HIGHLIGHT CONTENT

ข้อมูล "จันดารา ปฐมบท" (เข้าฉาย 6 กันยายน 55)

  • 14,112
  • 01 ส.ค. 2012

ข้อมูล "จันดารา ปฐมบท" (เข้าฉาย 6 กันยายน 55)

จากวรรณกรรมเชิงสังวาสสุดล้ำของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” สู่มหากาพย์ภาพยนตร์สุดละเมียดของผู้กำกับมากฝีมือ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล”

โศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร หายนะแห่งกรรมตัณหา สะท้อนใจวิปริตของมนุษย์

ผ่านการพลิกบทบาทสุดเข้มข้นของ มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม, โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ 6 กันยายน 2555 ในโรงภาพยนตร์

กำหนดฉาย 6 กันยายน 2555
แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์
กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
กำกับคิวบู๊ พันนา ฤทธิไกร
กำกับภาพ พนม พรมชาติ
ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ
กำกับศิลป์ นิติ สมิตตะสิงห์
ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ
ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์
แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
ทีมนักแสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม, โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฯลฯ

มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม “จันดารา ปฐมบท”

เรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) เริ่มต้นนับตั้งแต่เขาถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ณ บ้านพิจิตรวานิชในปี พ.ศ. 2458 เขาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความตายของมารดาโดยไม่คาดฝัน นั่นทำให้ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้เป็นบิดาได้ลงโทษทัณฑ์เขาอย่างทารุณราวกับว่าเขาไม่ใช่ลูก พร้อมเรียกขานเขาว่า “ไอ้จัญไร” ที่เรือนเล็กในสวนหลังบ้าน จันเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของ “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ญาติสนิทของมารดาจากเมืองพิจิตร และมี “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) ลูกชายแม่ครัวในบ้านเป็นสหายสนิทเพียงคนเดียวที่จันสามารถเล่าทุกอย่างให้ฟังได้ ต่อมาน้าวาดได้ตกเป็นภรรยาของคุณหลวง และให้กำเนิดลูกสาวสาวชื่อ “คุณแก้ว” หรือ “วิไลเลข” (โช นิชิโนะ) อันเป็นที่รักยิ่งของคุณหลวงซึ่งสอนให้หล่อนเกลียดชังจันตั้งแต่จำความได้ ตัวคุณหลวงเองนั้นก็มักมากในกาม บริวารหญิงแทบทั้งสิ้นในบ้านล้วนตกเป็นเมียลับของเขา ซึ่งเมื่อเขามีอารมณ์ที่จะสังวาสกับหญิงคนใดก็กระทำการอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นเวลาใดหรือมุมใดในบ้านหลังนั้นอย่างเสรี จนทำให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นจัน ดารา, เคน กระทิงทอง หรือคุณแก้วล้วนเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแห่งกามตัณหาอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กคนใดก็ตาม เมื่อจันเติบโตเป็นหนุ่ม เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์แห่ง “กามคุณ” กับบ่าวหญิงในบ้าน โดยการชักนำของเคน กระทิงทอง ก่อนที่จันจะได้พบรักอันบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงร่วมโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำ จนกระทั่งเมื่อคุณหลวงได้พา “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) คนรักเก่าเข้ามาอยู่บ้าน ทำให้จันเกิดความประทับใจในความสง่างามและความอบอุ่นประดุจมารดา ส่วนตัวคุณบุญเลื่องเองก็ประทับใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งดุจศิลปินของจัน จนมีความสัมพันธ์ลับอันเกินเลย และแล้ววันหนึ่ง ชะตากรรมได้พลิกผันทำให้จันล่วงรู้ความจริงบางอย่างอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลของเขา นั่นทำให้จันตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต เพราะคุณหลวงนั้นเป็นมนุษย์ฉ้อฉลผู้ใช้ทุกกลวิธีในการคดโกงเพื่อครอบครองทรัพย์สินอันมหาศาลแห่งตระกูลพิจิตรวานิช ทำให้จันต้องเดินทางหนีภัยจากพระนครไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร เพื่อรอเวลาชำระแค้นและเอาทุกสิ่งทุกอย่างคืนกลับมาเป็นของเขาให้จงได้ โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความชัง ความใคร่ ความเคียดแค้น และการจดจำเอาเยี่ยงอย่างมาสู่การดำเนินชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์อันน่าสมเพชจนนำไปสู่หายนะอย่างแท้จริง

กฎแห่งกรรม...กิเลสแห่งกาม

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’” “เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ” ตัวละครอย่าง “จันดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็น ‘จันดารา’ ก็ต้องตอบว่าในยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้มันเต็มไปด้วยการแสวงหาอำนาจเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัณหาของมนุษย์ อาจจะพูดได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มนุษย์เราเป็นทาสของสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงชีวิตประจำวัน ครอบครัว ระดับประเทศ หรือระดับโลกก็ตาม มันมีผลต่อการกระทำของเราเสมอ อันนี้มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้คิดถึงวรรณกรรม ‘เรื่องของจัน ดารา’ ซึ่งผู้ประพันธ์คือ อุษณา เพลิงธรรม (ครูประมูล อุณหธูป) ได้แฝงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ภายใต้เปลือกของความเป็นอีโรติกของบทประพันธ์นี้ และที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นมันพูดถึงเรื่อง ‘กรรม’ ใครทำอะไรประพฤติอย่างไรก็จะได้ผลกรรมอย่างนั้นซึ่งเป็นแก่นแท้ของบทประพันธ์นี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีวรรณกรรมเรื่องไหนที่สะท้อนภาพชีวิตแม้กระทั่งสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ใกล้เคียงเท่าเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย นี่คือความโดดเด่นของเรื่องจันดารา ที่นอกเหนือไปจากฉากอีโรติกที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อยุคสมัย 2507 ที่ยังไม่เคยมีใครเขียนเรื่องทำนองนี้ ก็เลยเป็นที่ฮือฮากันมากในวรรณกรรมเชิงสังวาส พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเรื่องโป๊ แล้วเราก็จะตื่นเต้นกับบทอัศจรรย์บทสังวาสที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าความเป็นอัจริยะของท่านเนี่ย ได้ซ่อนปรัชญาทางพุทธเอาไว้ แล้วก็ตีแผ่จิตมนุษย์ออกมาในงานวรรณกรรม ซึ่งเราว่ายุคสมัยนี้ใกล้เคียงในเรื่องทีเดียวนะ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ เราว่าในยุคสมัยนี้แหละที่น่าจะได้ชมภาพสะท้อนของตัวเอง ของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเรื่องนี้”

