HIGHLIGHT CONTENT

กระทรวงวัฒนธรรม ชวนชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ กับเทศกาล "BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2017"

  • 15,536
  • 19 เม.ย. 2017

กระทรวงวัฒนธรรมจัดยิ่งใหญ่ “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560”
BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2017
คัดสรรภาพยนตร์คุณภาพ ชวนชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ!

          กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เดินหน้าสานต่อความสำเร็จต่อเนื่องจัด “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560 (BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2017)” ครั้งที่ 3 เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน คัดสรรภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมกว่า 20 เรื่องจาก 10 ประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียนมาให้ประชาชนเลือกชม โดยจัดฉายฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ ระหว่างวันที่  26 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2560 ณ โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

จองบัตรชมภาพยนตร์ฟรี ล่วงหน้าได้ที่
www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival
(ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2560 เป็นต้นไป)

------------------------------------------------------------------

           และเพื่อเป็นการสนับสนุนภาพยนตร์อาเซียนให้โดดเด่นบนเวทีนานาชาติ เป็นครั้งแรกที่เทศกาลได้มีการจัดสายประกวดภาพยนตร์อาเซียน (ASEAN FILM COMPETITION) โดยทางเทศกาลได้คัดหนังอาเซียนที่โดดเด่นมา 10 เรื่อง เพื่อร่วมประกวดและชิงรางวัล 2 รางวัล คือ1. รางวัล Best ASEAN Film โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 10,000 USD  2. Jury Prize โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 5,000 USD

           โดยคณะกรรมการตัดสิน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิทางภาพยนตร์จากนานาชาติ 3 ท่าน ได้แก่ ฮอง เฮียวซุค (Hong Hyosook) ผู้อำนวยการ Asian Cinema Fund (ACF), แม็กกี้ ลี (Maggie Lee) หัวหน้านักวิจารณ์ด้านภาพยนตร์เอเชียของนิตยสาร Variety และที่ปรึกษาโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว และ โคจิ ฟุคาดะ (Koji Fukada) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลJury Prize จากสาย Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2016

           ภาพยนตร์ในสายประกวด อาทิ “A YELLOW BIRD”  หนังสิงคโปร์เล่าเรื่องราวของ ศิวะ ชายชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียได้ถูกปล่อยตัวออกจากคุกหลังจากที่ติดคุกอยู่หลายปีจากข้อหาขนของผิดกฎหมาย แม่ของเขาไม่เคยอภัยให้กับความผิดของเขา เขาจึงเริ่มออกตามหาอดีตภรรยาและลูกสาว เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงเกี่ยวกับครอบครัวของเขาที่ทำให้เขารับไม่ได้ เขาจะหลุดพ้นจากความผิดบาปนี้ไปได้อย่างไร

           “BIRDSHOT”  ภาพยนตร์แนวดราม่าระทึกขวัญจากฟิลิปปินส์ ที่เล่าเรื่องราวของเด็กสาวชาวไร่ ที่ร่อนเร่อยู่ในเขตป่าสงวนของฟิลิปปินส์ ในป่า เธอพลั้งมือฆ่านกอินทรีฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสัตว์สงวน แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการกำลังไล่ล่าคนที่ฆ่านกอินทรี การสืบสวนของพวกเขากลับนำไปสู่ความจริงที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า

           “DEAREST SISTER” ภาพยนตร์ระทึกขวัญจากประเทศลาว เรื่องราวของ นก หญิงสาวจากบ้านนอกมาช่วยดูแล แอนนา ลูกพี่ลูกน้องที่ตาบอดของเธอที่อาศัยอยู่ในเมือง อาการตาบอดของแอนนานำมาซึ่งผลข้างเคียงที่น่าสะพรึง แอนนาสามารถเห็นคนที่ตายไปแล้วได้ แม้กระทั่งในเวลากลางวันแสกๆ ผีจะมากระซิบเลขสามตัวให้กับแอนนา ซึ่งคำทำนายจากผีบอกใบ้ถึงตัวเลข ที่จะถูกล็อตเตอรี่งวดหน้า นกได้ยินแอนนาเอ่ยตัวเลขเหล่านั้นซ้ำอีกครั้ง นกจึงฉวยโอกาสนี้ในการหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง โดยที่แอนนาไม่ได้รับรู้

           นอกเหนือจากนั้นในสายประกวด ยังมี “FATHER AND SON” จากประเทศเวียดนาม, “IN THE FLESH”ภาพยนตร์ไทย, “Interchange” จากประเทศมาเลเซีย, “Singing in Graveyards” จากประเทศฟิลิปินส์, “SOLO, SOLITUDE" จากประเทศอินโดนีเซีย และ “Turn Left Turn Right” จากประเทศกัมพูชา และ “POP AYE” จากประเทศสิงคโปร์

 

           เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ในความร่วมมือกันระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียน ภาพยนตร์ในสาย ASEAN FILM SHOWCASE เป็นโปรแกรมฉายภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนจากประเทศในประชาคมอาเซียน  จำนวน 9 เรื่อง โดยสถานทูตเป็นผู้ส่งเข้ามา อาทิ

           “ดาวคะนอง” ภาพยนตร์ไทย เล่าเรื่องของตัวละครหลายตัวที่มีชะตาชีวิตเกี่ยวข้องกันในทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและนักเขียนหญิงอาวุโสผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ สาวเสิร์ฟในร้านกาแฟผู้ซึ่งเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ และต้องโยกย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ นักแสดงหญิงและชายคู่หนึ่งผู้ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่ได้เป็นคู่รักกันนอกจอ ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ถูกเกี่ยวกระหวัดเข้าด้วยกันโดยสายใยบางๆ ที่แทบมองไม่เห็นเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้จะค่อยๆถูกลอกออกทีละชั้นๆ เพื่อเผยให้เห็นความซับซ้อนของสรรพสิ่งต่างๆที่ประกอบรวมกันขึ้นเป็นชีวิตมนุษย์

