HIGHLIGHT CONTENT

สัมภาษณ์เด็ด! โอลิเวอร์ สโตน ผกก. เผยแนวคิดในการสร้าง Snowden หนังคุณค่าที่ทุกคนควรดู!

  • 14,329
  • 06 ต.ค. 2016

สัมภาษณ์เด็ด!  โอลิเวอร์ สโตน ผกก. เผยแนวคิด
การสร้าง Snowden หนังคุณค่าที่ทุกคนควรดู!

 

โดย Aye, Ms. You.

 

 

เจ้าของรางวัลออสการ์ 3 สมัยและเป็นอีกหนึ่งตำนานผู้กำกับชั้นยอดแห่งฮอลลีวู้ดอย่าง โอลิเวอร์ สโตน ได้เดินทางมาเยือนเมืองไทย พร้อมโปรโมตภาพยนตร์ผลงานล่าสุดของเขาอย่าง Snowden...อัจฉริยะจารกรรมเขย่ามหาอำนาจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับที่เล่าถึงบุคคลจริงที่เกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างไม่ประนีประนอม และถึงลูกถึงคนในทุกอารมณ์ งานนี้ ทางเมเจอร์ซินีเพล็กซ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์คุณโอลิเวอร์ สโตน พร้อมพูดคุยถึงเบื้องหลังการสร้างหนังสุดเข้มข้นเรื่องนี้ด้วย

Q: ทำไมถึงเลือกเรื่องของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน มาสร้างเป็นภาพยนตร์?

A: เพราะ สโนว์เดน เป็นคนที่นำข้อมูลที่สำคัญมากมาเปิดเผยต่อสาธารณะชน และข้อมูลที่ว่านั้นคนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจและรู้เท่าไร่นัก ซึ่งการทำหนังที่จะเล่าเรื่องชีวิตของเขา ความคิดของเขา และทำให้เห็นว่าเขาต้องผ่านอะไรมาขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นจะช่วยให้เราถ่ายทอดเรื่องราวนี้สู่คนอื่นๆ ได้มากทีเดียว และ สโนว์เดน เป็นคนแรกในฐานะ Whistle Blower ที่นำเรื่องราวภายใน NSA หรือสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐที่ไม่ค่อยมีใครล่วงรู้ มาเปิดเผยพร้อมหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้นั่นเอง

 

Q: มีส่วนหนึ่งในหนังที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เรียกตัวเองว่าเป็น “คนรักชาติ” (Patriot) คุณมีความเห็นยังไงเกี่ยวกับคำนั้น?

A: ต้องบอกก่อนว่าถ้าหากเป็นชาติที่เปิดเสรี จะไม่มีการถามว่า “คุณเป็นคนรักชาติรึเปล่า” เพราะศัพท์นั้นมักใช้ในรัฐที่มีการปกครองอย่างกดขี่ ใน Snowden นั้นจะมีหัวหน้าของสโนว์เดน (โอไบรอัน) ที่พูดเรื่องนี้ โดยให้มุมมองว่า “คุณไม่ต้องเป็นคนรักชาติก็ได้ ถ้าจะไม่เห็นด้วยกับนักการเมืองของชาติคุณ” แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่เชิดชูในการกระทำของอเมริกา ราวกับว่าอเมริกาเป็นผู้กอบกู้โลก และ สโนว์เดน ก็พบว่าเขาและอเมริกากำลังสอดแนมคนทั้งโลกโดยไม่ถูกต้องตามหลักเสรีประชาธิปไตย ทำให้เขารู้สึกถึงความย้อนแย้งในสิ่งที่สำนักงานและอเมริกากำลังทำอยู่ เขาจึงตัดสินใจมอบข้อมูลลับนี้ให้นักข่าว เพื่อให้พวกเขานำเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ผมหวังว่า Snowden จะช่วยสร้างพลังให้กับสารของสโนว์เดนอีกครั้ง และส่งต่อสารเหล่านี้ไปทั่วโลก และเขาเป็นคนที่รับผิดชอบกับเรื่องนี้ เขาย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า เขาทำไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

 

 

Q: คุณคิดว่า เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เป็นฮีโร่หรือเป็นคนทรยศชาติ?

A: ผมอยากให้คุณไปชม Snowden และเลือกตัดสินใจเอาเองว่าเขาเป็นแบบไหน สำหรับผม ผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน และไม่ปกปิด และคนทรยศชาติคือต้องขายข้อมูลชาติของตัวเอง

 

Q: ทำไมถึงเลือกโจเซฟ กอร์ดอน ลิวอิตมารับบทบาท เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในภาพยนตร์?