อีโรติกเป็นเรื่องสำคัญแต่มีเรื่องสำคัญกว่า...ที่มิอาจมองข้าม

“จันดารา” เวอร์ชั่นดัดแปลงโดยผู้กำกับมือเอก “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นี้ สะท้อนภาพความวิปริตของมนุษย์แต่ละคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ “สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ความหิวโหยความรัก ความทารุณเหี้ยมเกรียม ตัวอย่างโสมม” ที่ประทับหูประทับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเบ้าหลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง คนที่จะปีนขึ้นจากเบ้าหลอมเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัย “ความแกร่ง” ชนิดพิเศษ และ “กรรมดี” ช่วยสนับสนุนประกอบกัน แต่เผอิญ “จันดารา” ไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เขาจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างน่าสมเพช “ด้วยความอัจริยะของท่านผู้ประพันธ์ที่เปิดช่องให้เราได้ตีความได้มากมาย ไม่ได้ให้เราคิดตามท่านอย่างเดียว แต่เปิดช่องให้เราคิดเองด้วย ดังนั้นในแง่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ก็จะทำได้ง่ายขึ้น เราก็เอาแก่นหรือสาระของเรื่องมาขยายความดัดแปลงให้เหมาะสมในทางภาพยนตร์ จากพรรณนาโวหารที่มีความงามอยู่ในนั้น เราก็เอาความงามทางภาษามาแปลงเป็นความงามทางภาพแทน และความเด่นที่สุดอีกจุดหนึ่งของท่านก็คือ การที่ใช้หลักจิตวิทยาของ ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ มาสร้างตัวละครให้มีชีวิตเหมือนคนจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ‘ปมออดิปุส คอมเพล็กซ์’ (OEDIPUS COMPLEX) เป็นปมที่ท่านเอามาสร้างเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจได้อย่างสมจริงในเรื่องหรือพล็อตที่คนไทยจะสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ มีการหักมุม มีการแย่งชิงอำนาจกัน แย่งทรัพย์สินมรดกกัน และก็มีเรื่องเพศเรื่องเซ็กส์ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัณหาราคะ แต่อธิบายง่ายๆ อย่างผู้ชายจะรักผู้หญิงที่มีอะไรคล้ายๆ แม่ของตัวเอง ผู้หญิงก็จะรักผู้ชายที่คล้ายๆ พ่อของตัวเองตรงนี้มันจะเป็นปมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่ว่าจะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม ซึ่งฟรอยด์ก็พูดเสมอว่า ‘Sex Drive-แรงกระตุ้นทางเพศ’ ก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์ เกิดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เกิดสิ่งยิ่งใหญ่ของโลก การสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ดีขึ้นมา หรือไม่ก็เป็นทางลบไปเลย เป็นฆาตกรบ้ากามไปเลยทำนองนั้น ฉะนั้นเรื่องเพศหรืออีโรติกมันสามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมสองมุมทั้งบวกและลบ ในเรื่องนี้เราจึงไม่สามารถหนีประเด็นนี้ได้เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจของตัวละครทุกตัว แต่ว่านี่แหละมันเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการสร้าง คือว่ามนุษย์เราเนี่ยใช้เรื่องเซ็กส์ได้ในหลายจุดประสงค์ เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนี้ที่ใช้เซ็กส์เพื่อความสนุก ความรัก ความเกลียด การแก้แค้น การต่อรองอำนาจ และด้วยเหตุผลอื่นๆ มากมาย ฉะนั้นฉากอีโรติกในเรื่องนี้มีเยอะทีเดียวและแต่ละฉากจะมีความหมายที่แตกต่างกันและมีเหตุมีผลกับชีวิตมนุษย์จริงๆ ทั้งสิ้น”

งานสร้างสรรค์สุดละเมียด ละเลียดการแสดงสุดเข้มข้น

ขึ้นชื่อในเรื่องของความละเอียดและพิถีพิถันในงานสร้างทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมงานก่อนการถ่ายทำไปจนถึงหลังการถ่ายทำ โดยในครั้งนี้ยังคงระดมทีมงานเบื้องหลังมืออาชีพหลากหลายแขนงมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกนี้อย่างเต็มกำลัง รวมถึงทีมนักแสดงมากความสามารถที่ขึ้นจอประชันบทบาทกันอย่างเข้มข้นในทุกๆ ฉากเลยทีเดียว “คือเรื่องนี้จะยากนิดนึงในแง่ศิลปกรรมทุกไม่ว่าจะเป็นด้านฉาก ด้านการแต่งกาย ด้านการแต่งหน้า เนื่องจากดำเนินเรื่องตั้งแต่จันดาราเกิดตั้งแต่รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2457) จนถึงปัจจุบันเนี่ย เพราะฉะนั้น ในแง่ฉาก เครื่องประกอบฉาก การแต่งกายมันเป็นไปตามยุคสมัย แม้กระทั่งทรงผม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องศึกษาอย่างละเอียดและทำงานกันหนักมาก และเรื่องส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบ้านพิจิตรวานิชก็จะต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไปตามเสื้อผ้าและแบบผม แต่ว่าเราก็ได้โปรดักชั่นดีไซเนอร์มืออาชีพระดับอินเตอร์อย่าง ‘คุณแป๊ะ-พัฒน์ฑริก มีสายญาติ’ ที่เคยร่วมงานกันจากอุโมงค์ผาเมือง ได้ ‘คุณโจ้-อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์’ จากร้าน Surface มาเป็นผู้ดีไซน์เสื้อผ้า และก็ได้ ‘อาจารย์มนตรี วัดละเอียด’ มาควบคุมการแต่งหน้าและทรงผม ทุกคนจะทำงานกันหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งหน้าเนี่ยก็ต้องเปลี่ยนไปตามวัย 4 สมัย 4 รัชกาล ต้องแต่งหน้าให้มาริโอ้และนิวซึ่งยังเด็กๆ ยี่สิบกว่าเองให้เป็นคนอายุเจ็ดสิบกว่า ก็เป็นงานที่หนักที่สุดเท่าที่เคยทำมา และก็มีฉากใหญ่ที่ท้าทายในการถ่ายทำมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ต้องจำลองภาพสมัยยุครัชกาลที่ 7, มีฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีฉากเครื่องบินมาถล่มกรุงเทพฯ และก็มีฉากงานเลี้ยงต่างๆ มากมาย อันนี้ก็ต้องศึกษาเยอะและก็เป็นงานที่ใหญ่มากเกินกว่าที่คิด ทางด้านโลเกชั่นหลัก เราถ่ายอยู่ที่บ้านบ้านสังคหวังตาลของหลวงสิทธิเทพการ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และก็มีบางส่วนที่ไปถ่ายทำที่สระบุรี, กาญจนบุรี และก็ที่กรุงเทพฯ การหาโลเกชั่น Outdoor นั้นยากมาก มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะฉะนั้นการทำงานจะยากตรงที่ว่าตรงไหนที่จะต้องหลบไอ้สิ่งทันสมัยต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วย เพราะว่ามันยากตรงที่แต่ละยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปมากด้วย ส่วนด้านดนตรีประกอบเนี่ย เราก็ได้ ‘คุณชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์’ ซึ่งก็ร่วมงานกันมาเมื่อตอนอุโมงค์ผาเมือง มาทำเพลงประกอบด้วยความอลังการมาก คือเนื่องจากเรื่องดำเนินใน 4 ยุค 4 สมัย ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ของประเทศมากมาย มีการชิงอำนาจกันในบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอำนาจในประเทศจนถึงระดับโลก เพราะฉะนั้นดนตรีประกอบจึงสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาซึ่งมีทั้งความยิ่งใหญ่ ความเจ็บปวด ความรัก ความเศร้า มีการแก้แค้นอยู่ในนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะอันน่าสะเทือนอารมณ์ของมนุษย์ แต่ก็มีฉากที่เป็นสีสันความสนุกของเรื่องอย่างฉากร้องเพลง ‘เมื่อไหร่จะให้พบ’ ในงานเลี้ยง ซึ่งขับร้องโดยหญิง รฐา โพธิ์งามกับศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ซึ่งแต่งคำร้องโดย ‘แก้ว อัจริยะกุล’ และแต่งทำนองโดย ‘หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์’ ซึ่งเป็นเพลงฮิตในยุคนั้นมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย” “ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครที่เดินเรื่องตลอดก็คือตัว ‘จันดารา’ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องชีวิตของเขาเองทั้งหมด โดยในภาพยนตร์ครั้งนี้มีการดัดแปลงให้จัน ดารามีชีวิตยาวขึ้นกว่าในบทประพันธ์ โดยในวรรณกรรมจะเล่าเรื่องถึงอายุ 40 แต่ในหนังเราจะเล่าไปถึงอายุ 80-90 คือจะเล่าตั้งแต่จันดาราเกิดขึ้นบนโลกนี้จนอายุถึง 90 ปี เรื่องก็จะดำเนินผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของเขา ซึ่งก็คล้ายๆ กับอัตชีวประวัติ ถึงเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นมหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม ตัวจันดาราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปิน มีความเป็นศิลปินสูงมาก เป็นคนอ่อนไหวมาก เป็นคนที่สามารถจดจำรายละเอียดของตัวเองและคนอื่นได้เป็นอย่างดี เรื่องส่วนใหญ่จะดำเนินตอนที่เขาอายุ 17 จนถึงเกือบอายุ 40 เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเลือกคนที่มีหน้าตากลางๆ ที่สามารถเล่นเป็นคนอายุ 17 จนถึง 30-40 ได้ การเลือกนักแสดงมันก็ต้องน่าเชื่อ แก่ไปก็เล่นเป็นเด็กไม่ได้ เด็กไปก็เล่นแก่ไม่ได้ ตัว ‘มาริโอ้’ ด้วยวัยเค้าจริงๆ เนี่ยก็จะกลางๆ ที่สุด และด้วยฝีมือทางการแสดงของเขาหลังจากที่ร่วมงานกันมาใน อุโมงค์ผาเมืองเนี่ย เราก็ได้เห็นศักยภาพทางการแสดงและคิดว่ามาริโอ้จะสวมบทบาทเป็นจันดาร ได้อย่างลึกซึ้ง ตอนออดิชั่นให้มาริโอ้แต่งเป็นอะไรเค้าก็จะมีเสน่ห์เป็นคนนั้นซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของนักแสดงมากๆ เค้าก็คงจะเหมาะที่สุดแล้ว คราวนี้เรามองจัน ดาราเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ และข้อสำคัญก็คือ สภาพแวดล้อมรอบข้างนี่แหละที่ทำให้ความบริสุทธิ์ของเขาต้องเปลี่ยนไปกลายเป็นดาร์กขึ้น หม่นขึ้นๆ จนกลายเป็นดำสนิท ด้วยสภาพจิตใจและหน้าตาของเค้าก็ทำให้สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีทีเดียว ส่วนตัวละคร ‘เคน กระทิงทอง’ ซึ่งสร้างขึ้นมาให้ละเอียดขึ้นจากหนังสือเนี่ย เป็นตัวละครที่เติบโตมาพร้อมๆ กับจัน ถ้าจันเป็นสีดำเคนก็เป็นสีขาว ถ้าเคนเป็นสีขาวจันก็เป็นสีดำ เป็นบุคลิกตรงข้ามกันมาก เคนกระทิงทองจะเป็นคนที่แมนๆ แข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่ไม่คิดอะไรมากทั้งสิ้น เอ็นจอยกับชีวิตในทุกวินาทีที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ เป็นคนมองโลกในแง่ความเป็นจริง การที่เลือก ‘นิว ชัยพล’ เพราะเขามีลักษณะภายนอกที่เหมือนเคน กระทิงทองมาก