           “Ho Chi Minh in Siam” ภาพยนตร์จากเวียดนามเล่าเรื่องราวของ โฮจิมินห์ ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ ในช่วงปี 1927-1929 ที่เขาใช้ชีวิตในประเทศไทย และต้องเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคอีสานของไทย

           “Waris” หนังผีจากบรูไน เล่าเรื่องของพัค ซูปาร์โต คนเฝ้าคฤหาสน์ร้างที่ว่ากันว่ามีสิ่งลึกลับซ่อนอยู่ ได้หายตัวไปได้หนึ่งปีแล้ว พัค ซูปาร์โต หายไปไหน ใครจะเป็นคนต่อไปที่เข้ามาอยู่ในคฤหาสน์แห่งนี้ บ้านร้างที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ อาจมีวิญญาณร้ายเข้ามาสิงสู่ ฟาอุด ตัดสินใจที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ และเขาก็ได้พบกับสิ่งลึกลับนั้น

           นอกเหนือจากนั้นในสายนี้ ยังมี  “COINCIDENCE” จากประเทศเมียนมาร์,  “Temuan Takdir” จากประเทศมาเลเซีย, “ขวัญนาง” จากลาว, “Ah Boys to Men 3: Frogmen” จากประเทศสิงคโปร์, “Senjakala di Manado” จากประเทศอินโดนีเซีย และ Vikalcharet จาก กัมพูชา

           ไม่เพียงเท่านั้น ทางเทศกาลเห็นถึงความสำคัญของผลงานของบรมครูระดับตำนาน ในสาย“อาเซียน คลาสสิก (ASEAN Classic)” จึงมีหนังชั้นเยี่ยมถึง 3 เรื่องให้ชมกัน อาทิ “The Emerald Jungle” จากประเทศเมียนมาร์,“The Lion City” จากประเทศฟิลิปปินส์ และ “Three Maidens” จากประเทศอินโดนีเซีย

 

           พร้อมทั้งในปีนี้ ยังมีงานสัมมนาวิชาการด้านภาพยนตร์ในหัวข้อ “การพัฒนาภาพยนตร์อาเซียนในเวทีนานาชาติ” โดยบุคลากรผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ได้แก่ ฮอง เฮียวซุค (Hong Hyosook) ผู้อำนวยการ Asian Cinema Fund (ACF) จากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน , แม็กกี้ ลี (Maggie Lee) ที่ปรึกษาโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว และ คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์อาเซียน เพื่อสร้างแนวทางที่จะพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติกลุ่มอาเซียน ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในทวีปเอเชีย และระดับนานาชาติต่อไป

           โดยงานสัมมนา จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2560 เวลา 9.30 น. - 12.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่โทรศัพท์ 02-6439100 อีเมล admin@mpc.or.th

           ในส่วนของพิธีเปิดเทศกาลจะมีขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2560 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตามด้วยการฉายภาพยนตร์เปิด เรื่อง “POP AYE” หนังร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ ผลงานของผู้กำกับหญิง เคิร์สเต็น ตัน (Kirsten Tan) ที่เล่าเรื่องราวของสถาปนิกที่เหนื่อยล้ากับชีวิต ได้พบกับช้างที่เขาเคยเลี้ยงในวัยเด็กอีกครั้งบนถนนที่กรุงเทพฯ ด้วยความตื่นเต้น เขาตัดสินใจพาช้างของเขาเดินทางกลับไปยังไร่ที่พวกเขาเติบโตมาด้วยกันอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในเมืองไทยทั้งเรื่อง  นำแสดงโดย ธเนศ
วรากุลนุเคราะห์ และเพ็ญพักตร์ ศิริกุล

           “POP AYE” ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และหลังจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์แล้ว  ยังได้รับเชิญไปประกวดในเทศกาลอีกหลายแห่งจากทั่วโลก รวมทั้งเป็นหนึ่งในหนังสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560 อีกด้วย

           และพิธีปิดจะมีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ณ ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน  โดยจะมีการประกาศรางวัลและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะภาพยนตร์สายประกวด และการมอบรางวัล LIFETIME ACHIEVEMENT AWARD ให้แก่ สมบัติ เมทะนี ดารานักแสดงชาวไทยที่เป็นสัญญลักษณ์ของภาพยนตร์ไทยมาหลายทศวรรษ

 

           ปิดท้ายเทศกาลด้วยการชมภาพยนตร์กลางแปลง “น้ำตาลไม่หวาน” ภาพยนตร์ไทยคลาคสิคนำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของรัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับผู้มีรูปแบบการสร้างภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์  หนังเรื่องนี้เป็นงานที่รวบรวมองค์ประกอบของหนังตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รัก ตลก โป๊ และเพลงประกอบ แต่ในเวลาเดียวกันก็เสียดสีการเป็นหนังตลาดผ่านโครงเรื่องแบบพิมพ์นิยมของหนังไทยได้อย่างเจ็บแสบเช่นกัน

           สำหรับ “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560 (BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2017)” จะจัดฉายพร้อมบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ ชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ ระหว่างวันที่  26 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2560 ณ โรงภาพยนตร์ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน  โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ที่ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2560  เป็นต้นไป และรับบัตรชมภาพยนตร์ได้ที่จุดประชาสัมพันธ์เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2560 บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนรอบฉาย 30 นาที (1 ท่านต่อ 1 ที่นั่ง) ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉาย และ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-643-9100 และ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival