตื่นเต้น เพราะนักแสดงทั้งสามเหมือนกับว่าถูกเลือกมาเล่นเพื่อชิงออสการ์กันยกแผง เพราะนอกจากจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเองกันแบบยกเครื่องแล้ว ทั้งสามยังมอบการแสดงที่โดดเด่น แข่งกันปล่อยของสุดฤทธิ์แบบไม่มีใครแคร์ใคร ไล่บี้กันแบบแทบจะโยนระเบิดใส่กัน สตีฟ คาเรลล์ ในบท จอห์น ดูปองท์ เซอร์ไพรส์คนดูมากที่สุดเพราะเป็นบทที่เขาไม่เคยได้รับแต่กลับทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เขาสร้างดูปองท์ที่เยือกเย็นและน่าขนลุกจนเราไม่รู้ว่ามนุษย์คนนี้จะปล่อยระเบิดใส่คนอื่นเมื่อไหร่ สตีฟ คาเรลล์ ทำตัวคาดเดาไม่ได้ตลอดเรื่อง โดยเฉพาะสองฉากที่ติดตามากคือฉากที่ดูปองท์คุยกับแม่ของตัวเอง (รับบทโดย วาเนสซ่า เรดเกรฟ) เกี่ยวกับชุดรถไฟ และฉากที่เขาพูดสปีชโชว์แม่ที่นั่งรถเข็นเข้ามาเยี่ยมโรงฝึกมวยปล้ำ ที่เราคาดเดาไม่ได้ว่า เขาจะทำอะไร จะปล่อยของยังไง และจะทำให้เราช็อคได้มากขนาดไหน สองฉากนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นนักแสดงคุณภาพจริงๆ

 

 

ส่วนของ แชนนิ่ง เททัม ผู้เขียนคิดว่าถึงการแสดงของเขาจะดีงามมากเมื่อเทียบกับหนังเพลนๆ ที่เขาเคยเล่นมาตลอดชีวิตการเป็นนักแสดง แต่มันไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไรมากนัก คนที่เซอร์ไพรส์เราได้มากกว่าคือ มาร์ค รัฟฟาโล ที่มอบการแสดงอันละเอียดอ่อนสุดๆ จนทำให้เราขนลุกได้ตลอดเวลา สายตาของรัฟฟาโลกินใจและลึกล้ำมาก วินาทีเดียวส่งคำพูดออกมาได้เป็นล้านคำโดยไม่ต้องพูดอะไรเลย เทียบกับ สตีฟ คาเรลล์ ที่บางฉากต้องพูดเป็นชุดถึงจะสื่อสารได้เต็มที่ ต้องบอกตรงนี้เลยว่า มาร์ค รัฟฟาโล ทำผลงานได้น่าประทับใจกว่าจริงๆ

นอกจากการแสดงแล้วขอย้อนกลับมาที่เรื่องบทอีกเล็กน้อย ซึ่งในประเด็นนี้ควบรวมกับทัศนคติของผู้กำกับด้วยที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเลือกที่จะวิพากษ์สังคม (ทุนนิยม) อเมริกาแบบสุดทาง ทั้งเรื่องของความเป็นชายที่เขาสร้างตัวละครสองแบบมาเปรียบเทียบกัน นั่นคือชายอ่อนแอจนสิ่งที่พวกเขาต้องการมีเพียงความนับถือจากผู้อื่นอย่างดูปองท์และมาร์ค เทียบกับชายที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร และเรื่องของเงินที่ใช้กีฬาแข่งม้ากับมวยปล้ำมาเปรียบเทียบกัน ว่าการ "เลี้ยง" ม้าของแม่ดูปองท์ก็เหมือนการเลี้ยง "นักมวยปล้ำ" ของดูปองท์ ที่เป็นบทพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วดูปองท์ก็ไม่สามารถหลุดจากการควบคุมคนอื่นด้วยเงินได้อยู่ดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือการที่มาร์คชื่นชมดูปองท์ ที่เอาเข้าจริงเราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้าย "เงิน" ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ล่อลวงให้มาร์คในฐานะฮีโร่และสัญลักษณ์ของ "อเมริกา" เข้ามาวนเวียนอยู่ในโลกของ "คนแบบดูปองท์" อยู่ดี

 

 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือ การที่หนังเล่นกับความคลุมเครือและขมุกขมัว ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใครหรืออะไรได้อย่างเต็มที่ เราไม่ได้รู้ลึกถึงก้นบึ้งจิตใจตัวละครขนาดนั้น เรารู้แค่ผิวเผิน แค่สิ่งที่เขาทำและสิ่งที่เขารู้สึก แต่เรามิอาจรู้ได้ "ทั้งหมด" ว่าพวกเขา "คิด" อะไร และนั่นคือเสน่ห์ของการกำกับแบบ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ ในฉากสุดท้ายของหนัง หากเป็นหนังใหญ่ทั่วไปคงนำเสนอแบบโฉ่งฉ่างและบีบคั้นอารมณ์น้ำเน่าหนักกว่านี้ แต่ Foxcatcher เลือกวิธีที่น่าสนใจมากกว่านั้น ทำให้เรามีมุมมองต่อ มาร์ค ชูลท์ส ที่เปลี่ยนไปจากตอนแรกแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และฉากสุดท้ายนี่เองที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของสังคมอเมริกันอย่างที่หนัง 8 เรื่องที่เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ "ทำไม่ได้" และ "ไม่คิดจะทำ"

 

- ฉากสุดท้ายนี่เองที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของสังคมอเมริกัน
อย่างที่หนัง 8 เรื่องที่เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ "ทำไม่ได้" และ "ไม่คิดจะทำ" -

 

นี่เองที่อาจเป็นเหตุผลที่หนังเรื่องนี้ไม่สามารถทะยานผ่านความอนุรักษ์นิยมของเหล่ากรรมการออสการ์ไปได้ จนนักวิจารณ์ต่างชาติหลายสำนักต่างลงความเห็นว่า การที่หนังเรื่องนี้เข้าชิง 5 รางวัล (นำชาย, สมทบชาย, ผู้กำกับ, บทดั้งเดิม และแต่งหน้าทำผม) แต่ไม่เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นหนึ่งใน Oscar Snub (ควรเข้าชิงแต่ไม่เข้า) อันดับต้นๆ ของปีนี้ จนทีมผู้สร้างเองอาจรู้สึกคล้ายๆ กับตัวละครของ มาร์ค ชูลท์ส ว่า สุดท้าย "ปล้ำ (กับกรรมการออสการ์) ให้ตายก็เท่านั้น"

ปล้ำแค่ตาย

  • 08 January 2015
  • Adventure / ชีวิต /
  • 134 นาที
15+