ด้วยรูปร่างหน้าตาและความแข็งแกร่งที่ดูเป็นนักสู้ เป็นนักเลงนิดๆ และมีความทะเล้นอยู่ในตัว ในแง่แอ็คติ้งเนี่ยนิวเรียนกับเรามาตั้งสี่ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเขาสามารถทำความเข้าใจตัวละครได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือนิวกับโอ้เขาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาเล่นด้วยกันเขาจะมีเคมีที่เข้ากันได้ดีมาก มันไม่ใช่แค่เพื่อนอย่างเดียวนะ มันเป็นทั้งนายกับบ่าว มีความซื่อสัตย์ ความไว้ใจซึ่งกันและกัน คู่นี้พอเล่นด้วยกันแล้วดูน่าเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ‘ตั๊ก บงกช’ ก็เลือกจากลักษณะภายนอกเหมือนกัน คือตัว ‘น้าวาด’ เนี่ยสวยแบบนางในวรรณคดี เป็นหญิงไทยโบราณและมีความเป็นแม่สูงด้วยลักษณะภายนอก มีหน้าอกที่ใหญ่ มีไหล่ที่ใหญ่ แล้วมีความอบอุ่น และตั๊กเขามีความสวยอย่างคนไทยมากยิ่งพอใส่สไบแต่งเป็นไทยขึ้นมาก็ตรงกับที่คิดไว้เลย ที่สำคัญเขาต้องเล่นตั้งแต่สาวจนกระทั่งอายุ 40-50 ซึ่งตั๊กก็ทุ่มเทกับการซ้อมมากจนเข้าถึงตัวน้าวาดได้อย่างน่าประทับใจ ส่วน ‘พิ้งกี้’ ต้องเล่นเป็นสองคาแร็คเตอร์ หนึ่งคือ ‘ไฮซินธ์’ บทระบุไปเลยว่าเป็นผู้หญิงมุสลิมและสวยมากก็เลยเห็นว่าพิงกี้เนี้ยเหมาะที่สุดที่จะมารับบทนี้ ก็เลยเชิญมาออดิชั่นและฝีมือการแสดงเขาสูงมากทีเดียวถึงขั้นระดับอินเตอร์ก็ว่าได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าบทไฮซินธ์อย่างเดียวมันจะง่ายไปหรือเปล่าสำหรับเขา ก็เลยเพิ่มบทให้เขาอีกบทนั่นคือบท ‘ดารา’ แม่ของจันที่เสียชีวิตหลังจากคลอดจันออกมา บทของดาราก็เป็นบทที่สำคัญมาก ในนวนิยายพูดไว้ว่า ผู้หญิงสองคนที่จันรักอย่างบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นมันเลยมีความเหมือนกันอยู่ในแง่ของตัวละคร คือเราพยายามคิดว่าทำไมจันดาราถึงรักไฮซินธ์อย่างบริสุทธิ์มันต้องมีความเป็นอะไรเหมือนแม่อยู่ก็เลยให้คนๆ เดียวกันเล่น ซึ่งจริงๆ ก็เป็นคนละคาแร็คเตอร์เลย ซึ่งเขาก็เล่นได้ดีและแตกต่างมาก บท ‘คุณหลวงวิสนันท์เดชา’ เป็นบทที่เหมือนกระจกส่องสะท้อนกับจันดารา ที่ทำให้แม่ต้องตายหลังจากคลอดเขา ก็เลยก่อเกิดความเคียดแค้นที่มาใส่กับตัวเด็ก โดยที่จริงๆ แล้วมันมีเหตุผลที่เป็นปริศนาซ่อนอยู่ เป็นบทที่เล่นค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นบทนี้ต้องใช้คนที่มีฝีมือมาก สำหรับผมคิดว่า ‘เจี๊ยบ ศักราช’ เนี่ย มีบุคลิกภายนอกมีความเป็นผู้ชายไทยเหมือนที่ตั๊ก บงกชมีความเป็นผู้หญิงไทย และประกอบฝีมือการแสดงที่เล่นได้แนบเนียนและลึกซึ้งเหมือนตัวละคร ก็เลยคิดว่าศักราชจะสวมบทบาทนี้ได้ดี ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีมากๆ เลยทีเดียว คาแร็คเตอร์ของ ‘คุณบุญเลื่อง’ ก็จริงๆ แล้วเป็นตัวละครที่เราแคสติ้งไว้หลายคนทีเดียว เพราะเป็นบทที่ถูกตีความใหม่ให้เป็นศิลปินแม่ม่ายชาวภูเก็ตแต่ไปโตที่ประเทศฝรั่งเศสและก็มีสังคมเป็นชาวต่างประเทศ จะเป็นฝรั่งมาก เพราะฉะนั้นบทของคุณบุญเลื่องเลยมีสีสันต่างจากตัวละครผู้หญิงในเรื่องซึ่งเป็นคนไทย คุณบุญเลื่องเวอร์ชั่นนี้จะรักการแต่งตัวมาก จะแฟชั่นจ๋ามาก และก็เป็นศิลปิน เป็นนักดนตรี เป็นนักวาดรูป ร้องเพลงเก่ง เปียโนเก่ง เต้นรำเก่ง มันก็มีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่ต้องเลือกคนที่เหมาะจริงๆ เพราะฉะนั้นในการเลือก ‘หญิง รฐา’ มารับบทนี้ก็จะเหมาะที่สุด และก็ด้วยวัยจริงๆ เขาอายุไม่ค่อยเยอะ แต่ว่าหญิงสามารถ่ายทอดบทบาทของหญิงวัยสี่สิบได้อย่างเหลือเชื่อ บท ‘คุณแก้ว’ เนี่ยพูดได้ว่าเป็นบทที่แรงที่สุดในเรื่องนี้นะครับ คือเธอมีจิตใจที่เปราะบางทีเดียว คือมีปมของการที่แม่ไม่รัก ตัวเองก็รักพ่อมากและก็ได้รับอิทธิพลความคิดความอ่านจากพ่อไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อใส่หัวตั้งแต่เด็กว่าให้เกลียดจันและก็ถ่ายทอดเลือดของพ่อมาเยอะ คือเป็นคนที่เจ้าอำนาจบาตรใหญ่มาก และก็มีความวิปริตทางจิตค่อนข้างสูง เป็นผู้หญิงที่รุนแรงมากทางด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันยากมากสำหรับนักแสดงไทยที่จะถ่ายทอดตรงนี้ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฉากอีโรติกซึ่งค่อนข้างสำคัญมากสำหรับหนังเรื่องนี้ ก็เลยคิดว่านักแสดงไทยคงไม่กล้าเล่นแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจใช้นักแสดงญี่ปุ่น ‘โช นิชิโนะ’ ซึ่งเธอก็รู้สึกว่าเป็นบทที่ยากและท้าทายสำหรับเธอมากที่จะเล่นเป็นคนไทย ซึ่งแต่เดิมเราบอกว่าพูดญี่ปุ่นก็ได้และเดี๋ยวให้คนอื่นมาพากย์ทับ แต่แกกลับบอกว่าแกอยากจะพูดเป็นภาษาไทยแล้วคนที่มาพากย์แทนแกจะได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นคนที่มีสปิริตและทุ่มเทในการซ้อมมากแม้จะเป็นช่วงเวลาที่น้อยนิดที่เราเจอกัน เราก็ขอชื่นชมในสปิริต ซึ่งสามารถพูดได้ว่าเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพระดับสากลจริงๆ คือถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักแสดง AV แต่ว่าบ้านเขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมากและดาราญี่ปุ่นหลายๆ คนก็เกิดจากเอวีทั้งนั้น แต่ว่าโชก็สามารถเล่นได้ทุกอย่างเป็นมือโปรจริงๆ และเขาเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ความเป็นคนไทยอย่างมาก และเราก็โชคดีมากที่ได้ ‘นัท มีเรีย’ ที่ไม่ใช่แค่มาให้เสียงเท่านั้น แต่ต้องถือว่านัทก็เหมือนแสดงเป็นคุณแก้วเลย เข้าใจบทเท่าๆ กับที่โชเข้าใจ ต้องใส่วิญญาณของคุณแก้วเข้าไปในภาพของโช ซึ่งสำหรับนัทเองก็เป็นบทที่ยากสำหรับเขามาก จริงๆ แล้วเหมือนเล่นสองคนนะครับบทนี้ แสดงโดยโช มิชิโนะและนัท มีเรีย ซึ่งนัทก็สามารถถ่ายทอดได้เหมือนราวกับเป็นคนๆ เดียวกัน แต่พูดภาษาไทยได้ชัดกว่าเท่านั้นเอง ส่วนบทของ ‘คุณท้าวพิจิตรรักษา’ แสดงโดย ‘รัดเกล้า อามระดิษ’ ก็จะเป็นบทที่เราได้มีการดัดแปลงขึ้นมา เพราะในบทประพันธ์จะเป็นคุณตา เราคิดว่าน่าจะเป็นผู้หญิงมากกว่าก็เลยดัดแปลงเป็นคุณท้าวยาย ซึ่งเป็นคุณป้าของดารา พิจิตรวานิชแม่ของจัน เป็นผู้อาวุโสมากที่สุดในบ้านพิจิตรวานิช ซึ่งจริงๆแล้วตัวละครตัวนี้แหละเป็นตัวละครที่สร้างปมปัญหาต่างๆ ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งในบทบาทสำคัญนี้จะหนัก ต้องใช้นักแสดงที่เล่นได้อย่างมีพลัง ซึ่งรัดเกล้าเป็นนักแสดงคุณภาพที่พิสูจน์ฝีมือแล้วจาก ‘อุโมงค์ผาเมือง’ นะครับ ซึ่งถ่ายทอดบทผู้หญิงแก่ที่หลงอำนาจและก็ตัดสินใจบางอย่างผิดๆ ไปและก่อให้เกิดความหายนะต่อคนรอบข้างได้อย่างน่าสะพรึงกลัวทีเดียว”