A: โจเซฟ กอร์ดอน ลิวอิต เป็นตัวเลือกแรกสำหรับบทบาทนี้ แม้ว่าผมจะไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่เขาดูเป็นคนเก่งทางด้านคอมพิวเตอร์ เขามีความคิดแบบเสรีประชาธิปไตย โจเซฟ ให้ความรู้สึกเหมือนสโนว์เดน เขาหน้าคล้ายสโนว์เดน เขาอาจจะไม่ใช่ดาราตัวเป้งของวงการ แต่ผมว่าต้องเป็นเขานั่นแหละ ผมต้องการคนที่มีทัศนคติคล้ายกัน เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณของผู้กำกับก็ว่าได้

 

Q: อะไรคือความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Citizen Four ที่เล่าเรื่องของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนเช่นเดียวกัน กับ Snowden หนังเรื่องนี้บ้าง?

A: ใน Citizen Four นั้นจะเล่าเหตุการณ์เพียง 5 วันคือในช่วงที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตัดสินใจจะเปิดเผยข้อมูลที่ได้จาก NSA ให้กับนักข่าวที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นแค่เสี้ยวเดียวที่เขาทำ แต่สำหรับ Snowden นั้นจะนำเสนอเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลกับชีวิตของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตลอด 9 ปี รวมถึงนำเสนอภาพเหตุการณ์ภายในของ NSA ในระหว่างที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ทำงานอยู่ และเล่ามุมความรักระหว่าง สโนว์เดน และแฟนสาว ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจให้สโนว์เดนเปิดเผยข้อมูลลับชุดนี้ด้วย

 

 

Q: การได้เจอ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตัวจริงที่มอสโควมีอิทธิพลยังไงกับการสร้างหนังเรื่องนี้บ้าง?

A: การที่เราได้ไปเจอเขาตัวจริง ทำให้เราได้รับรู้เหตุการณ์ในเวอร์ชั่นของเขาจริง ๆ พร้อมกับได้เรื่องราวจากหนังสือ 2 เล่มมาเสริมให้กับหนัง และบางสื่อที่เคยนำเสนอเรื่องราวของเขาก็มีข้อผิดพลาดปรากฏอยู่ด้วย โดยในหนังเรื่องนี้ ผมพยายามจะทำให้ Snowden เป็นหนังที่เล่าเรื่องออกมาโดยไม่ใส่ความเห็นส่วนตัวของผม เป็นความตั้งใจของผมที่อยากให้ผู้ชมเป็นคนตัดสินด้วยตัวเอง และไม่มีเรื่องราวส่วนไหนในหนังเรื่องนี้ที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ไม่เห็นด้วย เขาบอกว่านี่ถูกต้องได้มากเท่าที่หนังเรื่องหนึ่งจะทำได้แล้ว

 

Q: จริงแค่ไหนที่คนต้องการ “ความมั่นคง” มากกว่า “อิสรภาพ”?

A: ผมว่านั่นคือมุมมองแบบอเมริกันมากกว่า และนั่นคือสิ่งที่ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตอนนี้กำลังพูดถึง แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่รัฐบาลอเมริกาพยายามยกขึ้นมาสนับสนุนการกระทำของตัวเอง และพยายามสร้าง “ความกลัวการก่อการร้าย” ปลูกฝังให้กับประชาชน การก่อการร้ายกลายเป็นเรื่องยักษ์ใหญ่ของประเทศผ่านการตีพิมพ์ของสื่อต่างๆ และนั่นทำให้อเมริกายก “การก่อการร้าย” เป็นข้ออ้างในการติดตั้งการสอดแนมเพื่อเข้าควบคุมเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศทั่วโลกให้เอื้อประโยชน์ต่ออเมริกา และ สโนว์เดน ก็เห็นว่า “การก่อการร้าย” นั้น เป็นเพียง “ข้ออ้าง” ที่ทำให้การสอดแนมประชาชนของอเมริกาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมนั่นเอง

 

โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับผู้คร่ำหวอดแห่งวงการยังฝากให้เราคิดต่อถึงสิ่งที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ทำอีก 2 ประการนั่นก็คือ สาเหตุที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เลือกเปิดเผยข้อมูลชุดนี้ให้กับนักข่าว 3 คน โดยเขาให้นักข่าวเหล่านั้นเป็นคนตัดสินใจว่าจะนำเสนอมันในทางไหน โดยขอเพียงให้คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะชน และอีกประการหนึ่งก็คือ เขาเลือกที่จะต่อต้านการสอดแนมข้อมูลของสาธารณะชนจำนวนมาก แต่เขายินดีที่จะสอดแนมข้อมูลเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่มที่อาจเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายได้นั่นเอง

 

 

ฮีโร่ หรือ คนทรยศชาติ?
ขอให้ดูและตัดสินด้วยตาและหัวใจของตนเอง!

 

เปิดโปงเบื้องหลังของรัฐที่คนธรรมดาไม่มีวันรู้ไปกับ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ชายที่ยอมเสียสละตนเองเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการกระทำที่แหกกฏหมายของรัฐผู้ตั้งกฏเองใน Snowden…อัจฉริยะจารกรรมเขย่ามหาอำนาจ วันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

สโนว์เดน อัจฉริยะจารกรรมเขย่ามหาอำนาจ

  • 06 October 2016
  • Adventure / ชีวิต /
  • 134 นาที
15+