เรื่องของจันดาราและคนรอบข้าง

“จันดารา…นั่นแหละชื่อผม ขอแนะนำตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเรื่องพิกลนี้ และเราคงจะได้มักคุ้นกันต่อไปอีกพักใหญ่ ถ้าผมไม่มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน...คือไม่เป็นบ้าก็ตาย...ชีวิตผมมันมากด้วยมุมหักเหตั้งแต่เกิด พูดก็พูดเถอะ ผมเกิดเมื่อแม่ผมตาย ฟังดูบ้าดีไหมล่ะ” จันดารา (มาริโอ้ เมาเร่อ) - ชายผู้ละเอียดอ่อน ละเมียดละไม และลึกซึ้งเกินกว่ามนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจได้จนบางคราดูเหมือนจะอ่อนไหวและเปราะบางเมื่อเทียบกับโลกแห่งวัตถุอันหยาบกระด้าง แม้ว่าชะตากรรมที่เขาจำต้องเผชิญจะโหดร้ายทารุณเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานปวดร้าวใจสักปานใดก็ตาม เขาสามารถแปรเปลี่ยนให้มันกลายเป็น “ความงาม” อันบริสุทธิ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทุกภาพชีวิตที่เขาเห็น ทุกสรรพเสียงสำเนียงที่เขาได้ยิน ทุกสรรพสัมผัสด้วยเรือนกาย หรือเรือนใจล้วนถูกกลั่นกรองและปรุงแต่งออกมาจากสุนทรีย์แห่งจินตภาพที่เลือกสรรมาแล้วอย่างสมบูรณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นทุกการกระทำของเขาจึงแฝงไว้ด้วย “ความหมาย” อันยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผลของมันจะปรากฏออกมาในรูปของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม “ครั้งแรกที่โอ้ได้รู้ว่าหม่อมทำเรื่องนี้ โอ้ก็เชื่อมั่นและรู้ว่าหม่อมมีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องการจะนำเสนออยู่แล้ว มันเป็นบทที่ท้าทายฝีมือการแสดงของเรา คือไม่ต้องคิดเยอะเลยครับ หม่อมเสนอมาโอ้ก็รับเล่นเลย จากเรื่องที่แล้วเนี่ยมันคนละด้านกันเลย เรื่อง ‘จันดารา’ นี้จะเป็นมนุษย์จริงๆ มีทั้งด้านดีและร้าย มีหลากหลายอารมณ์ที่ต้องแสดงและเป็นตัวดำเนินเรื่องไปตลอด ต้องเล่นตั้งแต่หนุ่มยันแก่เลย ตัวละครของโอ้จะต้องเจออะไรที่แตกต่างไปตามช่วงอายุ มุมมองความคิด และเหตุผลของการกระทำก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ก็ไม่เคยคิดว่าชีวิตเราอายุเท่านี้จะได้เล่นบทบาทที่มันท้าทายความสามารถขนาดนี้ และยากมากที่จะได้รับโอกาสดีๆ อย่างนี้ ทำให้โอ้ต้องหมั่นฝึกฝนและเข้าคลาสกับหม่อมอย่างหนักมาก นี่เป็นบทที่ดีมากจริงๆ ครับ ก็อย่างที่ทุกคนก็รู้จักจันดารา มันต้องมีเรื่องของอีโรติก ต้องมีเรื่องของเลิฟซีน แต่ว่าโอ้อ่านบทเรื่องนี้หลายรอบและก็ได้เล่นเอง โอ้รู้สึกว่าทุกซีนมันมีเหตุผลของมัน ถ้าไม่มีเลิฟซีนอันนั้นเรื่องก็จะไม่ต่อ จะไม่ทำให้ตัวละครต้องเจอเรื่องราวต่อๆ มา จริงๆ มันก็เหมือนกับชีวิตคนทุกคนที่ต้องมี แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นแค่เลิฟซีนหรือให้คนมาเมคเลิฟกันเฉยๆ ผมว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น อาจเป็นความใคร่ตัณหาราคะ เป็นความรักระหว่างแม่กับลูก รักระหว่างสามีภรรยา รักในเชิงชู้สาว ซึ่งมันทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปแล้วผมรู้สึกว่าแต่ละซีนมันขาดไม่ได้ มันทำให้สนุกและมีรสชาติที่พอพูดถึงจันดาราแล้วต้องนึกถึงครับ” “นี่คุณจัน รู้มั้ย พอเนื้อสาวโดนปากโดนลิ้นโดนจมูกเราเข้านะ โดยเฉพาะที่ยอดปทุมถัน… คุณจันจะได้ยินเสียงครางเบาๆ ผสมกับเสียงลมหายใจหนักๆ ถี่ๆ มันครางเป็นชื่อเราด้วยนะ เพราะชิบหายเลย...นี่จะบอกให้เอาบุญนะคุณจัน ลงได้ลองขึ้นครูแค่ครั้งเดียว คุณจันจะลืมนางทั้งห้าไปเลย...เชื่อไอ้เคนเถอะ” เคน กระทิงทอง (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) - ชายผู้ดูเหมือนหยาบกระด้างแต่ไม่หยาบคาย และแข็งแกร่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชายชาตรีผู้มาดมั่นในเพศผู้ กล้าและท้าทายชีวิตแต่ไม่บ้าบิ่น คือคุณลักษณะภายนอกของเขา แต่ลึกลงไปในจิตใจของเขานั้น “เคน กระทิงทอง” เป็นคนซื่อ ตรงไปตรงมา และจริงใจอย่างหาใครมาเปรียบมิได้ ฉะนั้นคนประเภทนี้จึงเคารพความถูกต้อง และพร้อมเสมอที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมสมกับคำว่า “สุภาพบุรุษ” โดยแท้ “ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าได้เล่นก็ตื่นเต้นก่อนเลย หม่อมจะให้เราเล่นจริงเหรอ เพราะเป็นบทนำเต็มตัวเรื่องแรก ในหนังจะเดินเรื่องคู่กะโอ้ตลอดเรื่องตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้ายเลย บทมันเยอะมาก ความรู้สึกต่อมาคือ เราจะทำได้มั้ย เพราะเรื่องที่แล้วใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เล่นแค่ 3-4 ฉากแค่นั้นเราก็ตื่นเต้นกลัวทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่นี่มาทั้งเรื่องเลย ก็เครียดกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่เมื่อได้ซ้อมการแสดงกับหม่อมก่อนการถ่ายทำจริงประมาณ 5-6 เดือน ก็ทำให้บทที่ยากมันง่ายขึ้น พูดได้เลยว่าแทบไม่มีปัญหาการแสดงในช่วงถ่ายทำเลยครับ เพราะปัญหาในการแสดงการจำบทมันเป็นปัญหาในตอนซ้อมและก็ได้คลี่คลายไปหมดแล้ว แต่ถ้าถามว่ายากมั้ย ยากมาก ยากที่สุดในชีวิตที่เคยแสดงมาเพราะต้องเล่นตั้งแต่หนุ่มยันแก่ดำเนินเรื่องผ่าน 4 ยุคสมัย (ร.6-ร.9) อย่างน่าสนใจมากๆ ครับ ทีมงานนักแสดงทุกคนก็ตั้งใจกันเกินร้อยมาก จันดาราเวอร์ชั่นของหม่อมน้อยนี้ ผมว่าเป็นหนังที่ให้แง่คิดในหลายๆ แง่มุมเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ให้เป็นกระจกส่องว่า มนุษย์อย่างเราเนี่ยทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างในหนังหรือเปล่า ถ้าทำก็ควรจะหยุดและก็เลิกทำ การแก้แค้นหรือการจองเวรจองกรรม การเอารัดเอาเปรียบกัน การเห็นแก่ตัวเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อเราไปจองเวรจองกรรมกับคนอื่น มันก็ทำให้ทั้งตัวเราและตัวเขานั้นไม่มีความสุขหรอก จองเวรกันไปมามันก็ไม่จบไม่สิ้น เราควรที่จะเริ่มต้นชีวิตและก็ปล่อยวางในบางสิ่งที่ไม่จำเป็นไป และก็อยู่กับปัจจุบันให้มีความสุขและอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก รวมถึงอยู่กับคนที่เรารัก คนที่เขารักและแคร์เรา ผมว่าแค่นี้ชีวิตเราก็มีความสุขได้แล้ว บางทีคนที่คิดว่าเงินสำคัญที่สุดหรืออำนาจสำคัญที่สุด สุดท้ายแล้วเนี่ยเขาก็ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยวและก็รอวันตาย...” “กู...หลวงวิสนันท์เดชา ขอประกาศต่อฟ้าดินว่ากูจะขอจองเวรจองกรรมกับไอ้เด็กจัญไรนั่นทุกชาติไป...จำเอาไว้ กูจะไม่มีวันยกโทษให้มึง...ไอ้จัญไร” หลวงวิสนันท์เดชา (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) - บุรุษผู้ยึดมั่นในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิอันสูงส่ง จารีตประเพณี อันเป็นคุณสมบัติของบุรุษสยามจึงปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในทุกลมหายใจของเขา ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลงในอำนาจวาสนาและกามคุณอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นการถูกหมิ่นเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีจึงเป็นสิ่งที่เขายอมไม่ได้ง่ายๆ และพร้อมเสมอที่จะต่อสู้เพื่อกอบกู้ให้ได้มา ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ตาม และเป็นที่น่าเสียดายที่เขาเลือกวิถีทางอันรุนแรงและป่าเถื่อนที่ส่งผลให้เขาต้องเผชิญกับความหายนะอันยิ่งใหญ่ “เรื่องนี้ยากมากกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพราะว่าตัวละครคุณหลวงตัวนี้จะอารมณ์รุนแรงตลอด พอเห็นหน้าจันปุ๊บก็จะปรี๊ดปั๊บ ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาเช่น ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ อันนั้นเล่นเก็บอารมณ์เก็บความรู้สึกคือรับรู้เหตุการณ์ทั้งหมด รู้สึกก็แสดงออกแค่ทางสีหน้าแววตา แต่เรื่องนี้อารมณ์จะพุ่งแรงตลอด เราต้องใช้พลังในการแสดงเยอะมาก จะเหนื่อยจนท้องตัวเองเนี่ยปวดไปหมดเลย คือมันผสมผสานทั้งสภาพอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมตอนถ่ายทำด้วย ก็ทำให้ใช้พลังไปเยอะมาก ก็ทำให้เราบาดเจ็บได้ เหนื่อยมากครับเรื่องนี้ ฟังแค่ชื่อเรื่องมันอาจจะสื่อไปทางด้านเซ็กส์อย่างที่เคยรู้จักกันมา แต่จริงๆ แล้วเนี่ยมันเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระมาก การทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มัน เป็นเรื่องของกรรม (การกระทำ) เป็นกงเกวียนกำเกวียนมากกว่าครับ ผมว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าดูอีกเรื่องหนึ่งที่หม่อมตั้งใจทำและนักแสดงทุกคนก็ตั้งใจแสดงมาก ผมว่ามันคุ้มค่าในการชมที่จะได้ทั้งสาระและความบันเทิงแน่นอนครับ” “คุณหลวงต้องสัญญากับฉันก่อน ไม่ว่าคุณหลวงจะโกรธจะเกลียดจันมันเพียงไร คุณหลวงต้องไม่ทำร้ายมันจนถึงแก่ชีวิต ถ้าคุณหลวงรับคำฉัน ฉันจะมอบชีวิตฉันทั้งชีวิตไว้แทบเท้าคุณหลวง” น้าวาด (บงกช คงมาลัย) - สตรีผู้ยึดมั่นในความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ เธอถูกหล่อหลอมในกรอบจารีตประเพณีอันละเอียดประณีตบรรจงแห่งกุลสตรีสยามอย่างสมบูรณ์แบบ แม่วาดงามทั้งกาย วาจา และใจ สมกับคำว่า “ผู้ดี” ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ในส่วนลึกของเธอนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณแห่งความเป็นสตรีเพศ เธอมีความปรารถนาอันซ่อนเร้นและบูชา “รักแท้” เยี่ยงมนุษย์ปุถุชน แต่ด้วยความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทำให้ชีวิตของเธอต้องพบกับความทรมานอย่างแสนสาหัสที่ไม่สามารถที่จะแสดงออกและปริปากได้แม้แต่คำเดียว “จริงๆ ตั๊กก็ดูผลงานของหม่อมน้อยมาหลายเรื่อง และก็อยากร่วมงานกับหม่อมมากๆ ทุกตัวละครในหนังของหม่อมจะมีเรื่องราว เป็นหนังไทยพีเรียดย้อนยุคที่น่าสนใจ ดูสนุก ไม่น่าเบื่อ ตอนแรกที่หม่อมติดต่อให้เข้าไปคุยก็แซวตั๊กก่อนเลยว่า เราเคยเห็นในข่าวเธอดูแรงๆ นะ (หัวเราะ) เรื่องนี้ก็อยากให้ตั๊กเปลี่ยนลุคไปจากเรื่องที่ผ่านๆ มา จะให้เล่นบท ‘น้าวาด’ ซึ่งจะเป็นหญิงไทยที่เรียบร้อยมาก จะไม่ค่อยมีอิสระเท่าไรนัก จะเป็นผู้หญิงที่ยอม ไม่มีปากเสียง ทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ไว้ แต่เป็นวิธีที่นิ่มนวลไม่รุนแรง คาแร็คเตอร์นี้จะไม่แต่งตัวเลย แล้วพอไปอยู่กับคุณบุญเลื่องเราก็จะกลายเป็นแม่บ้านไปเลย บทนี้ก็ยากเลยค่ะ มันต้องเก็บอารมณ์ทุกอย่าง มันนิ่งก็จริง แต่สายตาจะแสดงออก หม่อมจะไม่ได้ให้เล่นท่าทางมาก แต่จะให้ออกทางหน้าทางสายตา แล้วก็เป็นผู้หญิงอารมณ์อ่อนไหว ชอบร้องไห้ ดีใจก็ร้อง เสียใจก็ร้อง จริงๆ ตั๊กจะเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน ร้องเฉพาะเรื่องที่เรารู้สึกไม่ดีจริงๆ แต่พอมาเรื่องนี้เราต้องร้องไห้ตลอด แล้วก็ไม่ได้ร้องนิดเดียวนะ ร้องทั้งวันเลย เพราะมันถ่ายต่อเนื่อง บางครั้งก็ต้องรอหน่อย เราก็กดดันเหมือนกัน หม่อมก็จะพูดเล่น ‘อ่ะ ทุกคนเงียบ รอตั๊กร้องไห้ ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้วรอตั๊กร้องไห้อย่างเดียว’ (หัวเราะ) ก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกันนี้ ตั๊กก็รู้ว่าหม่อมตั้งใจทำงาน ก็ต้องมีดุกันบ้าง แต่ไม่ได้กลัวนะคะ ก็ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งก็ทำให้การทำงานมันเป็นไปด้วยดี หม่อมจะบอกว่า การที่เราจะทำอะไรให้สัมฤทธิ์ผลได้ เราเองต้องมีวินัย ถ้าเราไม่มีวินัย เราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จได้มันก็ยาก” “ถ้าคุณวาดเคยรักใครสักคน รักอย่างดื่มด่ำเป็นครั้งแรกในชีวิตสาว แต่ไม่มีโอกาสได้ร่วมชีวิตกับเค้าเลย คุณวาดจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ดิชั้นมาอยู่ที่นี่” คุณบุญเลื่อง (รฐา โพธิ์งาม) - สตรีม่ายผู้เลอโฉมผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยวิญญาณแห่งเสรีภาพ หล่อนถูกหล่อหลอมในดินแดนแห่งมนุษยชนและศิลปะชั้นสูง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นทุกหยาดหยดแห่งลมหายใจและสายเลือดจึงไร้ซึ่งกฎเกณฑ์และกรอบประเพณีแห่งสยามประเทศ หล่อนรักทุกชีวิตรอบข้าง โลกของหล่อนจึงสดใสงดงามเต็มไปด้วยความสุนทรียภาพอันไร้ขอบเขตและถูกถ่ายทอดออกมาอย่างประณีตบรรจง ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน การดนตรี หรือการขับร้อง แม้กระทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์และทุกอากัปกิริยาในทุกวิถีแห่งอารมณ์ และนั่นเองที่ทำให้หล่อนต้องตกอยู่ในกับดักแห่งกิเลสและตัณหา “ตอนแรกที่หญิงรู้ว่าได้รับบทนี้ก็รู้สึกดีใจมากที่หม่อมน้อยเชื่อมั่นว่าเราแสดงได้ แต่ก็ตื่นเต้นและกังวลด้วยเพราะเป็นหนังไทยเรื่องแรกในชีวิตก็ได้รับบทใหญ่นี้เลย หญิงฝันมาตลอดว่าอยากเล่นพีเรียด พอรู้ว่าได้เล่นก็ดีใจมาก บอกตัวเองว่าจะพยายามทำให้ดี จะไม่ปิดกั้นตัวละคร และจะทำให้เต็มที่ในทุกๆ ฉาก สำหรับบทอีโรติกกับโอ้ หญิงจะมองให้เป็นตัวละครค่ะ เวลาเล่นก็จะคิดถึงเหตุและผลของตัวละครตลอด และคุณบุญเลื่องเองก็จะมองเรื่องบนเตียงเป็นเรื่องที่รองจากความรักอยู่แล้ว เค้ามองว่าเป็นแค่ความต้องการที่มนุษย์ทุกคนต้องมี รวมๆ แล้วการแสดงในเรื่องนี้ก็จะยากทั้งหมดเลยค่ะ ต่างกันที่ยากมากยากน้อยค่ะ ตัวละครมีความกลมมีมิติของตัวละครมากขึ้น คือเราไม่ได้ถูกนำเสนอไปในทางที่ว่า คุณบุญเลื่องมาแล้วเป็นเรื่องของความเซ็กซี่เพียงอย่างเดียว หรือว่าจันที่จะดีในช่วงแรก และเหตุผลที่เขาจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางชีวิต ตัวละครทุกตัวแม้กระทั่งคุณหลวงเอง มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ว่าด้วยเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งที่มันหล่อหลอมเรามาตั้งแต่เด็กจนโตต่างหากที่มันทำให้เราตัดสินใจในแต่ละช่วงชีวิตให้เป็นยังไง ดังนั้นเนี่ยทุกคนจะให้มากกว่าที่คนดูจะคิดว่าโอ้โหจันดาราจะโป๊แค่ไหน หญิงบอกได้เลยว่า โอเคมันต้องมีเรื่องอีโรติกอย่างที่บอกกัน แต่ว่าในความสวยงามของฉากเหล่านี้นั้น มันได้เล่าถึงความต้องการของมนุษย์ในแต่ละมุมของแต่ละตัวละคร ดังนั้นเวลาเข้าไปดูเนี่ยอยากให้ดูแล้วคิดตาม และสุดท้ายคุณจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้เยอะมากๆ ค่ะ” “แก้วจะฟังทุกเรื่องที่คุณแม่สอน ยกเว้นเรื่องไอ้จัน คุณแม่ก็ดีแต่เข้าข้างมัน ไอ้จันมันทำอะไรก็เห็นดีเห็นงามไปหมด เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะคุณแม่รักมัน คุณแม่รักไอ้จันมากกว่าลูกในไส้ของตัวเอง” คุณแก้ว (โช นิชิโนะ) - วิไลเลข วิสนันท์ หรือ คุณแก้ว เป็นสตรีที่ตกอยู่ในชะตากรรมอันโหดร้ายโดยไม่รู้ตัว การเกิดมาเป็นธิดาสาวคนเดียวในตระกูลและเป็นที่รักยิ่งของบิดาผู้มีทั้งอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง ทำให้เธอยึดมั่นใน “อัตตา” แห่งตนและถอดนิสัยมาจาก “หลวงวิสนันท์เดชา” ผู้บิดาราวกับพิมพ์เดียวกันไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องกามราคะ จะได้นิสัย “แม่วาด” ผู้เป็นมารดาบ้างก็ในเรื่องความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว มองดูเผินๆ เธอเป็นสตรีที่ถือตัวเย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคนและให้ร้ายคนอื่นเต็มไปด้วยความริษยาแม้แต่เงาของตัวเอง หากเธอได้รักชอบใครก็จะลุ่มหลงทุ่มเทโดยไม่คำนึงถึงถึงเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น “ตอนแรกที่รู้ว่าจะได้เล่นหนังไทยเรื่องแรกอย่าง ‘จันดารา’ ก็รู้สึกงงๆ ว่าติดต่อมาได้ยังไง ดิฉันจะทำได้เหรอ เพราะเป็นคนญี่ปุ่น พูดภาษาไทยก็ไม่ได้ แล้วจะพูดบทได้ยังไง แต่ว่าพอพูดคุยกันและได้เห็นบทแล้วเนี่ย รู้สึกว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับตัวเอง เพราะว่าบท ‘แก้ว’ เป็นบทที่ใหญ่และสำคัญมากต่อเรื่อง แต่ก็รู้สึกกดดันและตื่นเต้นว่าจะทำได้หรือเปล่า ที่ยากที่สุดก็คือบทพูดภาษาไทยนี่แหละค่ะ เพราะไม่เคยทำเลยในชีวิต พอมีเวลาว่างก็จะหัดซ้อมฝึกพูดตลอดเวลาเลยค่ะจากแผ่นซีดีบ้าง จากล่ามบ้าง และจากนักแสดงคนอื่นๆ ด้วย ก่อนถ่ายทำก็กลัวมากๆ ค่ะ แต่พอถ่ายเสร็จแล้ว ทุกคนแฮปปี้ ปรบมือกันก็รู้สึกดีใจมากเลยค่ะ เรื่องซีนอีโรติกเนี่ย ดิฉันคิดว่ามันเป็นความแตกต่างทางประเพณีและวัฒธรรมของไทยและญี่ปุ่นนะคะ เพราะที่ญี่ปุ่นเวลาถ่ายซีนอีโรติกจะเป็นเรื่องธรรมดามากค่ะ แต่ว่าที่เมืองไทยอาจจะไม่ค่อยมีเท่ากับญี่ปุ่น ก็รู้สึกแปลกใจว่าคนที่เล่นด้วยบางซีนจะค่อนข้างเขินอาย แต่ตัวดิฉันถือเป็นเรื่องปกติมาก แต่ว่าก็แฮปปี้มากที่ทุกคนเกรงใจและก็ดูแลดิฉันดีมากในซีนเหล่านี้ค่ะ ได้เล่นหนังไทยเรื่องแรกก็รู้สึกประทับใจมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงของทุกคนที่รับส่งอารมณ์กันได้ดี ภาพสวยมากๆ รวมถึงเนื้อหาที่สามารถดูได้ว่ามนุษย์เรามันจะมีหลายอารมณ์ทั้งเศร้า แฮปปี้ พอใจ มั่นใจ เห็นแก่ตัว บางทีแฮปปี้แป๊ปเดียวปุ๊บชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนไปเหมือนลงนรกเลย เป็นสัจธรรมของชีวิต ใครทำอะไรไว้ก็ได้อย่างนั้น เป็นธรรมชาติในชีวิตคนเราค่ะ ผู้ชมสามารถดูได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้” “จัน ฉันเองก็เข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องยากที่ใครก็ตามในโลกนี้จะทำใจได้ง่ายๆ ถ้าได้พบกับชะตากรรมในชีวิตเยี่ยงเธอ ซึ่งอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับความเข้มแข็ง และความอดทนที่จะพาเราฝ่ามรสุมชีวิตในครั้งนี้ไปได้อย่างรอดปลอดภัย” ไฮซินธ์ (สาวิกา ไชยเดช) - สาวน้อยวัย 16 จากหัวเมืองทางภาคใต้ผู้เป็นนางในดวงใจของจัน ดาราตั้งแต่แรกพบประสบหน้า เธอมีร่างสูงระหง ดวงหน้างามคมขำราวกับเทพธิดาและมีอะไรในดวงหน้านั้นคล้ายมารดาของเขาเป็นอย่างยิ่ง นัยน์ตาโศกแต่รอยยิ้มอันสดใสของเธอก็ทำให้โลกทั้งใบพลอยมีความสุขไปกับเธอด้วย ไฮซินธ์และจันเรียนภาษาอังกฤษภาคค่ำที่โรงเรียนครูสาลี่ และสานสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ ก่อนเหตุการณ์ร้ายจะทำให้ทั้งคู่พรากจากกันโดยไม่ทันตั้งตัว “เรื่องนี้กี้ได้แสดงสองบทเลยค่ะ บทแรกก็จะเป็น ‘ดารา’ เป็นผู้หญิงที่สวยสง่า มีฐานะดี เข้าใจความรู้สึกของทุกคน เป็นคนมีจิตใจดีเหมือนกับจัน ดารา เพราะว่าเค้าเป็นแม่ลูกกัน จิตใจของเค้าที่ไม่คิดอะไรกับคนอื่นมันส่งไปถึงตัวจัน ส่วนอีกบทคือ ‘ไฮซินธ์’ เป็นนักเรียนอิสลาม จะเป็นความรู้สึกของเด็กใสๆ ที่จะเป็นรักแรกของจันค่ะ ทั้งสองตัวละครนี้ก็จะมีคาแร็คเตอร์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและเป็นผู้หญิงที่เป็นปมในใจของจันอยู่ตลอดมาค่ะ สำหรับเรื่องนี้เป็นหนังที่มีอารมณ์หลากหลายของมนุษย์มากทั้งความรัก ความใคร่ ความแค้น ถ้าลองมาดูเรื่องนี้มันจะมีอะไรมากมายให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์มันไม่มีความแน่นอนเลยค่ะ กี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีมากครั้งหนึ่งในชีวิตการแสดงค่ะ รู้สึกดีใจมาก ก็คิดว่าครั้งหนึ่งเราอยากร่วมงานกับหม่อมน้อย แล้ววันนี้ฝันก็เป็นจริง พอเราได้มาเล่นจริงๆ เราก็ได้อะไรมากมายจากหม่อม นอกเหนือไปจากการแสดงแล้วหม่อมยังมีแง่มุมการใช้ชีวิตให้เราได้เรียนรู้อีกด้วย กี้รู้สึกปลาบปลื้มและโชคดีที่ได้เล่นเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ”

“จันดารา” ในเชิงจิตวิเคราะห์

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (SIGMUND FREUD) ปรมาจารย์แห่งจิตรวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวว่า ในทุกๆ “การกระทำ” ของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มี “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) แฝงไว้ใน “จิตใต้สำนึก” เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมี “ปมทางจิต” ที่เรียกว่า “ปมอิดิพุส” (OEDIPUS COMPLEX) ซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจอันบอบบาง ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของบิดามักจะรักลูกสาว มารดามักจะรักลูกชาย และในทางกลับกัน ลูกสาวมักจะรักบิดา และลูกชายมักจะรักมารดา เป็นต้น อันเป็นรากฐานของ “ความรัก” ในระดับต่อๆ มาในวัยของมนุษย์ เช่น ชายหนุ่มมักจะนิยมชมชอบผู้หญิงที่มีความเหมือนมารดา และหญิงสาวมักจะนิยมชมชอบชายที่มีนิสัยคล้ายกับบิดา ซึ่งพื้นฐานของแนวคิดทางจิตวิเคราะห์เหล่านี้ล้วนปรากฏเด่นชัดใน “ตัวละคร” ซึ่งขาดความอบอุ่นทั้งจากบิดาและมารดา เขาจึงแสวงหา “ความรัก” และ “ความอบอุ่น” ดังกล่าวจนชั่วชีวิต แต่ก็ล้มเหลวที่จะได้พบเจอ ส่วน “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) นั้นก็มิได้หมายถึงพฤติกรรมในเชิงสังวาสเพียงอย่างเดียว หากครอบคลุมและผสมผสานไปกับ “ความรักอันบริสุทธิ์” (PURE LOVE) อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็น “แรงผลักดัน” ที่มีพลังอันมหาศาลเป็นตัวที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม อาทิเช่น เมื่อมนุษย์มีความรักอันแรงกล้าก็จะทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งคนที่เรารักยิ่ง ไม่ว่าจะออกมารูปของการขยันทำมาหากินเพื่อให้คนที่เรารักได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย หรือลักขโมยและฉ้อโกงทรัพย์เพื่อให้คนที่รักมีความสุขได้อีกเช่นกัน และยิ่งเพื่อความมั่นคงของครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว พลังอันมหาศาลแห่ง “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) จะก่อให้เกิดผลกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม” อันบันดาลได้ทั้ง “ความเจริญรุ่งเรือง” และ “ความหายนะ” อันใหญ่หลวงในครอบครัวซึ่งแผ่ไปถึงสังคมรอบข้าง ภาพยนตร์มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่เรื่อง “จันดารา” นี้จึงเป็นภาพสะท้อนของผลกรรมของมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาที่ถูกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสวงหา “อำนาจ” ทั้งใน “สมบัติ” และ “กามคุณ” หล่อหลอมจนจิตใจเต็มไปด้วย “กิเลส” และ “ตัณหาราคะ” อันก่อให้เกิด “เปลวไฟแห่งความแค้น” ที่เผาผลาญชีวิตรอบข้างและตนเองให้มอดไหม้จนกลายเป็นธุลี

เกร็ดภาพยนตร์

    1.  ภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา” (2555) ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิก “เรื่องของจัน ดารา” ของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” (2507-2509)
    2. ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดย “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” (2509) และหลังจากนั้นตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 โดย “สำนักพิมพ์มติชน” (เม.ย. 2555)
    3. สู่การเขียนบทและตีความใหม่สุดเข้มข้นโดยผู้กำกับฯ ฝีมือละเมียด “หม่อมน้อย - ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 11 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538), อันดากับฟ้าใส (2540), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อุโมงค์ผาเมือง (2554)
    4. “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยใน พ.ศ. นี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 ถัดจาก 2 ครั้งแรก คือ
      • ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2520) สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์/ อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี/ กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี/ เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา/ กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี/ นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน) เข้าฉายเมื่อ 11 มี.ค. 2520 ที่โรงเพชรรามา และโรงเพชรเอ็มไพร์
      • ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2544) สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์/ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร/ เขียนบทโดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด, นนทรีย์ นิมิบุตร/ นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), สุวินิต ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข (จัน), วิภาวี เจริญปุระ (น้าวาด), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว), เคน (ครรชิต ถ้ำทอง) เข้าฉายเมื่อ 28 ก.ย. 2544
    5. “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยจะถูกสร้างเป็นสองภาค คือ “จันดารา ปฐมบท” (พร้อมฉาย 6 ก.ย.) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (กำลังถ่ายทำ) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม
    6. พลิกบทบาทประชันฝีมือด้วยทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (เคน กระทิงทอง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), บงกช คงมาลัย (น้าวาด), รฐา โพธิ์งาม (คุณบุญเลื่อง), โช นิชิโนะ (คุณแก้ว), สาวิกา ไชยเดช (ดารา/ ไฮซินธ์), รัดเกล้า อามระดิษ (คุณท้าวพิจิตรรักษา), ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขจร) ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและรับเชิญอีกมากมายที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับภาพยนตร์โดยเฉพาะ
    7. “จันดารา” เซ็ตฉากถ่ายทำอย่างงดงามในทุกๆ โลเกชั่นไม่ว่าจะเป็น บ้านสังคหวังตาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี/ หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี/ โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.กาญจนบุรี/ ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร
    8. รวมพลคนเบื้องหลังมืออาชีพทุกๆ ด้านที่จะมาสร้างสรรค์ให้ “จันดารา” เวอร์ชั่นนี้ตระการตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างสุดวิจิตรในทุกฉากโดย “พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” (อุโมงค์ผาเมือง), การกำกับภาพสุดงดงามในทุกเฟรมภาพของ “พนม พรมชาติ” (ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ), งานออกแบบเครื่องแต่งกายสุดประณีตของ “อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์” (ซีอุย, ต้มยำกุ้ง, Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ), การเมคอัพสุดบรรจงในทุกคาแร็คเตอร์โดย “มนตรี วัดละเอียด” (สุริโยไท, โหมโรง, ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ) และดนตรีประกอบสุดตรึงใจโดย “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จัน ดารา-2544, โอเคเบตง, โหมโรง, เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก, ก้านกล้วย, ปืนใหญ่จอมสลัด, อุโมงค์ผาเมือง, คน-โลก-จิต ฯลฯ)
    9. “เพลงเมื่อไหร่จะให้พบ” ประพันธ์คำร้องโดย “แก้ว อัจริยะกุล”/ ทำนองโดย “หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์”/ ต้นฉบับขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้ จะขับร้องโดย “รฐา โพธิ์งาม” และ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” สองนักแสดงในเรื่องนี้อย่างแสนไพเราะ

คลังภาพยนตร์หม่อมน้อย

  • เพลิงพิศวาส (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย)
  • ช่างมันฉันไม่แคร์ (Dame it! Who care - 2529) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม/ ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival
  • ฉันผู้ชายนะยะ (Boy in the Band - 2530) – ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532
  • นางนวล (The Seagull - 2530) - ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ Taiwan และยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย
  • เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532)
  • ความรักไม่มีชื่อ (2533)
  • มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • อันดากับฟ้าใส (2540) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม(อนันดา เอเวอริงแฮม), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20/ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทภาพยนตร์, นักแสดงนำชาย, นักแสดงนำหญิง รางวัลคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 8/ ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำหญิง, ยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 19
  • อุโมงค์ผาเมือง (2554) – เทคนิคการสร้างภาพพิเศษ, ออกแบบเครื่องแต่งกาย รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21/ ผู้แสดงสมทบหญิง (รัดเกล้า อามระดิษ), กำกับศิลป์ รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 20